พ.ศ. 2535 อาเซียนประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) หรืออาฟต้า ในเดือนมกราคม 2535 เป็นความคิดริเริ่มของนายกรัฐมนตรีของไทย ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 4 ประเทศ คือ เวียดนาม ในปี 2538 ลาวและพม่า ในปี 2540 และกัมพูชา ในปี 2543 รวมประชากรอาเซียนทั้งสิ้น 500 ล้านคน

หลักเกณฑ์ของอาฟต้าอยู่ภายใต้ข้อตกลง 2 ฉบับ ได้แก่ ข้อตกลงแม่บทว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Framework Agreement on Enhancing ASEAN Economic Cooperation) และข้อตกลงว่าด้วยอัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ CEPT [Agreement on the Common Effective Preferential Tariff (CEPT) Scheme for the ASEAN Free Trade Area (AFTA)] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการค้าภายในภูมิภาค ดึงดูดการลงทุนและเสริมสร้างสถานะการต่อรองในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ และตั้งเป้าหมายที่จะจัดตั้งให้เสร็จภายใน 15 ปี

ต่อมาที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 26 ในปี 2537 มีมติร่นระยะเวลาจาก 15 ปี เหลือ 10 ปี มีเป้าหมายให้ลดภาษีลงเหลือ 0-5% และยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากรภายใน 10 ปี (2536-2546)

ทั้งนี้ การดำเนินการให้สิทธิ (CEPT) ครอบคลุมสินค้ารวม 105,123 รายการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

1. สินค้าเร่งลดภาษี (Fast Track) ลดภาษีลงเหลือ 0-5% ภายใน 7 ปี ประกอบด้วยสินค้า 15 ชนิด ได้แก่ ซีเมนต์ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์หนัง เยื่อกระดาษ สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ไม้และหวาย น้ำมันพืช เคมีภัณฑ์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เซรามิกและผลิตภัณฑ์แก้ว เภสัชภัณฑ์และแคโทดที่ทำจากทองแดง
2. สินค้าลดภาษีปกติ (Normal Track) ลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10 ปี
3. สินค้ายกเว้นชั่วคราว (Temporary Exclusion List) ได้แก่ สินค้าที่แต่ละประเทศสงวนสิทธิ์ไม่ลดภาษีชั่วคราว แต่ทยอยนำมาลดภาษีภายใน 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป

นอกจากนั้น ยังมีการลด/เลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี ยกเลิกมาตรการจำกัดด้านปริมาณเมื่อสินค้านั้นลดภาษีอยู่ที่ระดับ 20% หรือต่ำกว่าและยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีอื่นภายใน 5 ปีต่อมา

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ต้องลดภาษีการนำเข้าในบัญชีรายการลดภาษีภายใต้ CEPT เหลือ 0-5% ภายในปี 2546 และเป็น 0% ในปี 2553 ส่วนประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ ลดภาษีนำเข้าในบัญชีรายการลดภาษีภายใต้ CEPT เหลือ 0-5% ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน โดยเวียดนามในปี 2549 ลาวและพม่าในปี 2551 กัมพูชาในปี 2553 และเหลือ 0% ในปี 2558