พ.ศ.2481

  • ชื่อ
    พ.ศ.2481 เริ่มต้นธุรกิจต่อเนื่อง : ผลิตภัณฑ์กระเบื้องซีเมนต์
    รายละเอียด :
    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มีเรื่องราวที่เกิดจากแรงบีบคั้นและแรงจูงใจจากสถานการณ์ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันได้สร้างโมเดลธุรกิจที่มีบุคลิกเฉพาะที่น่าสนใจเสมอ แม้กระทั่งการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่นอกจากปูนซีเมนต์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม

    “บริษัทไม่มีความเต็มใจเลยที่จะทำการค้าวัตถุสำเร็จรูปที่ทำจากปูนซีเมนต์หรือคอนกรีต เพราะบริษัทไม่มีนโยบายที่จะแข่งขันกับลูกค้าของบริษัทเอง...แต่ในบางคราวบางสมัยก็ต้องมีการยกเว้นบ้าง เช่น ในกรณีที่ริเริ่มขึ้นใหม่ เพื่อชักจูงให้เกิดความนิยม....” หนังสือปูนซิเมนต์ไทยปี พ.ศ.2500 กล่าวไว้น่าจะถือเป็นแนวที่ค่อนข้างระมัดระวังในการขยายธุรกิจใหม่ในช่วง 20 ปีก่อนหน้า เพราะในช่วงปี พ.ศ.2500 ถือว่าในยุคของ Mr.Jespersen เป็นผู้จัดการทั่วไปอยู่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว

    การตั้งบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด เป็นบริษัทแรกที่แยกตัวออกมาจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด แต่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มาแต่ต้นนั้น มีเรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าศึกษามากทีเดียว

    บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2481 โดยทำการผลิตสินค้าที่ใช้ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ใยหินสำลี (เส้นใยแอสเบสตอส) หรือที่เรียกว่า Asbestos Cement ซึ่งมีการผลิตขึ้นครั้งแรกในโลก ก่อนหน้านั้นประมาณ 30 ปี เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างตามวิถีชีวิตที่พัฒนาไปของคนไทย สินค้าที่ผลิตครั้งแรก ได้แก่ กระเบื้องกระดาษมุงหลังคา ชนิดลอน กระเบื้องแผ่นเรียบ ทำฝ้าและชายคา

    “ชาวยุโรปร่างสูงผู้หนึ่งปรารภกับเพื่อนสนิทชาวไทย 3 คนว่า บัดนี้เมืองไทยก็มีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์มาได้ 25 ปีแล้ว จึงไม่ควรให้ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์จากต่างประเทศ เช่น ท่อหรือกระเบื้องแอสเตซซีเมนต์เข้ามาขายในตลาดเมืองไทยอีก ควรจะคิดตั้งโรงงานผลิตสินค้าเสียเองจะเหมาะกว่าและยังเป็นการส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ให้แพร่หลายออกไปอีกด้วย” จากหนังสือที่ระลึกเนื่องในวาระครอบรอบ 25 ปี บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด (พ.ศ.2481-2506)

    จากข้อมูลการตั้งบริษัทนี้ ผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้นและกรรมการในยุคก่อตั้ง อาจจะเรียกได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เลย กล่าวคือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไม่ได้ถือหุ้น ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทในการประชุมคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Promoter ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการลงทุนตั้งบริษัทใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานหรือเครื่องจักร บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยในตอนต้น

    นักลงทุนกลุ่มนี้ประกอบด้วยพ่อค้า นักธุรกิจชั้นนำในเวลานั้น ในยุคนั้นที่สำคัญได้แก่ นายเม้ง ตันสัจจา นายสง่า วรรณดิษฐ์ (เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งหอการค้าไทย) และหลวงพัฒนพงศ์พาณิชย์ (เจ้าของที่ดินแหล่งดินขาวที่บ้านหมอ จังหวัดสระบุรี) คือคนทั้งสามที่เป็นเพื่อนชาวยุโรปร่างสูงก็คือ Mr.Jespersen ผู้จัดการทั่วไปบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    สถานการณ์ในช่วงนั้นถือเป็นช่วงวิกฤตการณ์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่าที่พิจาณาข้อมูลตัวเลขการขายปูนซีเมนต์ในช่วงนี้ก็ไม่เติบโตมากนัก ทั้งอยู่ระหว่างการริเริ่มการก่อสร้างโรงงานท่าหลวงและริเริ่มกิจการผลิตเหล็กในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เป็นการมองการณ์ระยะพอสมควรในการลงทุนเรื่องนี้ เข้าใจว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด คงไม่มีเงินลงทุนมากพอจะขยายกิจการหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน

    อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ตั้งใหม่นี้ ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไม่ได้ลงทุน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ชนิดแยกไม่ออก ทั้งนี้เพราะบริษัทใหม่มีสัญญากับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่มีสาระสำคัญที่เป็นสัญญาการบริหารกิจการฉบับแรกของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ทำกับบริษัทอื่น

    สัญญานี้มีสาระสำคัญ นอกเหนือจากที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด รับจ้าง บริหารบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด นี้แล้ว

    ประการแรก บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด สัญญาจะซื้อปูนซีเมนต์จากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นเวลา 10 ปี

    ประการที่สอง สินค้าที่ผลิตได้ของบริษัทกระเบื้องกระดาษไทยจะมอบหมายให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว

    โมเดลนี้ผู้ลงทุนก็จะแบ่งปันผลกำไรจากกิจการที่ดีที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกิจการที่ไม่มีการแข่งขัน ขณะที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยไม่ได้ลงทุน แต่ได้รับผลตอบแทนทั้งสามด้าน ทั้งการขายซีเมนต์จำนวนที่แน่นอนในช่วงสถานการณ์ไม่ดีนัก ค่าจัดจำหน่ายสินค้าและที่สำคัญคือค่าบริหารบริษัท

    การบริหารกิจการบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ในระยะแรก (พ.ศ.2481-2503) อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “การอำนวยการ”) จนถึงปี พ.ศ. 2500 จึงมีการแยกคนงานบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ออกจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และปี พ.ศ.2503 จึงแยกการบริหารออกจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้

    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2487 โรงงานต้องปิดกิจการลงเพราะโรงงานปูนซีเมนต์ถูกทิ้งระเบิด ไม่สามารถป้อนวัตถุดิบได้ จึงมีความคิดจะขายกิจการให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด แต่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เพียงรับดูแลพนักงานไปพลางก่อน เมื่อสงครามเสร็จสิ้นจึงคิดขายกิจการ แต่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่มีเงินทุนเพียงพอ ซึ่งขอให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้น เข้าใจว่าเป็นช่วงเดียวกันที่มีหลักฐานว่าในปี พ.ศ.2494 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ถือหุ้นประมาณ 50% ด้วย ทั้งนี้มีการเพิ่มทุนจาก 1 ล้านบาทในปี พ.ศ.2484 มาเป็น 10 ล้านบาทในปี พ.ศ.2494 เนื่องด้วยมีการขยายกำลังการผลิตอย่างมาก ในช่วงสงครามเกาหลีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากช่วงหนึ่งและเป็นการวางแผนการขยายตัวต่อเนื่องจากนั้นมา ในตอนนั้นผู้ถือหุ้นเดิมต้องการผู้ร่วมทุนใหม่ โดยพยายามติดต่อผู้งลงทุนในต่างประเทศ โดยขอให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ถือหุ้นจำนวนหนึ่ง ครั้งต่อมาไม่สามารถหาผู้ลงทุนในต่างประเทศได้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงต้องเข้าถือหุ้นส่วนที่เหลือ (รวมทั้งให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นด้วย) จากนั้นก็มีการเพิ่มทุนเท่าตัวในเพียง 4 ปี จากนั้น (พ.ศ. 2498) บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จำต้องเข้าถือหุ้นมากขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกันกิจการก็เติบโตไปด้วยดี จากสถิติจำหน่ายจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นนับสิบเท่าในช่วงเพียง 10 ปี (จากประมาณ 150,000 ตารางเมตรในปี พ.ศ.2491 เพิ่มเป็นประมาณ 13 ล้านตารางเมตรในปี พ.ศ.2499)

    เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด มีผู้บริหารเป็นชาวเดนมาร์กอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง Mr.Jespersen เมื่อลาออกจากตำแหน่ง  ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็ได้มารับตำแหน่งที่ปรึกษาของบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ต่อไปและบริษัทนี้ยังมีผู้บริหารชาวเดนมาร์กทำงานในตำแหน่งผู้จัดการตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 จนถึง พ.ศ.2519 ซึ่งถือว่าเป็นชาวเดนมาร์กคนสุดท้ายที่บริหารกิจการในเครือซิเมนต์ไทย

    บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามโมเดลกิจการต่อเนื่องที่เพิ่มชนิดสินค้าพร้อม ๆ กับขยายตัวทางภูมิศาสตร์ ทั้งนี้เพราะสินค้าเหล่านี้ต้องการการขนส่งที่สั้นและต้นทุนต่ำไปถึงมือผู้ใช้  
    ป้ายคำค้น :
    Jespersen , บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด , Asbestos Cement , Friis , เม้ง , ตันสัจจา , สง่า , วรรณดิษฐ์ , หลวงพัฒนพงศ์พาณิชย์ , พ.ศ.2481
  • ชื่อ
    พ.ศ.2495 เริ่มต้นธุรกิจต่อเนื่อง : ผลิตภัณฑ์คอนกรีต
    รายละเอียด :
    การก่อตั้งบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด มีสาเหตุมาจากปัญหาการจัดหาทรายส่งขายให้แก่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เพราะจำเป็นต้องใช้ทรายละเอียดในการผลิตปูนซีเมนต์ "ตราเสือ" ซึ่งในช่วงก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มีความต้องการเป็นปริมาณถึง 300 ตัน และมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องซื้อทรายจากคนจีนที่เป็นผู้รับเหมาหาทรายมาให้กับบริษัทเพียงทางเดียว นอกจากนี้ยังมีปัญหาอุปสรรคประการหนึ่งคือ ในช่วงฤดูน้ำมากผู้รับเหมาไม่สามารถจัดหาทรายส่งให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ เพราะราคาทรายในตลาดมีราคาสูงกว่าปกติมาก ทำให้การผลิตปูนซีเมนต์ประสบปัญหาตามไปด้วย ดังนั้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องการให้มีการจัดหาทรายส่งให้กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ตามจำนวนที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นฤดูน้ำมากหรือฤดูน้ำน้อย จึงตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อขุดหาทรายโดยใช้เครื่องสูบ ซึ่งสามารถหาทรายได้เสมอไม่ว่าฤดูกาลใด นอกจากนี้ยังสามารถสะสมทรายไว้ใช้ได้อีกด้วย แล้วยังขยายไปจัดหาวัตถุดิบอื่น ๆ ให้กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ต่อไปด้วย

    บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม  พ.ศ.2495 เท่าที่มีหลักฐานมีความพยายามในการผลิตสินค้าคอนกรีตก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีการรับนายช่างคนไทยมีความรู้เรื่องนี้เข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 ได้แก่ ม.ร.ว.รพีพันธุ์ เกษมศรี ซึ่งจบการศึกษาวิศวกรรมจากประเทศอังกฤษและทำงานอยู่กรมชลประทานมาด้วย

    ต่อมาปี พ.ศ.2499 บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เปิดโรงงานที่แขวงบางซ่อน เชิงสะพานพระราม 6 ฝั่งพระนคร เริ่มทำการผลิตเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรง เสาโทรเลข เสาเข็ม และคานสะพานคอนกรีตอัดแรง ปี พ.ศ.  2504 เริ่มผลิตท่อคอนกรีตเสริมเหล็กโดยใช้เครื่องจักรเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

    ทั้งนี้การขยายการผลิตคอนกรีตครั้งแรกหลังจากก่อตั้งบริษัทมาถึง 4 ปี เนื่องมาจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้เข้าเป็นคู่ค้าบริษัทสหวิศวการโยธา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้สร้างสนามบินตาคลี และนครราชสีมา บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นคู่สัญญาขายส่งปูนซีเมนต์ไปสร้างสนามบิน ตั้งแต่ในช่วงปลายปี    พ.ศ.2499 ต่อมาบริษัทสหวิศวการโยธา จำกัด มีปัญหาไม่สามารถทำงานต่อได้ ทางการขอให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด รับช่วงต่อ ซึ่งมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2501 โดยเข้าไปครอบครองกิจการบริษัทนี้

    บริษัทสหวิศวการโยธา จำกัด ก่อตั้งโดยหลวงยุกตเสรีวิวัฒน์ วิศวกรผู้มีความรู้ด้านคอนกรีตอัดแรง (Pre stressed Concrete) โดยมีผลงานสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงข้ามแม่น้ำบางปะกงครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ.2493 ผลจากการเข้าครอบครองกิจการนี้ทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ความรู้เรื่องการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงมาด้วย แล้วบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็เริ่มผลิตบล็อคปูถนนซีแพ็ค (CPAC Block) ในปี พ.ศ.2505 หลังจากได้เข้าครอบครองกิจการบริษัทสหวิศวการโยธา จำกัด แล้ว  
    ป้ายคำค้น :
    บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด , ผลิตภัณฑ์คอนกรีต , บริษัทสหวิศวการโยธา จำกัด , หลวงยุกตเสรีวิวัฒน์ , คอนกรีตอัดแรง , บล็อคปูถนนซีแพ็ค , พ.ศ.2481