Jespersen

  • ชื่อ
    Carsten Friis Jespersen
    รายละเอียด :
    คาร์สเตน ฟรีส เยสเปอร์เซ่น  
    ป้ายคำค้น :
    ผู้จัดการใหญ่ , president , Jespersen , C. Friis , คาร์สเตน , ฟรีส , เยสเปอร์เซ่น
  • ชื่อ
    พ.ศ.2478 Mr.Carsten Friis Jespersen กรรมการผู้จัดการคนที่ 3
    รายละเอียด :
     Mr.C.F. Jespersen ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นเวลาถึง 24 ปี ในช่วงสถานการณ์ที่สังคมไทยเผชิญปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความเสื่อมของอิทธิพลยุโรปในภูมิภาคและการเริ่มต้นเข้ามาของอิทธิพลสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ภายใต้การบริหารของ Mr.C.F. Jespersen มีเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีสีสันเกิดขึ้นอย่างมากมาย

    Mr.Jespersen เข้าทำงานกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในตำแหน่งนายช่างก่อสร้าง ในช่วงยากลำบากภายหลังสงครามในยุโรป จากข้อมูลเชื่อว่าเขามีความรู้วิศวกรโยธาระดับอนุปริญญา เท่าที่คำนวณได้น่าจะมีอายุประมาณ 24 ปี ซึ่งแสดงว่าเขามีประสบการณ์ทำงานมาแล้วช่วงหนึ่งตามคุณสมบัติที่กรรมการผู้จัดการคนก่อนกำหนดไว้ว่าควรมีความรู้ด้านโรงงานปูนซีเมนต์ด้วย เนื่องจากช่วงนั้นไม่สามารถว่าจ้างวิศวกรระดับปริญญาได้

    Mr.Jespersen เข้ามาทำงานในช่วงที่มีการขยายกำลังการผลิตมากที่สุด ดังนั้นความรับผิดชอบด้านการก่อสร้างจึงมีมากเป็นเงาตามตัว "ผมเดินทางมาถึงประเทศไทย เดือนมกราคมปี พ.ศ.2469 โดยมารับตำแหน่งเป็นวิศวกรโยธารับผิดชอบงานด้านก่อสร้างทั้งหลาย งานชิ้นแรกของผมก็คือ ทำแผนที่ที่ถูกต้องของแหล่งดินขาวที่บ้านหมอ" Mr.Jespersen เล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความ "เบื้องหลังของท่าหลวง" ในหนังสือครบรอบ 70 ปีของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    หลังจากใช้เวลาทำงานอยู่ในเมืองไทย 9 ปี ก็ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่คนที่ 3 ในวัยราว 33 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงสถานการณ์ผันแปรมากที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด นั่นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475

    จากจุดนี้ถือเป็นการเริ่มต้นบทบาทของคนไทยที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานมากขึ้น ช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา สำหรับผู้บริหารชาวเดนมาร์กทั่วไป อาจจะเป็นเรื่องยากในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ แต่สำหรับ Mr.Jespersen ดูเหมือนไม่ยากนัก

    จากหนังสือครบรอบ 70 ปีของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (พ.ศ.2526) Mr.Jespersen ได้เล่าเรื่องเบื้องหลังการสร้างโรงงานท่าหลวงไว้อย่างตื่นเต้น เกี่ยวกับความพยายามเจรจากับรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งเป็นความพยายามที่จะยับยั้งแผนการก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่ที่ท่าหลวงจากการสนับสนุนของรัฐบาล

    "ผมตัดสินใจเข้าพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อจะหาข้อเท็จจริงให้กระจ่างยิ่งขึ้น โดยขอให้ท่านช่วยยืนยันข่าวดังกล่าว และขณะเดียวกันก็เสนอว่าหากเรื่องนี้เป็นจริง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็จะยุติแผนการสร้างโรงงานท่าหลวง" Mr.Jespersen เล่าเรื่องนี้ต่อไปว่าได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งนี้โรงงานที่รัฐบาลสนับสนุนจะผลิตปูนซีเมนต์ในราคาถูกกว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และ Mr.Jespersen ยังพบว่าข้อมูลของโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่แทบจะเป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด "ท่านจึงเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสั่งให้เลขานุการร่างจดหมายเป็นภาษาอังกฤษตามคำที่ท่านบอก ใจความจดหมายก็คือให้คำรับรองกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ว่ารัฐบาลล้มเลิกแผนการสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่ที่อำเภอท่าเรือ ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ขยายโรงงานตามแผนการที่กำหนดไว้”

    เรื่องนี้ สามารถตีความได้ อย่างน้อย 2 ประการ

    ประการแรก Mr.Jespersen เป็นคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับนักการเมืองผู้มีอำนาจในรัฐบาลได้เป็นอย่างดี เรื่องนี้ นายกนก พงศ์พิพัฒน์ ซึ่งเข้าทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 มีโอกาสทำงานคลุกคลีกับ Mr.Jespersen ไม่น้อยกว่า 10 ปี ได้เล่าถึงบุคลิกของเขาไว้ในทำนองเดียวกันว่า "นายห้างเอาเตียงผ้าใบไปกางนอนอยู่หน้าทำเนียบเลยนะ จะขออะไรรัฐบาลทีก็ไปอยู่ที่นั่น แกเข้ากับรัฐบาลเก่ง คนชอบเหมือนเถ้าแก่จีนคนหนึ่ง"

    จากข้อมูลที่มี แสดงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง Mr.Jespersen กับวงการธุรกิจในสมัยนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ความคิดในการจัดตั้งบริษัทการค้าการจำหน่ายไปจนถึงแนวคิดโครงการที่กระบี่ ล้วนปรากฏหลักฐานว่า Mr.Jespersen มีความคิดร่วมมือกับนักธุรกิจไทยเสมอ

    อีกประการหนึ่งแสดงให้เห็นว่า Mr.Jespersen ให้ความสำคัญกับโครงการท่าหลวงอย่างมาก โครงการนี้มีความหมายกว่าที่เคยมีการตีความกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงานใกล้แหล่งวัถตุดิบหรือจะลดต้นทุนการขนส่งสู่ตลาดภาคกลางที่มีความต้องการปูนซีเมนต์มากขึ้น นั่นเป็นภาพสำคัญส่วนหนึ่ง หากพิจารณาจากหนังสือครบรอบ 40 ปีแล้ว (ปี พ.ศ.2497) จะพบว่าจินตนาการโครงการท่าหลวงของ Mr.Jespersen มีความหมายกว่านั้นมาก

    โครงการท่าหลวงในมุมมองของกรรมการผู้จัดการคนนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ในลักษณะเมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกที่ตั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นกระบวนการสร้างเมืองใหม่ ด้วยพื้นฐานของวิศวกรโยธา จึงมุ่งเน้นให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนจากการกู้ยืมจำนวนมาก เพื่อให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร มีลักษณะพึ่งตนเอง แนวความคิดดังกล่าวนี้ได้รับการทักท้วงจากคณะกรรมการหลายครั้ง และอาจเป็นต้นเหตุของการลาออกจากตำแหน่งของเขาด้วย แม้ว่าในเวลาต่อมาแนวคิดที่เน้นโครงการใหญ่และมุ่งลงทุนในภูมิภาคจะถือว่าเป็นความคิดที่มองการณ์ไกลก็ตาม

    Mr.Jespersen ขอลาออกจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในปี พ.ศ.2502 แต่ก็ยังคงเป็นที่ปรึกษากรรมการที่สำคัญ ได้รับผิดชอบโครงการอ่าวลึก จ.กระบี่ ซึ่งเป็นโครงการตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งใหม่ในภาคใต้ของไทย ซึ่งเขาริเริ่มและให้ความสำคัญอย่างมากไม่แพ้โครงการท่าหลวง

    แนวความคิดของโครงการกระบี่คือโรงงานปูนซีเมนต์ที่สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศผ่านทางทะเลอันดามันได้ ขณะที่คณะกรรมการยังไม่เห็นความจำเป็น แต่ Mr. Jespersen ยังดำเนินแผนการต่อไป

    ตามแผนการนี้จะเป็นโรงงานปูนซีเมนต์ที่มีการร่วมลงทุนของหลายฝ่าย ซึ่งแนวความคิดนี้ขัดแย้งกับคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างมาก สถานการณ์ขณะนั้นคนไทยเริ่มควบคุมการบริหารงานบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มากขึ้น ภายใต้กระแสทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมและความพยายามจะลดบทบาทและอิทธิพลของชาวเดนมาร์ก ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จะตั้งโรงงานแห่งใหม่โดยร่วมทุนกับชาวต่างประเทศ

    จากจุดนี้ก็อาจมองได้ว่า หากโครงการที่อ่าวลึก จ.กระบี่ เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นหลายฝ่าย Mr.Jespersen ก็มีบทบาทในการบริหารงานได้อย่างเต็มที่มากกว่าที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

    อย่างไรก็ตามในยุคของ Mr.Jespersen บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด มีพัฒนาการที่น่าสนใจหลายประการ นอกจากที่กล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง การตั้งบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด และบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด รวมทั้งร่วมมือกับภาครัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็ก

    นอกจากนี้มีหลักฐานว่า Mr.Jespersen ดำเนินธุรกิจระหว่างดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ โดยมีเอกสารโต้ตอบระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และ Mr. Jespersen ซึ่งเป็นสำนักงานที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมตั้งอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างปี พ.ศ.2478 - 2489 ด้วย



    ประวัติบุคคลสำคัญในเนื้อหา


    1. C. Friis Jespersen
    2. พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
    3. กนก พงศ์พิพัฒน์


     
    ป้ายคำค้น :
    กรรมการผู้จัดการ , Jespersen , Carlsten Friis , พ.ศ.2478
  • ชื่อ
    พ.ศ.2481 เริ่มต้นธุรกิจต่อเนื่อง : ผลิตภัณฑ์กระเบื้องซีเมนต์
    รายละเอียด :
    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มีเรื่องราวที่เกิดจากแรงบีบคั้นและแรงจูงใจจากสถานการณ์ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันได้สร้างโมเดลธุรกิจที่มีบุคลิกเฉพาะที่น่าสนใจเสมอ แม้กระทั่งการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่นอกจากปูนซีเมนต์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม

    “บริษัทไม่มีความเต็มใจเลยที่จะทำการค้าวัตถุสำเร็จรูปที่ทำจากปูนซีเมนต์หรือคอนกรีต เพราะบริษัทไม่มีนโยบายที่จะแข่งขันกับลูกค้าของบริษัทเอง...แต่ในบางคราวบางสมัยก็ต้องมีการยกเว้นบ้าง เช่น ในกรณีที่ริเริ่มขึ้นใหม่ เพื่อชักจูงให้เกิดความนิยม....” หนังสือปูนซิเมนต์ไทยปี พ.ศ.2500 กล่าวไว้น่าจะถือเป็นแนวที่ค่อนข้างระมัดระวังในการขยายธุรกิจใหม่ในช่วง 20 ปีก่อนหน้า เพราะในช่วงปี พ.ศ.2500 ถือว่าในยุคของ Mr.Jespersen เป็นผู้จัดการทั่วไปอยู่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว

    การตั้งบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด เป็นบริษัทแรกที่แยกตัวออกมาจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด แต่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มาแต่ต้นนั้น มีเรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าศึกษามากทีเดียว

    บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2481 โดยทำการผลิตสินค้าที่ใช้ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ใยหินสำลี (เส้นใยแอสเบสตอส) หรือที่เรียกว่า Asbestos Cement ซึ่งมีการผลิตขึ้นครั้งแรกในโลก ก่อนหน้านั้นประมาณ 30 ปี เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างตามวิถีชีวิตที่พัฒนาไปของคนไทย สินค้าที่ผลิตครั้งแรก ได้แก่ กระเบื้องกระดาษมุงหลังคา ชนิดลอน กระเบื้องแผ่นเรียบ ทำฝ้าและชายคา

    “ชาวยุโรปร่างสูงผู้หนึ่งปรารภกับเพื่อนสนิทชาวไทย 3 คนว่า บัดนี้เมืองไทยก็มีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์มาได้ 25 ปีแล้ว จึงไม่ควรให้ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์จากต่างประเทศ เช่น ท่อหรือกระเบื้องแอสเตซซีเมนต์เข้ามาขายในตลาดเมืองไทยอีก ควรจะคิดตั้งโรงงานผลิตสินค้าเสียเองจะเหมาะกว่าและยังเป็นการส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ให้แพร่หลายออกไปอีกด้วย” จากหนังสือที่ระลึกเนื่องในวาระครอบรอบ 25 ปี บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด (พ.ศ.2481-2506)

    จากข้อมูลการตั้งบริษัทนี้ ผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้นและกรรมการในยุคก่อตั้ง อาจจะเรียกได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เลย กล่าวคือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไม่ได้ถือหุ้น ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทในการประชุมคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Promoter ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการลงทุนตั้งบริษัทใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานหรือเครื่องจักร บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยในตอนต้น

    นักลงทุนกลุ่มนี้ประกอบด้วยพ่อค้า นักธุรกิจชั้นนำในเวลานั้น ในยุคนั้นที่สำคัญได้แก่ นายเม้ง ตันสัจจา นายสง่า วรรณดิษฐ์ (เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งหอการค้าไทย) และหลวงพัฒนพงศ์พาณิชย์ (เจ้าของที่ดินแหล่งดินขาวที่บ้านหมอ จังหวัดสระบุรี) คือคนทั้งสามที่เป็นเพื่อนชาวยุโรปร่างสูงก็คือ Mr.Jespersen ผู้จัดการทั่วไปบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    สถานการณ์ในช่วงนั้นถือเป็นช่วงวิกฤตการณ์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่าที่พิจาณาข้อมูลตัวเลขการขายปูนซีเมนต์ในช่วงนี้ก็ไม่เติบโตมากนัก ทั้งอยู่ระหว่างการริเริ่มการก่อสร้างโรงงานท่าหลวงและริเริ่มกิจการผลิตเหล็กในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เป็นการมองการณ์ระยะพอสมควรในการลงทุนเรื่องนี้ เข้าใจว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด คงไม่มีเงินลงทุนมากพอจะขยายกิจการหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน

    อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ตั้งใหม่นี้ ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไม่ได้ลงทุน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ชนิดแยกไม่ออก ทั้งนี้เพราะบริษัทใหม่มีสัญญากับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่มีสาระสำคัญที่เป็นสัญญาการบริหารกิจการฉบับแรกของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ทำกับบริษัทอื่น

    สัญญานี้มีสาระสำคัญ นอกเหนือจากที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด รับจ้าง บริหารบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด นี้แล้ว

    ประการแรก บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด สัญญาจะซื้อปูนซีเมนต์จากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นเวลา 10 ปี

    ประการที่สอง สินค้าที่ผลิตได้ของบริษัทกระเบื้องกระดาษไทยจะมอบหมายให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว

    โมเดลนี้ผู้ลงทุนก็จะแบ่งปันผลกำไรจากกิจการที่ดีที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกิจการที่ไม่มีการแข่งขัน ขณะที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยไม่ได้ลงทุน แต่ได้รับผลตอบแทนทั้งสามด้าน ทั้งการขายซีเมนต์จำนวนที่แน่นอนในช่วงสถานการณ์ไม่ดีนัก ค่าจัดจำหน่ายสินค้าและที่สำคัญคือค่าบริหารบริษัท

    การบริหารกิจการบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ในระยะแรก (พ.ศ.2481-2503) อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “การอำนวยการ”) จนถึงปี พ.ศ. 2500 จึงมีการแยกคนงานบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ออกจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และปี พ.ศ.2503 จึงแยกการบริหารออกจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้

    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2487 โรงงานต้องปิดกิจการลงเพราะโรงงานปูนซีเมนต์ถูกทิ้งระเบิด ไม่สามารถป้อนวัตถุดิบได้ จึงมีความคิดจะขายกิจการให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด แต่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เพียงรับดูแลพนักงานไปพลางก่อน เมื่อสงครามเสร็จสิ้นจึงคิดขายกิจการ แต่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่มีเงินทุนเพียงพอ ซึ่งขอให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้น เข้าใจว่าเป็นช่วงเดียวกันที่มีหลักฐานว่าในปี พ.ศ.2494 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ถือหุ้นประมาณ 50% ด้วย ทั้งนี้มีการเพิ่มทุนจาก 1 ล้านบาทในปี พ.ศ.2484 มาเป็น 10 ล้านบาทในปี พ.ศ.2494 เนื่องด้วยมีการขยายกำลังการผลิตอย่างมาก ในช่วงสงครามเกาหลีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากช่วงหนึ่งและเป็นการวางแผนการขยายตัวต่อเนื่องจากนั้นมา ในตอนนั้นผู้ถือหุ้นเดิมต้องการผู้ร่วมทุนใหม่ โดยพยายามติดต่อผู้งลงทุนในต่างประเทศ โดยขอให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ถือหุ้นจำนวนหนึ่ง ครั้งต่อมาไม่สามารถหาผู้ลงทุนในต่างประเทศได้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงต้องเข้าถือหุ้นส่วนที่เหลือ (รวมทั้งให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นด้วย) จากนั้นก็มีการเพิ่มทุนเท่าตัวในเพียง 4 ปี จากนั้น (พ.ศ. 2498) บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จำต้องเข้าถือหุ้นมากขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกันกิจการก็เติบโตไปด้วยดี จากสถิติจำหน่ายจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นนับสิบเท่าในช่วงเพียง 10 ปี (จากประมาณ 150,000 ตารางเมตรในปี พ.ศ.2491 เพิ่มเป็นประมาณ 13 ล้านตารางเมตรในปี พ.ศ.2499)

    เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด มีผู้บริหารเป็นชาวเดนมาร์กอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง Mr.Jespersen เมื่อลาออกจากตำแหน่ง  ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็ได้มารับตำแหน่งที่ปรึกษาของบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ต่อไปและบริษัทนี้ยังมีผู้บริหารชาวเดนมาร์กทำงานในตำแหน่งผู้จัดการตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 จนถึง พ.ศ.2519 ซึ่งถือว่าเป็นชาวเดนมาร์กคนสุดท้ายที่บริหารกิจการในเครือซิเมนต์ไทย

    บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามโมเดลกิจการต่อเนื่องที่เพิ่มชนิดสินค้าพร้อม ๆ กับขยายตัวทางภูมิศาสตร์ ทั้งนี้เพราะสินค้าเหล่านี้ต้องการการขนส่งที่สั้นและต้นทุนต่ำไปถึงมือผู้ใช้  
    ป้ายคำค้น :
    Jespersen , บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด , Asbestos Cement , Friis , เม้ง , ตันสัจจา , สง่า , วรรณดิษฐ์ , หลวงพัฒนพงศ์พาณิชย์ , พ.ศ.2481
  • ชื่อ
    พ.ศ.2484 คนไทยมีบทบาทบริหารมากขึ้น : ประธานกรรมการบริษัทจากคณะราษฎร
    รายละเอียด :
    การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2475 นั้นมีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างกว้างขวางรวมทั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วย

    ปี พ.ศ.2476 มีการปรับเปลี่ยนกรมพระคลังข้างที่เดิมเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีในระบอบการปกครองใหม่ ต่อมาปี พ.ศ.     2480 จึงตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แทนพระคลังข้างที่ โดยมีการบริหารในรูปคณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ (ประธานกรรมการขณะนั้น ได้แก่ นายปรีดี พนมยงศ์ ในฐานะรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการคลัง) กับกรรมการอีก 4 คนที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง แต่เนื่องจากในขณะนั้นรัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์และได้ประทับเพื่อศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์อยู่ จึงมีการแต่งตั้งบุคคลในคณะราษฎรซึ่งขณะนั้น ได้แก่ นายชุณห์ ปิณฑานนท์ เข้าเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

    เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามกฏหมาย โดย นายชุณห์ ปิณฑานนท์ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในทันที แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาตัวแทนพระคลังข้างที่มิได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแต่มอบหมายให้ผู้มีความรู้ความสามารถทำหน้าที่แทนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พระยาอรรถการประสิทธิ์ที่ปรึกษากฏหมายดำรงตำแหน่งประธานกรรมการท่านแรกอยู่ 5 ปี (พ.ศ.2458 – 2464) ต่อจากนั้น นาวาโท ดับบลิว แอล กรุต ในฐานะผู้ก่อตั้งและมีบทบาทสำคัญในฐานะกรรมการตั้งแต่ต้น ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการต่อเนื่องยาวนานมาถึง 20 ปี (พ.ศ.2464 - 2484)

    คณะราษฎรให้ความสนใจต่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างมาก ทั้งมีความตั้งใจอย่างชัดเจนเพื่อเข้ามาเปลี่ยนแปลงบริษัทแห่งนี้โดยเฉพาะการควบคุมและบริหารการเงินของบริษัท

    เมื่อนายชุณห์ ปิณฑานนท์ เข้ามาเป็นประธานกรรมการตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 ได้ประมาณ 1 ปีเศษ นาวาโท ดับบลิว แอล กรุต ซึ่งเป็นเพียงกรรมการในตอนนั้นจึงตัดสินใจลาออกจากกรรมการ และเดินทางกลับไปพำนักในยุโรปในปี พ.ศ.2483 นอกจากนี้ยังมีสมาชิกของคณะราษฎรอีกคนหนึ่งมาร่วมในฐานะกรรมการพร้อม ๆ กับนายชุณห์ฯ ตั้งแต่ปี 2482 ด้วย ได้แก่ ร.อ.วัน   รุยาพร สมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ

    ในระยะที่ผ่านมา 1 ปี มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หลายเรื่อง ซึ่งเริ่มต้นมาพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนบทบาทสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหาษัตริย์

    ในปี พ.ศ.2482 คณะราษฎรได้ตั้งบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด โดยรัฐบาลถือหุ้น 70% และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 30% โดยมีสมาชิกคณะราษฎรหลายคนเป็นกรรมการบริษัท เช่น นายจรูญ รัตนกุล (หลวงเสรีเรืองฤทธิ์)  นายเล้ง ศรีสมวงศ์  นายวิลาศ โอสถานนท์ หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด) เพื่อทำกิจการขายส่งและขายปลีกรายใหญ่ ทั้งสินค้านำเข้า สินค้าบริโภคที่ผลิตในประเทศให้กับชาวชนบท และส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศ

    ในปลายปี พ.ศ.2482 บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ได้แสดงความจำนงขอจัดจำหน่ายปูนซีเมนต์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด แต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่สามารถบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการรั่วไหลผ่านพ่อค้าคนกลางนำปูนซีเมนต์ออกมาขายแข่งขันกับบริษัทในราคาถูกกว่าราคาตลาด และมีการค้างจ่ายค่าปูนซีเมนต์กับบริษัทเป็นจำนวนมาก อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มีปัญหาทางการเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

    ในช่วงระยะเวลานั้น Mr.Jespersen กรรมการผู้จัดการและคณะกรรมการบริษัท ต้องปรับตัวและบริหารกิจการท่ามกลางความขัดแย้งและความยากลำบากหลายประการ เท่าที่มีหลักฐานการประชุมคณะกรรมการบริษัทมีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวถึง

    ได้เกิดความขัดแย้งในการบริหารงานของคณะกรรมการบริษัท เนื่องจากต้องการให้มีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ทีมผู้บริหารชาวเดนมาร์กต้องการให้กันเงินไว้สำหรับการลงทุนเพิ่มภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเกิดการขาดแคลนปูนซีเมนต์และต้องการเก็บเงินของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไว้ใช้จ่ายเพื่อรักษาสภาพคล่องในช่วงเวลานั้น ในที่สุดทีมผู้บริหารชาวเดนมาร์กเลือกกู้เงินจากบัญชีเบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft) มาจ่ายเงินปันผลและเก็บเงินของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไว้

    สถานการณ์ปัญหาด้านการเงินในส่วนนี้ดำรงอยู่ประมาณ 10 ปี ภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 ต่อมาในปี พ.ศ.2491 ตัวแทนของคณะราษฎรพ้นจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไปพร้อม ๆ กับบทบาทของบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้จัดหน่ายปูนซีเมนต์ด้วย การบริหารการจัดการในเรื่องนี้จึงเข้าภาวะปกติต่อไป  
    ป้ายคำค้น :
    Jespersen , คณะราษฎร , ณห์ , ปิณฑานนท์ , วัน , รุยาพร , กรุต , พ.ศ.2484
  • ชื่อ
    พ.ศ.2491 โรงงานท่าหลวง
    รายละเอียด :
    โรงงานท่าหลวง นอกจากจะมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ทางธุรกิจสำหรับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างมากแล้ว สำหรับ Mr.Jespersen น่าจะมีความสำคัญที่สุดในชีวิตการบริหารกิจการปูนซีเมนต์แห่งแรกในเอเชียอาคเนย์แห่งนี้ ไม่ว่าจะมองในเรื่องแรงบันดาลใจ ความรู้ความสามารถ การปรับตัว รวมทั้งการผ่านการทดสอบสำคัญในฐานะนักบริหารที่เผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่อย่างรอบด้านทีเดียว

    ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า Mr.Jespersen วางแผนจะสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่ไว้ในใจเมื่อไหร่ แต่รายงานที่มีเรื่องการขยายโรงงานหรือสร้างโรงงานใหม่  ปรากฎในรายงานการประชุมคณะกรรมการตั้งแต่ปี พ.ศ.2481

    อุปสรรคใหญ่หลวง

    แผนการสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งที่สองของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด    เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2475 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าไม่กี่ปี เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นช่วงเวลาความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางการเมืองปกคลุมสังคมไทยค่อนข้างยาวนาน ต่อมาปี พ.ศ.2480 จึงตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แทนพระคลังข้างที่ ให้มีการบริหารในรูปคณะกรรมการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการขณะนั้น ได้แก่ นายปรีดี พนมยงศ์  นั่นหมายความว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็กลายเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นายชุณห์ ปิณฑานนท์ สมาชิกคณะราษฎรมาเป็นประธานกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในต้นปี พ.ศ.2481 ในฐานะประธานคนไทยคนแรก ในระยะเดียวกับแผนการก่อสร้างโรงงานเริ่มต้นขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นในปีถัดมา Mr.W.L. Grut ซึ่งนับว่าเป็นประธานกรรมการที่ทำงานเข้ากันได้อย่างดีกับผู้จัดการชาวเดนมาร์กมาแล้วถึง 3 คน ได้ลาออกและเดินทางออกจากประเทศไทยไป (รายละเอียดเรื่องนี้ อ่านได้จากเรื่อง "คนไทยมีบทบาทมากขึ้น")

    ความยุ่งยากและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2482 ซึ่งมีการกล่าวไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการ หากพิจารณาคำบอกเล่าของ Mr. Jespersen ใน "บทความเบื้องหลังของท่าหลวง หนังสือปูนซิเมนต์ไทย 2456-2526; หน้า 56-61) โดยให้รายละเอียดอย่างมีสีสัน แสดงถึงการให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก และสาระสอดคล้องกัน

    สรุปความยุ่งยากและอุปสรรคในการก่อกำเนิดโรงงานท่าหลวงได้คร่าว ๆ ดังนี้

    - ข่าวลือว่ารัฐบาลมีแผนการสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่ที่ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนับว่าเป็นที่ที่ใกล้เคียงสถานที่ตั้งโรงงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่จะตั้งขึ้นที่ อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

    - ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (Mr. Jespersen) เดินทางเข้าพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง ซึ่งได้รับการยืนยันว่ารัฐบาลมีความคิดเช่นนั้นจริง ด้วยเหตุผลที่จะทำให้ราคาปูนซีเมนต์ถูกกว่าของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด โดยมีข้อมูลรายละเอียดของโครงการให้ดูด้วย

    - Mr. Jespersen พบว่าข้อมูลของโรงงานของรัฐบาลเป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่เตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัท แต่มีการตกแต่งตัวเลขเล็กน้อย นัยของเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่าง    ผู้บริหารของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กับกรรมการบริษัทที่เป็นตัวแทนจากคณะราษฎร

    - Mr. Jespersen เข้าพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอีกครั้งหนึ่ง นำข้อมูลชุดนี้ไปแสดง ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้นและทำจดหมายรับรองเป็นภาษาอังกฤษว่า รัฐบาลสนับสนุนโครงการของบริษัท     ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และจะยกเลิกแผนการสร้างโรงงานใหม่

    ในการประชุมคณะกรรมการอย่างฉุกเฉิน (ตามที่ผู้จัดการทั่วไปกล่าว) เท่าที่ปรากฏหลักฐาน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2482 ได้หารือเรื่องนี้และได้ทำหนังสือเวียนไปยังผู้ถือหุ้น รวมทั้งยืนยันแผนการสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่สระบุรีเป็นที่แน่นอน

    แผนการดี

    ต้องยอมรับว่าแผนการต่าง ๆ ของผู้จัดการทั่วไปที่เตรียมการมาแล้วส่วนหนึ่งและดำเนินการจนเริ่มต้นสร้างโรงงาน ใช้ระยะเวลาห่างจากการประชุมฉุกเฉินคราวนั้นเพียง 4 เดือนเท่านั้น การสร้างโรงงานที่ท่าหลวงจึงเริ่มต้นอย่างเป็นการทางการในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2483   ในช่วงเตรียมการ Mr. Jespersen เล่าว่าได้วางแผนโดยคำนึงถึงเรื่อง แหล่งวัตถุดิบ การขนส่งไปขายยังตลาด เป็นปัจจัยสำคัญ จึงมีการวางแผนขึ้นมา 3 โครงการคือ

    (1) การสร้างโรงงานขึ้นมาใกล้แหล่งวัตถุดิบใหม่ที่บ้านหมอ จ.สระบุรี

    (2) การขยายโรงงานบางซื่อ

    (3) การสร้างโรงงานที่เกาะสีชัง ถ้าการส่งออกทวีความสำคัญขึ้นมา

    โดยการดำเนินงานทั้ง 3 โครงการปิดเป็นความลับเพื่อป้องกันการเก็งกำไรราคาที่ดิน

    แผนการจัดซื้อที่ดินดำเนินไปในทันที การสำรวจที่บ้านหมอใกล้แหล่งดินขาว ได้บอกกับคนท้องถิ่นเรื่องทำโรงสีข้าว เอาปืนไปด้วยเหมือนไปยิงนกปากซ่อม แต่ไปเดินสำรวจเลียบแม่น้ำป่าสัก หาทำเลที่ตั้งโรงงานใหม่

    ในอีกด้านหนึ่งการสำรวจที่เกาะสีชังใช้ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำทีว่าไปเล่นน้ำทะเลและอ่านหนังสือ จากนั้นให้คนซื้อที่ดินแถบท่าหลวงในราคาถูก และเมื่อได้รับแบบแปลนร่างโรงงานใหม่พร้อมค่าใช้จ่ายแล้ว จึงเสนอคณะกรรมการพิจารณา 3 ทางเลือก ซึ่งโครงการท่าหลวงมีต้นทุนต่ำที่สุด โครงการขยายที่บางซื่อมีต้นทุนปานกลาง และโครงการที่เกาะสีชังมีต้นทุนสูงที่สุด

    เดิมแหล่งดินขาวแห่งแรกที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ใช้นำมาทำการผลิตที่โรงงานบางซื่อ อยู่ที่ตำบลช่องแค อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ ถึง 170 กิโลเมตร ต่อมาในปี พ.ศ.2464 จึงได้พบแหล่งดินขาวใหม่ที่ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ซึ่งห่างเพียง 100 กิโลเมตร ดังนั้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงตัดสินใจก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งดินขาวเพียง 10 กิโลเมตร และมีการลำเลียงทางน้ำได้โดยสะดวกด้วย

    เดือนธันวาคม พ.ศ.2484 ผู้จัดการทั่วไป ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ว่าการก่อสร้างโรงงานปูนเม็ดที่ตำบลท่าหลวงใกล้แล้วเสร็จ

    เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2485 คณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานท่าหลวง ชมการถลุงเหล็ก และแผนกต่าง ๆ ของโรงงานปูนเม็ด แต่การก่อสร้างโรงงานท่าหลวงต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังสงครามจึงได้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปจนโรงงานเปิดทำการผลิตได้จริงในปี พ.ศ.2491

    พัฒนาสู่โรงงานปูนซีเมนต์สมบูรณ์แบบ

    บทบาทแรกของโรงงานท่าหลวง เริ่มต้นเป็นฐานสำรองสนับสนุนโรงงานบางซื่อ ในช่วงนั้นบางซื่อประสบปัญหาได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในสงครามโลก สามารถผลิตปูนเม็ดได้เพียงหนึ่งในสามจากปริมาณการผลิตเดิม ดังนั้นเมื่อโรงงานท่าหลวงเกิดขึ้น จึงสามารถผลิตปูนเม็ดทดแทนส่วนที่ขาดได้ โดยบทบาทโรงงานท่าหลวงเป็นเพียงผู้ผลิตปูนเม็ด แล้วขนส่งทางรถไฟและทางเรือมายังโรงงานบางซื่อเพื่อบดเป็นปูนซีเมนต์ผงสำเร็จรูปเพื่อขายต่อไป

    จากรายงานของหนังสือครบรอบ 40 ปี (จัดทำขึ้นหลังจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม เยือนโรงงานในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2496) ระบุว่าในปี พ.ศ.2496 หรือหลังจาก 5 ปีที่โรงงานท่าหลวงเริ่มต้นผลิต ได้ปรับบทบาทจากการผลิตปูนเม็ดเพื่อป้อนโรงงานบางซื่อมาเริ่มผลิตปูนซีเมนต์ผงเอง ทั้งนี้เนื่องจากในระยะนั้นปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของภาคกลางตอนบน ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 โรงงานท่าหลวงจึงพัฒนาไปอีกขั้น เพื่อเป็นโรงานผลิตปูนซีเมนต์ที่สมบูรณ์เต็มรูปแบบ

    เมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย

    โรงงานท่าหลวงเป็นส่วนหนึ่งของจินตนาการเมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย ปรากฏอยู่ในหนังสือกิจการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในระยะ 40 ปี พ.ศ.2496 ซึ่งมีภาพแผนที่ปรากฏในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ โดยมีคำบรรยายอย่างมีสีสันในหน้า 60-62  "เมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ" ไว้ด้วย ทั้งนี้เป็นจินตนาการมาแล้วก่อนหน้า ตั้งแต่เยือนสถานที่แห่งนี้ ครั้งแรกซึ่งเป็นทุ่งนาประมาณ 15 ปีก่อนหน้านั้นหรือราว ๆ ปี พ.ศ.  2480 หากพิจารณาแผนที่ในหน้า 62 จะพบว่าจินตนาการเมืองอุตสาหกรรมไปไกลกว่าปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นภาพที่ประกอบด้วยย่านอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่กว้างใหญ่ สถานที่ราชการ สถานที่การค้า ฯลฯ ซึ่งยอมรับว่า "อาจจะมีผู้ถือหุ้นหลายท่าน เห็นว่าภาพที่วาดนี้ออกจะเกินเหตุไป"

    แนวความคิด น่าจะเป็นที่มาของการลงทุนสร้างโรงงานท่าหลวงที่เป็นการลงทุนค่อนข้างมาก ในหนังสือกิจการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในระยะ 40 ปี กล่าวไว้อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งความขัดแย้งทางความคิดในคณะกรรมการกับผู้จัดการใหญ่ในแนวคิดนี้ไว้

    การสร้างโรงงานท่าหลวงเป็นแนวคิดการสร้างเมืองอุตสาหกรรมที่มีลักษณะพึ่งตนเองอย่างสมบูรณ์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ยังมีการวางแผนเพื่ออนาคตไว้ค่อนข้างมาก ที่สำคัญมีโรงไฟฟ้าไว้ใช้เอง สร้างสายไฟแรงสูงมีความยาวถึง 10 กิโลเมตรจากโรงงานจนถึงบ่อดินขาวซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงาน ทั้งนี้ยังมีปริมาณเหลือพอจะให้บริการแก่ชุมชนในย่านนั้น

    ผู้จัดการทั่วไป (Mr. Jespersen) เน้นว่าการลงทุนจำนวนมาก แต่ก็คุ้มค่าเพราะจะทำให้ราคาปูนซีเมนต์ต่ำลง สามารถแข่งขันกับปูนซีเมนต์ต่างประเทศและพร้อมจะส่งออกได้ด้วยเมื่อปริมาณเหลือ ทั้งนี้ที่ทำได้เช่นนี้เพราะบริษัทยึดแนวทางกันเงินปันผลจำนวน 50% ไว้สำหรับการลงทุนโดยเฉพาะ

    "ฉะนั้นเมื่อท่านมาดูกิจการต่าง ๆ ด้วยตนเองแล้ว จึงหวังว่าท่านคงจะเห็นพ้องกับวิธีที่บริษัทเลือกใช้ เป็นทางปฏิบัติ และเสียงที่เคยตำหนิฝ่ายอำนวยการของบริษัทอยู่เนือง ๆ ว่าบริษัทได้ใช้เงินก่อสร้างอาคารโรงงานใหญ่โตเกินควรนั้น คงจะเบาบางลงบ้าง" ข้อความในหนังสือกิจการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในระยะ 40 ปี พ.ศ.2496 ตอนหนึ่งระบุไว้

    ในเวลาต่อมาโรงงานท่าหลวงได้สร้างโมเดลการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับชุมชน มีความเกื้อกูลกัน สร้างชุมชนให้เติบโต สร้างงานพัฒนาองค์ความรู้ที่สำคัญ สร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น เป็นเมืองที่สมบูรณ์ในตนเองเป็นต้นแบบและบทเรียนของอุตสาหกรรมในการอยู่กับชุมชนเกษตร อันมีคุณค่าอย่างมากในเวลาต่อมา  
    ป้ายคำค้น :
    Jespersen , โรงงานท่าหลวง , ปรีดี , พนมยงค์ , เมืองอุตสาหกรรม , 2491
  • ชื่อ
    พ.ศ.2512 การกู้เงินต่างประเทศกับการปรับโครงสร้าง : คณะกรรมการควบคุมผู้จัดการชาวเดนมาร์ก
    รายละเอียด :
    ปี พ.ศ.2502

    เดือนมกราคม กู้เงินจาก American Overseas Finance Company, New York จำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ดอกเบี้ย 9.5% ต่อปี โดยให้ชำระเงินคืนภายใน 18 เดือน และเริ่มชำระเงินคืนเมื่อครบ 6 เดือนภายหลังได้รับเงิน และมีเงื่อนไขห้ามขาย เช่า โอน จำหน่าย ทรัพย์สินในกิจการค้า หรือการดำเนินงานของบริษัท ห้ามรวมกิจการ และบริษัทต้องจ่ายภาษีเงินได้ในประเทศไทยด้วย ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่เข้มงวด ทั้งเป็นเงินกู้ระยะสั้น และดอกเบี้ยค่อนข้างสูง คณะกรรมการพยายามหาทางกู้เงินภายในประเทศ แต่ทำได้ไม่เพียงพอ ประกอบกับการเงินของบริษัทฝืดเคืองมาก ในช่วงนั้นมีการเปลี่ยนผู้จัดการใหญ่เป็น Mr. Hemmingsen ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านการเงิน

    เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กรรมการคนไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกู้เงิน โดยเฉพาะการร่างสัญญา กรรมการทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ นายเกษม ล่ำซำ และ ม.ล.ปืนไทย มาลากุล

    จากหลักฐานการเจรจาขอกู้เงินทั้งสองครั้ง ทั้งจาก Exim Bank และ American Overseas Finance Company (AOFC) เป็นความริเริ่มของผู้จัดการชาวเดนมาร์ก ทั้งสองคน คือ Mr. Jespersen และ Mr. Hemmingsen โดยมี Mr.Erik Thune อดีตผู้จัดการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (ผู้จัดการคนที่ 2) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท F.L. Smidth ที่นิวยอร์คให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

    อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัทยังไม่พึงพอใจกับเงื่อนไขการกู้เงินทั้งสองครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุด จนต้องให้กรรมการคนไทยทั้งสองไปเกี่ยวข้องด้วย ต่อมาในเดือนกันยายน ได้มีการกู้เงินจาก Hong Kong & Shanghai Banking Corporation (HSBC) สาขา New York  จำนวน1,600,000 เหรียญสหรัฐ นำไปชำระหนี้ทั้งหมดของ AOFC รวมทั้งดอกเบี้ย 9.5% ต่อปี ยังมีเงินเหลือจ่ายเงินกู้ของกองทุนสวัสดิการรถไฟที่กู้เงินมาอีก 15 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดใช้คืนในเดือนธันวาคม พ.ศ.2502 และมีเงินจ่ายดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้ด้วย โดยเสียดอกเบี้ยไม่เกิน 7.5-8% ต่อปี ผ่อนชำระคืนเป็น 4 งวด เริ่มจาก 15 กรกฎาคม พ.ศ.2504 เป็นเงิน 400,000 เหรียญสหรัฐ จากนั้นผ่อนชำระทุก 6 เดือน โดยงวดสุดท้ายคือ 15 มกราคม พ.ศ. 2506

    ระยะต่อมามีการต่อสัญญาหลายครั้ง ภายใต้เงื่อนไขเดิม จึงนับว่าเป็นการกู้เงินครั้งแรกที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการกู้เงินระยะยาว

    เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงถึงบทบาทของกรรมการคนไทย โดยเฉพาะนายเกษม ล่ำซำ ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับธนาคารต่างประเทศ ในการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์การเงิน โดยมีบทบาทอย่างมากในการเจรจากู้เงินจาก HSBC ซึ่งมีเงื่อนไขที่ดีกว่า ดอกเบี้ยต่ำกว่า และเงื่อนไขการชำระเงินนานขึ้น เพื่อนำมา Refinance หนี้จากสถาบันการเงินอื่นที่มีเงื่อนไขเข้มงวดมากกว่า

    จากสถานการณ์นี้ จึงมีการเสนอตั้งคณะกรรมการควบคุมการบริหารเป็นครั้งแรก ประกอบด้วย ประธานกรรมการ หม่อมทวีวงศ์ถวัลย์ศักดิ์ นายเกษม ล่ำซำ และ ดร.จ่าง รัตนะรัต ควบคุมการบริหารของผู้จัดการชาวเดนมาร์กเป็นครั้งแรก

    คณะกรรมการควบคุมการบริหารต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะกรรมการบริหาร"  
    ป้ายคำค้น :
    Hemmingsen , Jespersen , 2512 , American Overseas Finance Company , Exim Bank , Erik Thune , F.L. Smidth , เกษม ล่ำซำ