พ.ศ.2509 เข้าสู่อุตสาหกรรมเหล็กอย่างเต็มตัว

รัฐบาลไทยในช่วงที่มีผู้นำทางการเมืองที่มาจากกลุ่มคณะราษฎรต่างมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศตามแนวคิด

"การที่พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองได้ประเทศของเราจะต้องก้าวไปสู่กิจการอุตสาหกรรม.... จะต้องมีการผลิตเหล็กขึ้นในประเทศ เพื่อเป็นการรองรับอุตสาหกรรม"

นายวิชา เศรษฐบุตร อธิบดีกรมโลหะกิจ พ.ศ.2498-2514 และอดีตกรรมการบริษัทเหล็กสยาม จำกัด และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กล่าวไว้ใน "จารึกในความทรงจำ" กล่าวถึงแนวความคิดที่ทรงอิทธิพลของนักวางแผนทางเศรษฐกิจในยุคนั้น

บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในยุคผู้จัดการทั่วไปชาวเดนมาร์กคนที่สาม ให้ความสำคัญในการบุกเบิกอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งมีแผนการ "ที่จะสร้างศูนย์อุตสาหกรรมของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด" อยู่แล้ว (วิชา เศรษฐบุตร อ้างแล้ว) ซึ่งเข้าใจว่าจะสร้างขึ้นที่ท่าหลวง (อ่านรายละเอียด "เมืองอุตสาหกรรม" ในเรื่องโรงงานท่าหลวง) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้สนับสนุนให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ดำเนินการขอสัมปทานแหล่งแร่เหล็กจากรัฐบาลทั้งที่ จ.กระบี่ และ จ.ลพบุรี ที่จังหวัดกระบี่นั้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวสวีเดนมาทำการสำรวจแต่พบว่าเหล็กมีคุณภาพต่ำ แต่นายสมัคร บุราวาศ วิศวกรเหมืองแร่ของกรมโลหะกิจได้แนะนำให้ไปสำรวจที่เขาทับควาย จ.ลพบุรี พบแหล่งแร่เหล็กมีคุณภาพดี จึงเป็นการเริ่มต้นการทำอุตสาหกรรมเหล็กของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

รัฐบาลยังให้การสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาล คือ ดร.จ่าง รัตนะรัต และนายสมัคร บุราวาศ ให้มาร่วมทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2485 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ดำเนินการทดลองถลุงเหล็กได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยการสนับสนุนของรัฐบาล โดยรัฐบาลคาดหวังว่าจะผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 100 ตันต่อวัน ทั้งนี้การทดลองถลุงเหล็กมีความจำเป็นในการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อดำเนินการผลิตต่อไปให้ได้ ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรใหม่จากต่างประเทศได้ตามความต้องการเนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยที่มีผู้นำทางการเมืองคือ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอให้กองทัพเรือซึ่งมีเตาถลุงเหล็กแบบ Bessemer ดำเนินการร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเหล็กต่อไป

ในปี พ.ศ.2490 รัฐบาลตั้งกรรมการ 2 คน คือ นายประวัติ สุขุม อธิบดีกรมโลหะกิจ และ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ มาเจรจาเรื่องอุตสาหกรรมเหล็กกับกองทัพเรือ โดยมีกรรมการผู้แทนกองทัพเรือ ได้แก่ น.อ.จำรัส เภกะนันท์ รน.,น.อ.ชลี สินธุโสภณ รน.,น.อ.ฉาด แสง-ชูโต รน. ซึ่งทั้ง 3 ท่านยังคงทำงานร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต่อไป แม้ว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตัดสินใจดำเนินอุตสาหกรรมเหล็กต่อไปเอง โดยใช้เตาถลุงเหล็กแบบ Open Hearth

การรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 นำโดยคณะทหารบกซึ่งได้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลไทยยังมีนโยบายสนับสนุนให้มีการขยายกำลังการผลิตเหล็กให้เพิ่มขึ้นต่อไป ในปี พ.ศ.2493 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเรื่องอุตสาหกรรมเหล็กจากเดนมาร์ก และในปี พ.ศ.2494-2496 ได้ส่งพนักงานบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไปฝึกอบรมทุกปีทั้งที่ญี่ปุ่นและในยุโรป ทั้งได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เดินทางไปเปิดเตาเหล็กกล้าที่โรงงานท่าหลวงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2496 จนถึงปี พ.ศ. 2499 อุตสาหกรรมเหล็กเริ่มทำกำไร และทำให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ.2503 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด สั่งซื้อเตาไฟฟ้าเตาแรกมาใช้ ทำให้สามารถขยายการหลอมเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ด้วยปริมาณแหล่งแร่เหล็กที่มีอยู่จำกัดของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงทำให้ในช่วงปี พ.ศ.2503-2507 เป็นช่วงการแสวงหาแหล่งแร่เหล็กใหม่ ๆ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ จ.นครสวรรค์ กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา ในที่สุดกลับเป็นการสำรวจแหล่งแร่เหล็กเดิมใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2507 คือที่เขาทับควาย จ.ลพบุรี แล้วพบปริมาณแร่เหล็กถึง 7 ล้านตัน ด้วยความมั่นใจในปริมาณแหล่งแร่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างจริงจังจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการจดทะเบียนดำเนินกิจการบริษัทเหล็กสยาม จำกัด เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2509

ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2500 ต่อมาได้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายส่งสริม การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยให้การส่งเสริมการลงทุน และยังให้การสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยต่อไป ซึ่งทางบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลหลายครั้งด้วยกัน สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมซึ่งรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาให้การสนับสนุนการทำธุรกิจโดยเสรี โดยรัฐไม่เข้าไปเป็นเจ้าของดำเนินกิจการเองเหมือนสมัยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผลที่ตามมาประการหนึ่งของการตั้งบริษัทเหล็กสยาม จำกัด คือการเชิญนายบุญมา วงศ์สวรรค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งต่อมาภายหลังได้เป็นกรรมการและเป็นผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในปี พ.ศ.2517

การเตรียมการครั้งใหญ่ก็เพื่อแสวงหาเงินทุน ก่อนที่จะพบข้อจำกัดในช่วงปี พ.ศ.2516 ว่าถ้าต้องการลงทุนเพิ่มด้วยการกู้ยืมเงินหรือหาผู้ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรรมเหล็กแล้ว ควรต้องแยกการผลิตเหล็กรีดกับเหล็กหล่อออกจากกัน

จากจุดเริ่มต้นนั้น ซึ่งมาจากแรงบันดาลใจของแนวทางพัฒนาประเทศในสมัยหนึ่ง จากอิทธิพลและการสนับสนุนจากรัฐบาล อุตสาหกรรมของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มต้นอย่างจริงจัง