พ.ศ. 2546 มุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจหลัก

มุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจหลักทั้งในระดับประเทศและเพิ่มบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น

ตลอดปี 2546 เอสซีจีได้พัฒนาธุรกิจทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมรับการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดเสรี โดยมุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในประเทศ รวมทั้งมีเป้าหมายขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาค และยังเป็นปีที่เอสซีจีเน้นโปรแกรมตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้นในหลายธุรกิจ
 
ธุรกิจซิเมนต์

มีการนำระบบ Supply Chain Management ซึ่งเน้นการวิเคราะห์ วางแผนการผลิตและการกระจายสินค้าอย่างต่อเนื่องมาใช้งาน ส่งผลให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง และมีต้นทุนการผลิตและการกระจายสินค้าลดลง

ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์

มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี 2545 ความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญเป็นผลจากการเข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ใน United Pulp and Paper Co., Inc ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีการส่งคณะทำงานร่วมปรับปรุงระบบการตลาด ผลิตและจัดหาวัตถุดิบ นอกจากนั้น ปริมาณการขายยังเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการด้วย

ด้านบรรจุภัณฑ์ ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เป็นผลจากการขยายสู่อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งเพื่อส่งออกและอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเติบโตสูง รวมถึงผู้ผลิตสินค้าชั้นนำที่ย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทย นอกจากนั้น ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ยังได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทไทยเคนเปเปอร์ จำกัด(มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตกระดาษคราฟท์รายใหญ่ของประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์ทั้งในประเทศและภูมิภาค

สำหรับธุรกิจต่างประเทศนั้น ธุรกิจกระดาษพิมพ์เขียน ปริมาณการขายมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของปริมาณการขายรวม ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนามและมาเลเซีย ส่วนกระดาษอุตสาหกรรม ปริมาณการขายอยู่ที่ร้อยละ 25 ของปริมาณการขายรวม โดยสัดส่วนยอดขายในภูมิภาคอินโดจีนสูงขึ้นตามนโยบายพัฒนาเป็นตลาดส่งออกหลัก

ธุรกิจปิโตรเคมี

บริษัทไทย เพ็ท เรซิน ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับมิตซุย เคมิคัล เพื่อผลิตเม็ดพลาสติก PET กำลังผลิตปีละ 100,000 ตัน สามารถก่อสร้างโรงงานได้ตามกำหนดและเริ่มเปิดดำเนินการได้ตามแผนในปี 2547

โดยบริษัทซีซีซี ค้าเคมีภัณฑ์ พัฒนาระบบ CRM ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว อันนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้า

ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

โดยธุรกิจในประเทศนั้น จากการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ เช่น กระเบื้องปูพื้นและบุผนังเซรามิก กระเบื้องหลังคาคอนกรีต กระเบื้องหลังคาซีเมนต์ใยธรรมชาติและฉนวนกันความร้อน มียอดขายเพิ่มขึ้นทั้งงานโครงการและบ้านสร้างเอง

บริษัทเซรามิกอุตสาหกรรมไทย จำกัด ขยายกำลังการผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังเซรามิกเพิ่มขึ้น 3 ล้านตารางเมตรเป็น 35 ล้านตารางเมตรต่อปี และร่วมมือกับบริษัทออกแบบชั้นนำของฝรั่งเศส เพื่อสร้างความโดดเด่นของสินค้าในฐานะผู้นำตลาด โดยสามารถออกแบบสินค้าลวดลายใหม่ออกสู่ตลาดกว่า 120 รุ่น

ผลิตภัณฑ์วัสดุทนไฟ ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 กระเบื้องปูพื้นและบุผนังเซรามิกมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของยอดส่งออกทั้งหมดของธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยตลาดสำคัญอยู่ที่สหรัฐฯ อาเซียน ออสเตรเลียและยุโรป

ในปีนี้ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยังมีการพัฒนาธุรกิจในภูมิภาค เช่น ร่วมทุนกับกลุ่มสายโขงคอนกรีต จัดตั้งบริษัทและจำหน่ายกระเบื้องหลังคาคอนกรีตในลาว กำลังการผลิตปีละ 650,000 ตันเริ่มจำหน่ายต้นปี 2547

ธุรกิจจัดจำหน่าย

ยอดขายเพิ่มจากปีที่แล้วร้อยละ 8 โดยบริษัทซิเมนต์ไทยการตลาด พัฒนาระบบจัดจำหน่ายในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า และนำระบบ Supply Chain Management และระบบบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค้า (Partner Relationship Management) มาใช้กับผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ

บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย เน้นการเป็นศูนย์กลางการนำเข้าสินค้าพลังงานและอุปกรณ์ชิ้นส่วน และส่งออกแร่ยิปซั่มและแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านเอกสารการค้าให้เร็วขึ้นและต้นทุนต่ำลง โดยให้สำนักงานบางซื่อเป็นผู้บริหารการเงินให้แก่สาขาต่างประเทศด้วยความร่วมมือจากธนาคารชั้นนำระดับโลก ในการบริหารเงินของบัญชีสาขาต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต

ด้านธุรกิจค้าปลีก มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านซิเมนต์ไทยโฮมมาร์ท ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อวัสดุก่อสร้างและเคหะภัณฑ์ด้วยตนเองได้ดียิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงร้านค้าสู่รูปแบบใหม่กว่า 200 แห่งในปี 2547