พ.ศ.2483 คนไทยมีบทบาทมากขึ้น : ผู้บริหารไทย

แต่สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้วชนิดไม่หวนกลับก็คือ บทบาทคนไทยที่มีมากขึ้นในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้มาจากแรงจูงใจของคณะราษฎรที่เข้ามีบทบาทในช่วงเวลาไม่ยาวนานนัก

สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จนถึงปี พ.ศ. 2484 นับเป็นเวลายาวนานประมาณ 30 ปี คือ ตำแหน่งบริหารต่าง ๆ ตกอยู่ในมือของชาวเดนมาร์กทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทั่วไป วิศวกร และนายช่างเคมี

คนไทยคนแรกที่เข้ามาอยู่ในตำแหน่งบริหารหรือที่เรียกในขณะนั้นว่าฝ่ายอำนวยการคือหม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์

หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ ถือว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรคนหนึ่ง จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์แล้วโอนมาเป็นนักเรียนทุนของกรมรถไฟหลวง (ชื่อในขณะนั้น) โดยรับราชการที่การรถไฟตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 เมื่อเข้ามาทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตำแหน่งรองจากกรรมการผู้จัดการที่เป็นชาวเดนมาร์ก ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงงาน ในปี พ.ศ.2485 - 2487 ก่อนลาออกไปรับราชการ ในปี พ.ศ.2490 รัฐบาลแต่งตั้งให้เข้ามาดูแลอุตสาหกรรมเหล็กโดยร่วมกับกองทัพเรือ ในช่วงสั้น ๆ หลังจากนั้นลาออกไปอีกครั้งหนึ่งไปเป็นรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ หลายครั้ง ก่อนกลับมาทำงานที่บริษัท  ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อีกครั้งในปี พ.ศ.2491 ต่อเนื่องไปจนเกษียณอายุในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ ถือเป็นคนไทยคนแรกที่มีบทบาทในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต่อเนื่องยาวนานจากยุคเดนมาร์กมาจนถึงผู้จัดการใหญ่คนไทย

หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ มีบทบาทต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ในทศวรรษ 2500 สมควรบันทึกบทบาทบุคคลผู้นี้ไว้ ซึ่ง    รายละเอียดเพิ่มเติมจะกล่าวในตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากนี้คนไทยก็ค่อยทยอยกันเข้ามาในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด บุคคลกลุ่มนี้มักจะมาจากหน่วยงานราชการที่สำคัญและมีบทบาทมากในเวลานั้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด จะมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็คือการรถไฟ ซึ่งถือว่าเป็นที่รวมของผู้มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะมีนักเรียนต่างประเทศจำนวนพอสมควร