พนมยงค์

  • ชื่อ
    พ.ศ.2491 โรงงานท่าหลวง
    รายละเอียด :
    โรงงานท่าหลวง นอกจากจะมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ทางธุรกิจสำหรับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างมากแล้ว สำหรับ Mr.Jespersen น่าจะมีความสำคัญที่สุดในชีวิตการบริหารกิจการปูนซีเมนต์แห่งแรกในเอเชียอาคเนย์แห่งนี้ ไม่ว่าจะมองในเรื่องแรงบันดาลใจ ความรู้ความสามารถ การปรับตัว รวมทั้งการผ่านการทดสอบสำคัญในฐานะนักบริหารที่เผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่อย่างรอบด้านทีเดียว

    ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า Mr.Jespersen วางแผนจะสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่ไว้ในใจเมื่อไหร่ แต่รายงานที่มีเรื่องการขยายโรงงานหรือสร้างโรงงานใหม่  ปรากฎในรายงานการประชุมคณะกรรมการตั้งแต่ปี พ.ศ.2481

    อุปสรรคใหญ่หลวง

    แผนการสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งที่สองของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด    เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2475 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าไม่กี่ปี เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นช่วงเวลาความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางการเมืองปกคลุมสังคมไทยค่อนข้างยาวนาน ต่อมาปี พ.ศ.2480 จึงตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แทนพระคลังข้างที่ ให้มีการบริหารในรูปคณะกรรมการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการขณะนั้น ได้แก่ นายปรีดี พนมยงศ์  นั่นหมายความว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็กลายเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นายชุณห์ ปิณฑานนท์ สมาชิกคณะราษฎรมาเป็นประธานกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในต้นปี พ.ศ.2481 ในฐานะประธานคนไทยคนแรก ในระยะเดียวกับแผนการก่อสร้างโรงงานเริ่มต้นขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นในปีถัดมา Mr.W.L. Grut ซึ่งนับว่าเป็นประธานกรรมการที่ทำงานเข้ากันได้อย่างดีกับผู้จัดการชาวเดนมาร์กมาแล้วถึง 3 คน ได้ลาออกและเดินทางออกจากประเทศไทยไป (รายละเอียดเรื่องนี้ อ่านได้จากเรื่อง "คนไทยมีบทบาทมากขึ้น")

    ความยุ่งยากและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2482 ซึ่งมีการกล่าวไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการ หากพิจารณาคำบอกเล่าของ Mr. Jespersen ใน "บทความเบื้องหลังของท่าหลวง หนังสือปูนซิเมนต์ไทย 2456-2526; หน้า 56-61) โดยให้รายละเอียดอย่างมีสีสัน แสดงถึงการให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก และสาระสอดคล้องกัน

    สรุปความยุ่งยากและอุปสรรคในการก่อกำเนิดโรงงานท่าหลวงได้คร่าว ๆ ดังนี้

    - ข่าวลือว่ารัฐบาลมีแผนการสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่ที่ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนับว่าเป็นที่ที่ใกล้เคียงสถานที่ตั้งโรงงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่จะตั้งขึ้นที่ อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

    - ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (Mr. Jespersen) เดินทางเข้าพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง ซึ่งได้รับการยืนยันว่ารัฐบาลมีความคิดเช่นนั้นจริง ด้วยเหตุผลที่จะทำให้ราคาปูนซีเมนต์ถูกกว่าของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด โดยมีข้อมูลรายละเอียดของโครงการให้ดูด้วย

    - Mr. Jespersen พบว่าข้อมูลของโรงงานของรัฐบาลเป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่เตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัท แต่มีการตกแต่งตัวเลขเล็กน้อย นัยของเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่าง    ผู้บริหารของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กับกรรมการบริษัทที่เป็นตัวแทนจากคณะราษฎร

    - Mr. Jespersen เข้าพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอีกครั้งหนึ่ง นำข้อมูลชุดนี้ไปแสดง ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้นและทำจดหมายรับรองเป็นภาษาอังกฤษว่า รัฐบาลสนับสนุนโครงการของบริษัท     ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และจะยกเลิกแผนการสร้างโรงงานใหม่

    ในการประชุมคณะกรรมการอย่างฉุกเฉิน (ตามที่ผู้จัดการทั่วไปกล่าว) เท่าที่ปรากฏหลักฐาน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2482 ได้หารือเรื่องนี้และได้ทำหนังสือเวียนไปยังผู้ถือหุ้น รวมทั้งยืนยันแผนการสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่สระบุรีเป็นที่แน่นอน

    แผนการดี

    ต้องยอมรับว่าแผนการต่าง ๆ ของผู้จัดการทั่วไปที่เตรียมการมาแล้วส่วนหนึ่งและดำเนินการจนเริ่มต้นสร้างโรงงาน ใช้ระยะเวลาห่างจากการประชุมฉุกเฉินคราวนั้นเพียง 4 เดือนเท่านั้น การสร้างโรงงานที่ท่าหลวงจึงเริ่มต้นอย่างเป็นการทางการในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2483   ในช่วงเตรียมการ Mr. Jespersen เล่าว่าได้วางแผนโดยคำนึงถึงเรื่อง แหล่งวัตถุดิบ การขนส่งไปขายยังตลาด เป็นปัจจัยสำคัญ จึงมีการวางแผนขึ้นมา 3 โครงการคือ

    (1) การสร้างโรงงานขึ้นมาใกล้แหล่งวัตถุดิบใหม่ที่บ้านหมอ จ.สระบุรี

    (2) การขยายโรงงานบางซื่อ

    (3) การสร้างโรงงานที่เกาะสีชัง ถ้าการส่งออกทวีความสำคัญขึ้นมา

    โดยการดำเนินงานทั้ง 3 โครงการปิดเป็นความลับเพื่อป้องกันการเก็งกำไรราคาที่ดิน

    แผนการจัดซื้อที่ดินดำเนินไปในทันที การสำรวจที่บ้านหมอใกล้แหล่งดินขาว ได้บอกกับคนท้องถิ่นเรื่องทำโรงสีข้าว เอาปืนไปด้วยเหมือนไปยิงนกปากซ่อม แต่ไปเดินสำรวจเลียบแม่น้ำป่าสัก หาทำเลที่ตั้งโรงงานใหม่

    ในอีกด้านหนึ่งการสำรวจที่เกาะสีชังใช้ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำทีว่าไปเล่นน้ำทะเลและอ่านหนังสือ จากนั้นให้คนซื้อที่ดินแถบท่าหลวงในราคาถูก และเมื่อได้รับแบบแปลนร่างโรงงานใหม่พร้อมค่าใช้จ่ายแล้ว จึงเสนอคณะกรรมการพิจารณา 3 ทางเลือก ซึ่งโครงการท่าหลวงมีต้นทุนต่ำที่สุด โครงการขยายที่บางซื่อมีต้นทุนปานกลาง และโครงการที่เกาะสีชังมีต้นทุนสูงที่สุด

    เดิมแหล่งดินขาวแห่งแรกที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ใช้นำมาทำการผลิตที่โรงงานบางซื่อ อยู่ที่ตำบลช่องแค อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ ถึง 170 กิโลเมตร ต่อมาในปี พ.ศ.2464 จึงได้พบแหล่งดินขาวใหม่ที่ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ซึ่งห่างเพียง 100 กิโลเมตร ดังนั้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงตัดสินใจก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งดินขาวเพียง 10 กิโลเมตร และมีการลำเลียงทางน้ำได้โดยสะดวกด้วย

    เดือนธันวาคม พ.ศ.2484 ผู้จัดการทั่วไป ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ว่าการก่อสร้างโรงงานปูนเม็ดที่ตำบลท่าหลวงใกล้แล้วเสร็จ

    เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2485 คณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานท่าหลวง ชมการถลุงเหล็ก และแผนกต่าง ๆ ของโรงงานปูนเม็ด แต่การก่อสร้างโรงงานท่าหลวงต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังสงครามจึงได้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปจนโรงงานเปิดทำการผลิตได้จริงในปี พ.ศ.2491

    พัฒนาสู่โรงงานปูนซีเมนต์สมบูรณ์แบบ

    บทบาทแรกของโรงงานท่าหลวง เริ่มต้นเป็นฐานสำรองสนับสนุนโรงงานบางซื่อ ในช่วงนั้นบางซื่อประสบปัญหาได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในสงครามโลก สามารถผลิตปูนเม็ดได้เพียงหนึ่งในสามจากปริมาณการผลิตเดิม ดังนั้นเมื่อโรงงานท่าหลวงเกิดขึ้น จึงสามารถผลิตปูนเม็ดทดแทนส่วนที่ขาดได้ โดยบทบาทโรงงานท่าหลวงเป็นเพียงผู้ผลิตปูนเม็ด แล้วขนส่งทางรถไฟและทางเรือมายังโรงงานบางซื่อเพื่อบดเป็นปูนซีเมนต์ผงสำเร็จรูปเพื่อขายต่อไป

    จากรายงานของหนังสือครบรอบ 40 ปี (จัดทำขึ้นหลังจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม เยือนโรงงานในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2496) ระบุว่าในปี พ.ศ.2496 หรือหลังจาก 5 ปีที่โรงงานท่าหลวงเริ่มต้นผลิต ได้ปรับบทบาทจากการผลิตปูนเม็ดเพื่อป้อนโรงงานบางซื่อมาเริ่มผลิตปูนซีเมนต์ผงเอง ทั้งนี้เนื่องจากในระยะนั้นปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของภาคกลางตอนบน ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 โรงงานท่าหลวงจึงพัฒนาไปอีกขั้น เพื่อเป็นโรงานผลิตปูนซีเมนต์ที่สมบูรณ์เต็มรูปแบบ

    เมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย

    โรงงานท่าหลวงเป็นส่วนหนึ่งของจินตนาการเมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย ปรากฏอยู่ในหนังสือกิจการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในระยะ 40 ปี พ.ศ.2496 ซึ่งมีภาพแผนที่ปรากฏในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ โดยมีคำบรรยายอย่างมีสีสันในหน้า 60-62  "เมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ" ไว้ด้วย ทั้งนี้เป็นจินตนาการมาแล้วก่อนหน้า ตั้งแต่เยือนสถานที่แห่งนี้ ครั้งแรกซึ่งเป็นทุ่งนาประมาณ 15 ปีก่อนหน้านั้นหรือราว ๆ ปี พ.ศ.  2480 หากพิจารณาแผนที่ในหน้า 62 จะพบว่าจินตนาการเมืองอุตสาหกรรมไปไกลกว่าปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นภาพที่ประกอบด้วยย่านอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่กว้างใหญ่ สถานที่ราชการ สถานที่การค้า ฯลฯ ซึ่งยอมรับว่า "อาจจะมีผู้ถือหุ้นหลายท่าน เห็นว่าภาพที่วาดนี้ออกจะเกินเหตุไป"

    แนวความคิด น่าจะเป็นที่มาของการลงทุนสร้างโรงงานท่าหลวงที่เป็นการลงทุนค่อนข้างมาก ในหนังสือกิจการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในระยะ 40 ปี กล่าวไว้อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งความขัดแย้งทางความคิดในคณะกรรมการกับผู้จัดการใหญ่ในแนวคิดนี้ไว้

    การสร้างโรงงานท่าหลวงเป็นแนวคิดการสร้างเมืองอุตสาหกรรมที่มีลักษณะพึ่งตนเองอย่างสมบูรณ์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ยังมีการวางแผนเพื่ออนาคตไว้ค่อนข้างมาก ที่สำคัญมีโรงไฟฟ้าไว้ใช้เอง สร้างสายไฟแรงสูงมีความยาวถึง 10 กิโลเมตรจากโรงงานจนถึงบ่อดินขาวซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงาน ทั้งนี้ยังมีปริมาณเหลือพอจะให้บริการแก่ชุมชนในย่านนั้น

    ผู้จัดการทั่วไป (Mr. Jespersen) เน้นว่าการลงทุนจำนวนมาก แต่ก็คุ้มค่าเพราะจะทำให้ราคาปูนซีเมนต์ต่ำลง สามารถแข่งขันกับปูนซีเมนต์ต่างประเทศและพร้อมจะส่งออกได้ด้วยเมื่อปริมาณเหลือ ทั้งนี้ที่ทำได้เช่นนี้เพราะบริษัทยึดแนวทางกันเงินปันผลจำนวน 50% ไว้สำหรับการลงทุนโดยเฉพาะ

    "ฉะนั้นเมื่อท่านมาดูกิจการต่าง ๆ ด้วยตนเองแล้ว จึงหวังว่าท่านคงจะเห็นพ้องกับวิธีที่บริษัทเลือกใช้ เป็นทางปฏิบัติ และเสียงที่เคยตำหนิฝ่ายอำนวยการของบริษัทอยู่เนือง ๆ ว่าบริษัทได้ใช้เงินก่อสร้างอาคารโรงงานใหญ่โตเกินควรนั้น คงจะเบาบางลงบ้าง" ข้อความในหนังสือกิจการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในระยะ 40 ปี พ.ศ.2496 ตอนหนึ่งระบุไว้

    ในเวลาต่อมาโรงงานท่าหลวงได้สร้างโมเดลการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับชุมชน มีความเกื้อกูลกัน สร้างชุมชนให้เติบโต สร้างงานพัฒนาองค์ความรู้ที่สำคัญ สร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น เป็นเมืองที่สมบูรณ์ในตนเองเป็นต้นแบบและบทเรียนของอุตสาหกรรมในการอยู่กับชุมชนเกษตร อันมีคุณค่าอย่างมากในเวลาต่อมา  
    ป้ายคำค้น :
    Jespersen , โรงงานท่าหลวง , ปรีดี , พนมยงค์ , เมืองอุตสาหกรรม , 2491
  • ชื่อ
    พ.ศ.2509 เข้าสู่อุตสาหกรรมเหล็กอย่างเต็มตัว
    รายละเอียด :
    รัฐบาลไทยในช่วงที่มีผู้นำทางการเมืองที่มาจากกลุ่มคณะราษฎรต่างมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศตามแนวคิด

    "การที่พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองได้ประเทศของเราจะต้องก้าวไปสู่กิจการอุตสาหกรรม.... จะต้องมีการผลิตเหล็กขึ้นในประเทศ เพื่อเป็นการรองรับอุตสาหกรรม"

    นายวิชา เศรษฐบุตร อธิบดีกรมโลหะกิจ พ.ศ.2498-2514 และอดีตกรรมการบริษัทเหล็กสยาม จำกัด และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กล่าวไว้ใน "จารึกในความทรงจำ" กล่าวถึงแนวความคิดที่ทรงอิทธิพลของนักวางแผนทางเศรษฐกิจในยุคนั้น

    บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในยุคผู้จัดการทั่วไปชาวเดนมาร์กคนที่สาม ให้ความสำคัญในการบุกเบิกอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งมีแผนการ "ที่จะสร้างศูนย์อุตสาหกรรมของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด" อยู่แล้ว (วิชา เศรษฐบุตร อ้างแล้ว) ซึ่งเข้าใจว่าจะสร้างขึ้นที่ท่าหลวง (อ่านรายละเอียด "เมืองอุตสาหกรรม" ในเรื่องโรงงานท่าหลวง) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้สนับสนุนให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ดำเนินการขอสัมปทานแหล่งแร่เหล็กจากรัฐบาลทั้งที่ จ.กระบี่ และ จ.ลพบุรี ที่จังหวัดกระบี่นั้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวสวีเดนมาทำการสำรวจแต่พบว่าเหล็กมีคุณภาพต่ำ แต่นายสมัคร บุราวาศ วิศวกรเหมืองแร่ของกรมโลหะกิจได้แนะนำให้ไปสำรวจที่เขาทับควาย จ.ลพบุรี พบแหล่งแร่เหล็กมีคุณภาพดี จึงเป็นการเริ่มต้นการทำอุตสาหกรรมเหล็กของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    รัฐบาลยังให้การสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาล คือ ดร.จ่าง รัตนะรัต และนายสมัคร บุราวาศ ให้มาร่วมทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2485 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ดำเนินการทดลองถลุงเหล็กได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยการสนับสนุนของรัฐบาล โดยรัฐบาลคาดหวังว่าจะผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 100 ตันต่อวัน ทั้งนี้การทดลองถลุงเหล็กมีความจำเป็นในการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อดำเนินการผลิตต่อไปให้ได้ ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรใหม่จากต่างประเทศได้ตามความต้องการเนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยที่มีผู้นำทางการเมืองคือ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอให้กองทัพเรือซึ่งมีเตาถลุงเหล็กแบบ Bessemer ดำเนินการร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเหล็กต่อไป

    ในปี พ.ศ.2490 รัฐบาลตั้งกรรมการ 2 คน คือ นายประวัติ สุขุม อธิบดีกรมโลหะกิจ และ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ มาเจรจาเรื่องอุตสาหกรรมเหล็กกับกองทัพเรือ โดยมีกรรมการผู้แทนกองทัพเรือ ได้แก่ น.อ.จำรัส เภกะนันท์ รน.,น.อ.ชลี สินธุโสภณ รน.,น.อ.ฉาด แสง-ชูโต รน. ซึ่งทั้ง 3 ท่านยังคงทำงานร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต่อไป แม้ว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตัดสินใจดำเนินอุตสาหกรรมเหล็กต่อไปเอง โดยใช้เตาถลุงเหล็กแบบ Open Hearth

    การรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 นำโดยคณะทหารบกซึ่งได้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลไทยยังมีนโยบายสนับสนุนให้มีการขยายกำลังการผลิตเหล็กให้เพิ่มขึ้นต่อไป ในปี พ.ศ.2493 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเรื่องอุตสาหกรรมเหล็กจากเดนมาร์ก และในปี พ.ศ.2494-2496 ได้ส่งพนักงานบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไปฝึกอบรมทุกปีทั้งที่ญี่ปุ่นและในยุโรป ทั้งได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เดินทางไปเปิดเตาเหล็กกล้าที่โรงงานท่าหลวงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2496 จนถึงปี พ.ศ. 2499 อุตสาหกรรมเหล็กเริ่มทำกำไร และทำให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ.2503 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด สั่งซื้อเตาไฟฟ้าเตาแรกมาใช้ ทำให้สามารถขยายการหลอมเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    แต่ด้วยปริมาณแหล่งแร่เหล็กที่มีอยู่จำกัดของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงทำให้ในช่วงปี พ.ศ.2503-2507 เป็นช่วงการแสวงหาแหล่งแร่เหล็กใหม่ ๆ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ จ.นครสวรรค์ กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา ในที่สุดกลับเป็นการสำรวจแหล่งแร่เหล็กเดิมใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2507 คือที่เขาทับควาย จ.ลพบุรี แล้วพบปริมาณแร่เหล็กถึง 7 ล้านตัน ด้วยความมั่นใจในปริมาณแหล่งแร่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างจริงจังจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการจดทะเบียนดำเนินกิจการบริษัทเหล็กสยาม จำกัด เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2509

    ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2500 ต่อมาได้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายส่งสริม การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยให้การส่งเสริมการลงทุน และยังให้การสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยต่อไป ซึ่งทางบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลหลายครั้งด้วยกัน สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมซึ่งรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาให้การสนับสนุนการทำธุรกิจโดยเสรี โดยรัฐไม่เข้าไปเป็นเจ้าของดำเนินกิจการเองเหมือนสมัยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผลที่ตามมาประการหนึ่งของการตั้งบริษัทเหล็กสยาม จำกัด คือการเชิญนายบุญมา วงศ์สวรรค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งต่อมาภายหลังได้เป็นกรรมการและเป็นผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในปี พ.ศ.2517

    การเตรียมการครั้งใหญ่ก็เพื่อแสวงหาเงินทุน ก่อนที่จะพบข้อจำกัดในช่วงปี พ.ศ.2516 ว่าถ้าต้องการลงทุนเพิ่มด้วยการกู้ยืมเงินหรือหาผู้ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรรมเหล็กแล้ว ควรต้องแยกการผลิตเหล็กรีดกับเหล็กหล่อออกจากกัน

    จากจุดเริ่มต้นนั้น ซึ่งมาจากแรงบันดาลใจของแนวทางพัฒนาประเทศในสมัยหนึ่ง จากอิทธิพลและการสนับสนุนจากรัฐบาล อุตสาหกรรมของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มต้นอย่างจริงจัง  
    ป้ายคำค้น :
    ท่าหลวง , อุตสาหกรรมเหล็ก , ปรีดี , พนมยงค์ , 2505 , จ่าง , รัตนะรัต , สมัคร , บุราวาศ
  • ชื่อ
    พ.ศ.2475 เปลี่ยนแปลงการปกครอง
    รายละเอียด :
    คณะราษฎรแบ่งสมาชิกจำนวน 102 นาย ออกเป็น 3 สาย คือ

    สายทหารบก จำนวน 34 นาย มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า

    สายทหารเรือ 18 นาย มีนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย(สินธุ์ กมลนาวิน)    เป็นหัวหน้า

    สายพลเรือน 50 นาย มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า

    ทั้ง 3 สายตกลงให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสที่สุด (อายุ 45 ปี) เป็นหัวหน้าคณะราษฎร

    ความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มจากนายปรีดี พนมยงค์ สนทนากับ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่กรุงปารีส ตกลงร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปี    พ.ศ.2468  ต่อมามีการประชุมครั้งแรกที่กรุงปารีส ในปี พ.ศ.  2470 มีผู้ร่วมประชุม 7 นาย คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี  ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ(หลวงพิบูลสงคราม)     ร.ต.ทัศนัย นิยมศึก (หลวงทัศนัยนิยมศึก)    นายตั้ว ลพานุกรม หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) นายแนบ พหลโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งที่ประชุมได้ตกลงกัน “เปลี่ยนแปลงการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย”

    ในเวลาอีก 1 เดือนต่อมา นายปรีดีฯ เดินทางกลับประเทศไทย แต่ ร.ท.ประยูรฯ อยู่ต่อในระหว่างปี พ.ศ.2470 - 2472 ได้หาสมาชิกเพิ่มได้อีกหลายคนรวมทั้ง ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ร.น.(หลวงสินธุสงครามชัย)  นายควง อภัยวงศ์  นายทวี บุณยเกตุ  ดร.ประจวบ บุนนาค ม.ล.อุดม สนิทวงศ์  นายบรรจง    ศรีจรูญ  และ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช

    คณะราษฎรได้อ่านแถลงการณ์ “ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1” และเข้าควบคุมตัวบุคคลสำคัญในกรุงเทพฯ ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ในวันเดียวกันได้ส่งหนังสือกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในเวลานั้นเสด็จไปประทับอยู่ที่หัวหิน ได้เสนอให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เท่าที่มีอยู่ที่หัวหินในขณะนั้น เพื่อพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ก่อนทรงตัดสินพระทัยยอมทำตามข้อเสนอดังกล่าว โดยมีพระราชหัตถเลขาตอบในเช้าวันที่ 25 มิถุนายน และเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพ ฯ ทางรถไฟในค่ำวันนั้น และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ในวันที่ 26 มิถุนายน และได้ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง โดยเพิ่มคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป ในวันที่ 27 มิถุนายน โดยทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และคณะราษฎรถือว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ถาวร” ขึ้นภายใน 6 เดือน โดยให้เป็นที่ยอมรับได้จากทั้งสองฝ่าย

    ใน "ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ได้วาง หลัก 6 ประการของคณะราษฎรคือ

    รักษาเอกราชของประเทศ  

    รักษาความปลอดภัยในประเทศ  

    บำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ประชาชนอดอยาก

    ให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน ให้ราษฎรมีเสรีภาพเมื่อไม่ขัดกับหลัก 4 ข้อแรก

    ให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่

    (เรียบเรียงจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2475 การปฏิวัติสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543. หน้า 14-23))

    ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมได้ถูกนำมาใช้ โดยรัฐบาลบังคับซื้อกิจการต่างชาติที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศจำนวนหนึ่ง และสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนไทยให้มีบทบาททางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และรณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

    นายปรีดี พนมยงค์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ.2479 - 2480) ได้เจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับชาติตะวันตกได้สำเร็จ ทำให้ต่อมาเมื่อนายปรีดี ฯ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ.2481 - 2484) ประเทศไทยได้เริ่มตั้งกำแพงภาษีนำเข้าขึ้น  
    ป้ายคำค้น :
    คณะราษฎร , ปรีดี , พนมยงค์ , 2475 , เปลี่ยนแปลงการปกครอง