พ.ศ. 2544 เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ที่สหรัฐฯ

เหตุการณ์การโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา มีต้นเหตุจากปัญหากับกลุ่ม Al-Qaeda ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานหลายปี กลุ่มก่อการร้ายนี้ก่อตั้งขึ้นช่วงปี 2523 โดย Osama Bin Laden

กลุ่ม Al-Qaeda เคยก่อการร้ายบนแผ่นดินสหรัฐฯ มาแล้วในปี 2536 ด้วยการวางระเบิดตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ นิวยอร์ค จากนั้นมีการโจมตีอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดสร้างความเสียหายเท่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

เช้าวันอังคารที่ 11 กันยายน ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ 11 ขับพุ่งเข้าชนตึกฝั่งเหนือ ของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จากนั้นไม่นาน เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ด พุ่งเข้าชนตึกฝั่งใต้ ขณะนั้นมีหลายล้านคนทั่วโลกได้ชมเหตุการณ์สดจากการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ 

หลังจากนั้นสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ 77 พุ่งชนตึกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน ในรัฐเวอร์จิเนีย ตามด้วยเที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินเดียวกันตกลงกลางทุ่งกว้าง ในเพนซิลวาเนีย ข้อมูลภายหลังระบุว่า ผู้โดยสารบนเครื่องได้ต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย 

ราวหนึ่งชั่วโมงเศษหลังการพุ่งชนครั้งแรกตึกแฝดก็ถล่มลง การเดินทางทางอากาศของสหรัฐฯ ทั้งหมดถูกยกเลิก ประชาชนภายในอาคารที่มีชื่อเสียงทั้งหมดทั่วประเทศได้รับคำสั่งให้ออกจากสถานที่ รวมแล้วมียอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 2,996 คน รวมผู้ก่อการร้าย 19 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 6,000 คน

ผลกระทบของเหตุการณ์เกิดขึ้นกับภาคการเงินก่อน โดยตลาดหุ้นนิวยอร์คปิดทำการ 4 วันและเมื่อเปิดทำการดัชนีดาวน์โจนส์ร่วงลงจาก 9,605 จุด ลงไปที่ 8,920 จุด เป็นการปรับตัวลดลงในวันเดียวสูงสุดในประวัติศาสตร์ เกิดความเสียหายทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญ มีคนตกงานกว่า 65,000 คน

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการบิน ก่อนเหตุการณ์ มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 68.3 ล้านคนและมีการจ้างพนักงานบริการมากกว่า 520,000 คน สิ้นเดือนกันยายน จำนวนผู้โดยสารลดเหลือเพียง 39.4 ล้านคน ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ผู้ประกอบการเป็นจำนวนกว่า 5,000 ล้านเหรียญ รวมถึงสินเชื่ออีกกว่า 10,000 ล้านเหรียญสำหรับการกอบกู้อุตสาหกรรมให้กลับคืนมา

จากการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในเดือนธันวาคม 2544 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.7 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2544 เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทุกกลุ่มประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การก่อวินาศกรรม ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง

ขณะที่ธนาคารโลกเสนอรายงานประจำปีว่าด้วย “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและประเทศกำลังพัฒนาปี 2544” โดยระบุว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคร้ายแรงจนต้องย้อนกลับไปสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง โดยเกิดจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

รายงานระบุว่าปัจจัยภายนอก 3 ประการที่มีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย ประกอบด้วย
1.ผลกระทบจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลง
2.ปัญหาการเงินของญี่ปุ่นที่ก่อตัวขึ้นใหม่
3.การถอนตัวของธุรกิจภาคอิเล็กทรอนิกส์

ธนาคารโลกยังได้ประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเอเชียตะวันออกในปี 2544 ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลง ส่วนการเติบโตในระยะยาวระหว่างปี 2543-2553 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.3