2545

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2545 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงชะลอตัว เป็นผลกระทบจากสงครามในอัฟกานิสถาน
    รายละเอียด :
    เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกเริ่มแสดงสัญญาณฟื้นตัว ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและประชาชนปรับตัวดีขึ้นและส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ยังประสบกับภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณในระดับสูง ในขณะเดียวกันตลาดแรงงานก็ยังคงอ่อนแอและยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ และกระทบต่อเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจโลก

    ผลกระทบจากสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอัฟกานิสถานยังส่งผลต่อปริมาณการค้าโลกด้วย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประมาณการว่าปริมาณการค้าโลกปี 2545 ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยมีผลกระทบจากปัจจัยอื่นด้วยนั่นคือ การระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ในภูมิภาคเอเชีย
     
    ป้ายคำค้น :
    สหรัฐอเมริกา , 2545 , เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา , SARS
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2545 ญี่ปุ่นประสบปัญหาภาคการธนาคารจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
    รายละเอียด :
    ปี 2545 ถือเป็นปีแห่งความเลวร้ายของญี่ปุ่น โดยภาคธนาคารประสบปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก ตลาดหุ้นซบเซาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นอัตราว่างงานก็อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 5.5

    องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นติดลบร้อยละ 0.7 ในปี 2545 ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิรักซึ่งส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังเป็นปัจจัยที่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียจับตามองอย่างใกล้ชิด

    กองทุนการเงินระหว่างประเทศประมาณการเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับในปี 2544 ที่หดตัวร้อยละ 0.5 รวมทั้งเพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงจากปัญหาสถาบันการเงิน การว่างงานและภาวะเงินฝืด อีกทั้งประชาชนยังขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเรื้อรังมาเป็นเวลานาน

    ตั้งแต่ต้นปี รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แผนการปฏิรูปภาคธนาคารของรัฐบาล พร้อมเตือนว่าเศรษฐกิจปี 2546 อาจเลวร้ายกว่าปี 2545
     
    ป้ายคำค้น :
    ญี่ปุ่น , 2545 , เศรษฐกิจญี่ปุ่น
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2545 กำหนดยุทธศาสตร์และกรอบปฎิบัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9
    รายละเอียด :
    แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545–2549) ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาและบริหารประเทศคือ ยึดหลักทางสายกลาง เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤติ ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง รวมถึงนำสู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ เพิ่มเติมข้อมูลจากปี 2547

    ประเทศไทยได้ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านการเกษตรกรรม เศรษฐกิจและการแข่งขัน ซึ่งเป็นการสอดคล้องเป้าหมายแนวทางของนานาชาติในประชาคมโลก

    “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

    เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

    ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน

    ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

    ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้

    ·       ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

    ·       ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

    ·       ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

    เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงมี 2 ประการ คือ ความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ และคุณธรรมที่ต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
     
    ป้ายคำค้น :
    2545 , แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม-ฉบับที่-9 , เศรษฐกิจพอเพียง , การพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2545 มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยให้สัตยาบันรับรองปฏิญญาโจฮันเนสเบอร์ก (Johannesburg Declaration)
    รายละเอียด :
    การประชุมสุดยอดของโลกจัดขึ้น ณ กรุงโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ภายใต้ชื่อ World Summit on Sustainable Development (WSSD) หรือ Earth Summit 2002

    ที่ประชุมได้ประเมินผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 21 และข้อตกลงอื่นซึ่งนำไปสู่การรับรองในปฏิญญาโยฮันเนสเบิร์ก เน้นย้ำความร่วมมือของทุกประเทศและทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาที่บั่นทอนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 21 และแผนอนุวัตโยฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg Plan of Implementation, JPOI หรือ Plan of Implementation of the World Summit on Sustainable Development) ส่งผลให้เกิดการดำเนินการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

    ในระดับประเทศ มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเลขานุการ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติ ตามกรอบ JPOI และกำกับดูแลการดำเนินงานตามให้สอดคล้องกับผลการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่ออนุวัตตามแผนปฏิบัติการ 21 และการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการ และมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นกรรมการ เพื่อเสนอแนะแนวทางและมาตรการการดำเนินงานตามพันธกรณีภายใต้แผนปฏิบัติการ 21 ตลอดจนจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
     
    ป้ายคำค้น :
    2545 , World-Summit-on-Sustainable-Development , WSSD , Earth-Summit-2002 , การพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2545 จัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหา
    รายละเอียด :
    ด้วยความเชื่อมั่นว่า การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ เป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งของการกำกับดูแลองค์กรตามหลักบรรษัทภิบาล รวมทั้งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงและความศรัทธาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เอสซีจีจึงบริหารงานด้วยความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา มีกลไกในการตรวจสอบข้อมูลได้อย่างชัดเจน โดยจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหาทำหน้าที่กำกับดูแลงานดังกล่าว

    การเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุนทั่วไป สื่อมวลชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ดำเนินการผ่านสื่อหลากหลายประเภท เช่น เอกสารเผยแพร่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ การจัดประชุมและการแถลงข่าว รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะสื่อสมัยใหม่ เช่น เว็บไซต์และอีเมล์ที่สามารถรับ-ส่ง ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของเอสซีจียังเปิดโอกาสให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและออกไปให้ข้อมูลแก่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นภารกิจประจำ

    ผลจากการดำเนินงานอย่างเปิดเผย โปร่งใสและตรวจสอบได้ ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัล Disclosure Award 2002 จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่า มีการเปิดเผยข้อมูลโดยรวมอยู่ในระดับที่ดี รางวัลดังกล่าวจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2545 เพื่อให้กำลังใจบริษัทจดทะเบียนที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บริษัทจดทะเบียนอื่น ช่วยพัฒนาคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นหัวใจสำคัญของบรรษัทภิบาลที่ดีและช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือแก่ระบบตลาดทุนไทยในที่สุด

    ปีเดียวกันนี้เอง เอสซีจียังได้รับรางวัล Best Investor Relations by a Thai Company จากการจัดร่วมกันโดย Investor Relations Magazine และ The Asian Wall Street Journal รางวัลดังกล่าวได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า เป็นตัววัดที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ เพราะตัดสินใจจากผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมนักลงทุนสัมพันธ์ อาทิ การสื่อสารกับนักลงทุน การเปิดเผยข้อมูล และบรรษัทภิบาล โดยมีการมอบรางวัลให้แก่องค์กรดีเด่นจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี
     
    ป้ายคำค้น :
    2545 , คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหา , Disclosure-Award , Best-Investor-Relations
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2545 ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายแรกของโลกที่ได้รับรางวัล Deming Prize
    รายละเอียด :
    เอสซีจีมุ่งเน้นระบบบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM-Total Quality Management) โดยกระตุ้นให้พนักงานทุกระดับมีจิตสำนึกเรื่องการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ผลจากความทุ่มเทในเรื่องดังกล่าวทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด ภายใต้ธุรกิจซิเมนต์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายแรกของโลกและบริษัทไทยรายแรกที่ได้รับรางวัล Deming Application Prize

    รางวัล Deming Prize จัดตั้งโดยสมาคมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของญี่ปุ่น (Union of Japanese Scientists and Engineers : JUSE) ในปี ค.ศ. 1951 โดยการใช้ชื่อ “Deming Prize” เพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr. William Edwards Deming ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและก่อให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนาระบบบริหารงานและระบบคุณค่าอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น ถือเป็นรางวัลสูงสุดด้าน TQM ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก

    โครงสร้างของระบบรางวัล Deming Prize มีหลักที่ใช้ตรวจสอบ 10 ปัจจัย ได้แก่ นโยบายองค์กรและการปฏิบัติการ การศึกษาและเผยแพร่ การเก็บรวบรวมข้อมูล การติดต่อสื่อสาร และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล การวิเคราะห์ การทำมาตรฐาน การควบคุมและจัดการ การประกันคุณภาพ ผลลัพธ์ และแผนในอนาคต รางวัลมี 3 ประเภทคือ ประเภทบุคคล มอบให้แก่ผู้เข้าใจและนำการควบคุมคุณภาพทั้งองค์กรไปใช้อย่างได้ผล ประเภทการประยุกต์ และประเภทโรงงาน ให้แก่บริษัทและโรงงานที่มีความโดดเด่นในด้านการควบคุมคุณภาพทั้งองค์การและใช้เทคนิคทางสถิติในการปรับปรุงคุณภาพ 
     
    ป้ายคำค้น :
    2545 , TQM , Total-Quality-Management , Deming-Prize