พ.ศ.2478 Mr.Carsten Friis Jespersen กรรมการผู้จัดการคนที่ 3

 Mr.C.F. Jespersen ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นเวลาถึง 24 ปี ในช่วงสถานการณ์ที่สังคมไทยเผชิญปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความเสื่อมของอิทธิพลยุโรปในภูมิภาคและการเริ่มต้นเข้ามาของอิทธิพลสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ภายใต้การบริหารของ Mr.C.F. Jespersen มีเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีสีสันเกิดขึ้นอย่างมากมาย

Mr.Jespersen เข้าทำงานกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในตำแหน่งนายช่างก่อสร้าง ในช่วงยากลำบากภายหลังสงครามในยุโรป จากข้อมูลเชื่อว่าเขามีความรู้วิศวกรโยธาระดับอนุปริญญา เท่าที่คำนวณได้น่าจะมีอายุประมาณ 24 ปี ซึ่งแสดงว่าเขามีประสบการณ์ทำงานมาแล้วช่วงหนึ่งตามคุณสมบัติที่กรรมการผู้จัดการคนก่อนกำหนดไว้ว่าควรมีความรู้ด้านโรงงานปูนซีเมนต์ด้วย เนื่องจากช่วงนั้นไม่สามารถว่าจ้างวิศวกรระดับปริญญาได้

Mr.Jespersen เข้ามาทำงานในช่วงที่มีการขยายกำลังการผลิตมากที่สุด ดังนั้นความรับผิดชอบด้านการก่อสร้างจึงมีมากเป็นเงาตามตัว "ผมเดินทางมาถึงประเทศไทย เดือนมกราคมปี พ.ศ.2469 โดยมารับตำแหน่งเป็นวิศวกรโยธารับผิดชอบงานด้านก่อสร้างทั้งหลาย งานชิ้นแรกของผมก็คือ ทำแผนที่ที่ถูกต้องของแหล่งดินขาวที่บ้านหมอ" Mr.Jespersen เล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความ "เบื้องหลังของท่าหลวง" ในหนังสือครบรอบ 70 ปีของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

หลังจากใช้เวลาทำงานอยู่ในเมืองไทย 9 ปี ก็ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่คนที่ 3 ในวัยราว 33 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงสถานการณ์ผันแปรมากที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด นั่นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475

จากจุดนี้ถือเป็นการเริ่มต้นบทบาทของคนไทยที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานมากขึ้น ช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา สำหรับผู้บริหารชาวเดนมาร์กทั่วไป อาจจะเป็นเรื่องยากในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ แต่สำหรับ Mr.Jespersen ดูเหมือนไม่ยากนัก

จากหนังสือครบรอบ 70 ปีของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (พ.ศ.2526) Mr.Jespersen ได้เล่าเรื่องเบื้องหลังการสร้างโรงงานท่าหลวงไว้อย่างตื่นเต้น เกี่ยวกับความพยายามเจรจากับรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งเป็นความพยายามที่จะยับยั้งแผนการก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่ที่ท่าหลวงจากการสนับสนุนของรัฐบาล

"ผมตัดสินใจเข้าพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อจะหาข้อเท็จจริงให้กระจ่างยิ่งขึ้น โดยขอให้ท่านช่วยยืนยันข่าวดังกล่าว และขณะเดียวกันก็เสนอว่าหากเรื่องนี้เป็นจริง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็จะยุติแผนการสร้างโรงงานท่าหลวง" Mr.Jespersen เล่าเรื่องนี้ต่อไปว่าได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งนี้โรงงานที่รัฐบาลสนับสนุนจะผลิตปูนซีเมนต์ในราคาถูกกว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และ Mr.Jespersen ยังพบว่าข้อมูลของโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่แทบจะเป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด "ท่านจึงเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสั่งให้เลขานุการร่างจดหมายเป็นภาษาอังกฤษตามคำที่ท่านบอก ใจความจดหมายก็คือให้คำรับรองกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ว่ารัฐบาลล้มเลิกแผนการสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่ที่อำเภอท่าเรือ ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ขยายโรงงานตามแผนการที่กำหนดไว้”

เรื่องนี้ สามารถตีความได้ อย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก Mr.Jespersen เป็นคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับนักการเมืองผู้มีอำนาจในรัฐบาลได้เป็นอย่างดี เรื่องนี้ นายกนก พงศ์พิพัฒน์ ซึ่งเข้าทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 มีโอกาสทำงานคลุกคลีกับ Mr.Jespersen ไม่น้อยกว่า 10 ปี ได้เล่าถึงบุคลิกของเขาไว้ในทำนองเดียวกันว่า "นายห้างเอาเตียงผ้าใบไปกางนอนอยู่หน้าทำเนียบเลยนะ จะขออะไรรัฐบาลทีก็ไปอยู่ที่นั่น แกเข้ากับรัฐบาลเก่ง คนชอบเหมือนเถ้าแก่จีนคนหนึ่ง"

จากข้อมูลที่มี แสดงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง Mr.Jespersen กับวงการธุรกิจในสมัยนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ความคิดในการจัดตั้งบริษัทการค้าการจำหน่ายไปจนถึงแนวคิดโครงการที่กระบี่ ล้วนปรากฏหลักฐานว่า Mr.Jespersen มีความคิดร่วมมือกับนักธุรกิจไทยเสมอ

อีกประการหนึ่งแสดงให้เห็นว่า Mr.Jespersen ให้ความสำคัญกับโครงการท่าหลวงอย่างมาก โครงการนี้มีความหมายกว่าที่เคยมีการตีความกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงานใกล้แหล่งวัถตุดิบหรือจะลดต้นทุนการขนส่งสู่ตลาดภาคกลางที่มีความต้องการปูนซีเมนต์มากขึ้น นั่นเป็นภาพสำคัญส่วนหนึ่ง หากพิจารณาจากหนังสือครบรอบ 40 ปีแล้ว (ปี พ.ศ.2497) จะพบว่าจินตนาการโครงการท่าหลวงของ Mr.Jespersen มีความหมายกว่านั้นมาก

โครงการท่าหลวงในมุมมองของกรรมการผู้จัดการคนนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ในลักษณะเมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกที่ตั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นกระบวนการสร้างเมืองใหม่ ด้วยพื้นฐานของวิศวกรโยธา จึงมุ่งเน้นให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนจากการกู้ยืมจำนวนมาก เพื่อให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร มีลักษณะพึ่งตนเอง แนวความคิดดังกล่าวนี้ได้รับการทักท้วงจากคณะกรรมการหลายครั้ง และอาจเป็นต้นเหตุของการลาออกจากตำแหน่งของเขาด้วย แม้ว่าในเวลาต่อมาแนวคิดที่เน้นโครงการใหญ่และมุ่งลงทุนในภูมิภาคจะถือว่าเป็นความคิดที่มองการณ์ไกลก็ตาม

Mr.Jespersen ขอลาออกจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในปี พ.ศ.2502 แต่ก็ยังคงเป็นที่ปรึกษากรรมการที่สำคัญ ได้รับผิดชอบโครงการอ่าวลึก จ.กระบี่ ซึ่งเป็นโครงการตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งใหม่ในภาคใต้ของไทย ซึ่งเขาริเริ่มและให้ความสำคัญอย่างมากไม่แพ้โครงการท่าหลวง

แนวความคิดของโครงการกระบี่คือโรงงานปูนซีเมนต์ที่สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศผ่านทางทะเลอันดามันได้ ขณะที่คณะกรรมการยังไม่เห็นความจำเป็น แต่ Mr. Jespersen ยังดำเนินแผนการต่อไป

ตามแผนการนี้จะเป็นโรงงานปูนซีเมนต์ที่มีการร่วมลงทุนของหลายฝ่าย ซึ่งแนวความคิดนี้ขัดแย้งกับคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างมาก สถานการณ์ขณะนั้นคนไทยเริ่มควบคุมการบริหารงานบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มากขึ้น ภายใต้กระแสทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมและความพยายามจะลดบทบาทและอิทธิพลของชาวเดนมาร์ก ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จะตั้งโรงงานแห่งใหม่โดยร่วมทุนกับชาวต่างประเทศ

จากจุดนี้ก็อาจมองได้ว่า หากโครงการที่อ่าวลึก จ.กระบี่ เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นหลายฝ่าย Mr.Jespersen ก็มีบทบาทในการบริหารงานได้อย่างเต็มที่มากกว่าที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

อย่างไรก็ตามในยุคของ Mr.Jespersen บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด มีพัฒนาการที่น่าสนใจหลายประการ นอกจากที่กล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง การตั้งบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด และบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด รวมทั้งร่วมมือกับภาครัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็ก

นอกจากนี้มีหลักฐานว่า Mr.Jespersen ดำเนินธุรกิจระหว่างดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ โดยมีเอกสารโต้ตอบระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และ Mr. Jespersen ซึ่งเป็นสำนักงานที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมตั้งอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างปี พ.ศ.2478 - 2489 ด้วย



ประวัติบุคคลสำคัญในเนื้อหา


1. C. Friis Jespersen
2. พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
3. กนก พงศ์พิพัฒน์