พ.ศ.2468 Mr.Erik Thune กรรมการผู้จัดการ คนที่ 2

Mr.Erik Thune เข้ามาทำงานในตำแหน่งสมุห์บัญชีในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตั้งแต่วันที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มผลิตครั้งแรกและใช้เวลาเพียง 10 ปี ก็สามารถไต่เต้าก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการด้วยอายุเพียง 31 ปีเท่านั้น

Mr.Erik Thune ตอนนั้นอายุเพียง 21 ปี มีประสบการณ์ช่วงสั้น ๆ จากบริษัทน้ำมันของสหรัฐอเมริกาในแถบสแกนดิเนเวีย ก่อนจะมาทำงานที่ประเทศอังกฤษประมาณ 1 ปี มีความรู้ด้านบัญชีและสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เนื่องจากเขาไม่มีประสบการณ์ในการทำงานในโรงงานโดยตรง ดังนั้นก่อนจะเดินทางมาเมืองไทย F.L.Smidth จึงส่งไปฝึกงานในโรงงานปูนซีเมนต์ที่ประเทศอังกฤษประมาณหนึ่งเดือน ก่อนจะเดินทางมาถึงเมืองไทยเริ่มทำงานในราว ๆ เดือนมกราคม พ.ศ.2458

ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง การค้าปูนซีเมนต์ในประเทศไทยรุ่งเรื่องขึ้น กำลังการผลิตประมาณ 20,000 ตันต่อปี เดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตตลอดช่วงสงครามโลกจนจบสงคราม จึงมีความพยายามสั่งซื้อเครื่องจักรมาขยายกำลังการผลิต แผนการขยายกำลังการผลิตครั้งแรกสำเร็จในปี พ.ศ.2465

เมื่อการขยายกำลังการผลิตสิ้นสุดลง Mr.Oscar Shultz กรรมการผู้จัดการคนแรกก็ขอลาออกจากตำแหน่ง คณะกรรมการจึงแต่งตั้ง Mr.Erik Thune เป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 2 มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2468

นับว่าในช่วง 10 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง เป็นช่วงเวลาที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนมีกำลังการผลิตเพิ่มสูงสุดช่วงหนึ่ง ปริมาณการขายปูนซีเมนต์ที่บันทึกไว้ในหนังสือครบรอบ 40 ปี ระบุว่าในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2468-2473) เพิ่มจาก 45,000 ตัน เป็น 88,000 ตัน ซึ่งถือเป็นการขยายกำลังการผลิตสูงที่สุดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แม้ว่าในปี พ.ศ. 2472 จะเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั้งโลก แต่ในช่วงต้นยังไม่กระทบต่อเมืองไทยมากนัก แต่สัญญาณการค้าก็เริ่มตกต่ำลงตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 และจากนั้นอีกเพียง 3 ปี Mr.Erik Thune ก็ขอลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม งานหลักของ Mr.Erik Thune ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น นอกจากจะขยายกำลังการผลิต การจำหน่ายในประเทศอย่างมากมายต่อเนื่องแล้ว หน้าที่สำคัญก็คือการติดต่อค้าขายวัตถุดิบกับ Trading Company ในย่านนี้ ในช่วงที่ความต้องการวัตถุดิบ โดยเฉพาะถ่านหิน ถังบรรจุปูน และอะไหล่ต่าง ๆ มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวของการเพิ่มการผลิตและการจำหน่าย นอกจากนี้ในช่วงนั้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มีการลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลในช่วงต่อเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 พันธบัตรรัฐบาลนี้ออกที่กรุงลอนดอน รวมทั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มีการลงทุนในพันธมิตรในเขตปกครองของประเทศอังกฤษในปีนังด้วย ดังนั้นกรรมการผู้จัดการคนที่ 2 ซึ่งมีความรู้ทางการเงินจึงทำงานนี้ได้อย่างดี

งานสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือว่าจ้างวิศวกรโยธาคนใหม่ เนื่องจากตอนนั้นเกิดภาวะสงครามทั่วยุโรป F.L.Smidth ไม่สามารถจ้างวิศวกรที่จบระดับปริญญาตรีให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้ Mr.Erik Thune จึงปรับเงื่อนไขให้รับผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมโยธาระดับมัธยมปลาย (High School) แทน ซึ่งในเวลาต่อมาคนที่มารับตำแหน่งนี้ก็คือ Mr.Carsten Friis Jespersen เข้ามาเมืองไทยในปี พ.ศ.2469 คน ๆ นี้ ก็คือกรรมการผู้จัดการคนต่อจากเขานั่นเอง

ภายหลังจากการเดินทางกลับไปทวีปยุโรปแล้ว Mr.Erik Thune ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะประธานบริษัท F.L.Smidth สาขานิวยอร์ก พระยามานวราชเสวี ประธานกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อทำสัญญากู้เงินจากธนาคาร Export-Import ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2498 ได้กล่าวในการประชุมคณะกรรมการว่า Mr.Erik Thune ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการเจรจากับธนาคารที่กรุงวอชิงตัน อย่างไรก็ตาม การเจรจาครั้งนี้ Exim Bank ได้ผ่อนปรนเงื่อนไขจากการให้กู้เงินเพื่อซื้อสินค้าอเมริกันเท่านั้น ให้สามารถซื้อหม้อเผาของ F.L.Smidth ได้บางส่วนด้วย

หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2501 Mr.Erik Thune ในขณะนั้นอยู่ที่เมืองโคเปนเฮเกน ยังได้ช่วยเหลือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในการเจรจาขอซื้อหม้อเผาที่ 4 กับ F.L. Smidth โดยขอชำระเงินผ่อน 15 งวด โดยไม่มีการวางเงินล่วงหน้าทั้งๆ ที่ F.L. Smidth ไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อน นอกจากนี้ยังลดราคาให้อีก 5% เพื่อตอบแทนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่เป็นลูกค้าเก่าแก่ถึง 45 ปี