พ.ศ.2507 สงครามเวียดนามกระตุ้นเศรษฐกิจ

สงครามเวียดนามเป็นสงครามที่ยาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงจนถึงปี 2518

สงครามช่วงแรก (พ.ศ.2489-2497) เป็นช่วงสงครามต่อต้านประเทศฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมปกครองเวียดนามมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เวียดนามถูกยึดครองโดยกองทัพญี่ปุ่น เมื่อประเทศญี่ปุ่นแพ้สงคราม ขบวนการกู้ชาติของเวียดนามก็มีความเข้มแข็งมาก จึงเริ่มทำสงครามต่อต้านการยึดครองจากประเทศฝรั่งเศสต่อไป จนขับไล่ฝรั่งเศสที่ต้องถอนตัวจากประเทศเวียดนามเนื่องจากการรบแพ้เวียดนามที่สมรภูมิเดียนเบียนฟูในปี พ.ศ.2497

สงครามช่วงที่ 2 (พ.ศ.2497-2508) ภายหลังการเจรจาที่กรุงเจนีวา ประเทศเวียดนามได้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยเส้นขนานที่ 17 โดยเวียดนามเหนือปกครองโดยขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม แต่เวียดนามใต้มีการปกครองโดยรัฐบาลชาวเวียดนามที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา โดยมีกำหนดเวลา 2 ปีก่อนมาทำการเลือกตั้งเพื่อรวมทั้ง 2 ประเทศให้กลายเป็นประเทศเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อผ่านไปครบ 2 ปี ปรากฏว่ารัฐบาลเวียดนามใต้ปฏิเสธการเลือกตั้งเพื่อรวมทั้ง 2 ประเทศให้กลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้เวียดนามเหนือร่วมกับกองโจรคอมมิวนิสต์ของเวียดนามใต้ทำการสู้รบกับรัฐบาลเวียดนามใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

สงครามช่วงที่ 3 (พ.ศ.2508-18) เป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาส่งกองทัพเข้ามาแทรกแซงในเวียดนามโดยตรง ในปี พ.ศ.2511 เวียดนามเหนือทำการบุกใหญ่ในวันตรุษญวน แล้วเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สาธารณชนอเมริกันหันมาคัดค้านสงครามเวียดนาม และมีทหารสหรัฐฯ มากกว่า 5 แสนคนในเวียดนามใต้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มหันมาใช้นโยบายการเจรจามากขึ้น และเริ่มการถอนทหารจากเวีดนามใต้ แต่สหรัฐอเมริกากลับต้องเข้าไปยุ่งกับสงครามในประเทศลาว ในปี พ.ศ.2513 เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องเข้าไปรบในประเทศกัมพูชาซึ่งถือเป็นการเริ่มสงครามอินโดจีน ในขณะที่การเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสดำเนินไปเรื่อย ๆ และสหรัฐอเมริกาได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ทั่วอินโดจีน

การเจรจาสันติภาพระหว่าสหรัฐอเมริกากับเวียดนาม 2 ฝ่ายประสบความสำเร็จในปี พ.ศ.2516 ทหารสหรัฐฯ ถอนตัวไป ทิ้งให้ทหารเวียดนามใต้รบกับทหารเวียดนามเหนือเอง ในปี พ.ศ.2518 เวียดนามเหนือสามารถยึดเวียดนามใต้ได้ทั้งหมด แล้วตั้งประเทศใหม่ในปี พ.ศ.2519 ผลกระทบจากสงครามเวียดนามกับประเทศไทยในฐานะพันธมิตรที่แนบแน่นของสหรัฐอเมริกาคือเงินช่วยเหลือที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ความช่วยเหลือทางการทหารที่สหรัฐอเมริกาให้กับประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ.2494-2518 มีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

Reference

ธนู แก้วโอภาส. สงครามแห่งศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ลอจิก, ม.ป.ป.

ศุภนิติ พลางกูร, แปล. สู่ดุลยภาพ. แปลจาก Joseph J. Wright. The Balance Act. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดวงกมล. 2537.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ตรัสวิน. 2539