สหรัฐอเมริกา

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2544 เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ที่สหรัฐฯ
    รายละเอียด :
    เหตุการณ์การโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา มีต้นเหตุจากปัญหากับกลุ่ม Al-Qaeda ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานหลายปี กลุ่มก่อการร้ายนี้ก่อตั้งขึ้นช่วงปี 2523 โดย Osama Bin Laden

    กลุ่ม Al-Qaeda เคยก่อการร้ายบนแผ่นดินสหรัฐฯ มาแล้วในปี 2536 ด้วยการวางระเบิดตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ นิวยอร์ค จากนั้นมีการโจมตีอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดสร้างความเสียหายเท่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

    เช้าวันอังคารที่ 11 กันยายน ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ 11 ขับพุ่งเข้าชนตึกฝั่งเหนือ ของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จากนั้นไม่นาน เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ด พุ่งเข้าชนตึกฝั่งใต้ ขณะนั้นมีหลายล้านคนทั่วโลกได้ชมเหตุการณ์สดจากการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ 

    หลังจากนั้นสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ 77 พุ่งชนตึกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน ในรัฐเวอร์จิเนีย ตามด้วยเที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินเดียวกันตกลงกลางทุ่งกว้าง ในเพนซิลวาเนีย ข้อมูลภายหลังระบุว่า ผู้โดยสารบนเครื่องได้ต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย 

    ราวหนึ่งชั่วโมงเศษหลังการพุ่งชนครั้งแรกตึกแฝดก็ถล่มลง การเดินทางทางอากาศของสหรัฐฯ ทั้งหมดถูกยกเลิก ประชาชนภายในอาคารที่มีชื่อเสียงทั้งหมดทั่วประเทศได้รับคำสั่งให้ออกจากสถานที่ รวมแล้วมียอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 2,996 คน รวมผู้ก่อการร้าย 19 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 6,000 คน

    ผลกระทบของเหตุการณ์เกิดขึ้นกับภาคการเงินก่อน โดยตลาดหุ้นนิวยอร์คปิดทำการ 4 วันและเมื่อเปิดทำการดัชนีดาวน์โจนส์ร่วงลงจาก 9,605 จุด ลงไปที่ 8,920 จุด เป็นการปรับตัวลดลงในวันเดียวสูงสุดในประวัติศาสตร์ เกิดความเสียหายทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญ มีคนตกงานกว่า 65,000 คน

    อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการบิน ก่อนเหตุการณ์ มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 68.3 ล้านคนและมีการจ้างพนักงานบริการมากกว่า 520,000 คน สิ้นเดือนกันยายน จำนวนผู้โดยสารลดเหลือเพียง 39.4 ล้านคน ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ผู้ประกอบการเป็นจำนวนกว่า 5,000 ล้านเหรียญ รวมถึงสินเชื่ออีกกว่า 10,000 ล้านเหรียญสำหรับการกอบกู้อุตสาหกรรมให้กลับคืนมา

    จากการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในเดือนธันวาคม 2544 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.7 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2544 เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทุกกลุ่มประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การก่อวินาศกรรม ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง

    ขณะที่ธนาคารโลกเสนอรายงานประจำปีว่าด้วย “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและประเทศกำลังพัฒนาปี 2544” โดยระบุว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคร้ายแรงจนต้องย้อนกลับไปสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง โดยเกิดจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

    รายงานระบุว่าปัจจัยภายนอก 3 ประการที่มีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย ประกอบด้วย
    1.ผลกระทบจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลง
    2.ปัญหาการเงินของญี่ปุ่นที่ก่อตัวขึ้นใหม่
    3.การถอนตัวของธุรกิจภาคอิเล็กทรอนิกส์

    ธนาคารโลกยังได้ประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเอเชียตะวันออกในปี 2544 ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลง ส่วนการเติบโตในระยะยาวระหว่างปี 2543-2553 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.3
     
    ป้ายคำค้น :
    เศรษฐกิจโลก , สหรัฐอเมริกา , 2544 , 911 , 11-กันยายน-2544 , Al-Qaeda
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2544 สงครามสหรัฐฯ-อัฟกานิสถาน
    รายละเอียด :
    วันที่ 7 ตุลาคม 2544 สงครามในประเทศอัฟกานิสถานเริ่มขึ้น ภายใต้ข้อมูลว่า กลุ่ม Al-Qaeda ใช้ประเทศอัฟกานิสถานเป็นฐานบัญชาการระหว่างดำเนินการ ปฎิบัติการดังกล่าวใช้ชื่อว่า Operation Enduring Freedom เป็นการสนธิกำลังระหว่างกองทัพสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลียและพันธมิตรฝ่ายเหนือ

    สหรัฐฯ แถลงเป้าหมายการทำสงครามว่า เพื่อทำลายองค์การก่อการร้าย Al-Qaeda และยุติการใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานบัญชาการ นอกจากนั้นยังตั้งเป้าโค่นอำนาจของระบอบ Taliban และสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน
     
    ป้ายคำค้น :
    สหรัฐอเมริกา , 2544 , อัฟกานิสถาน , Al-Qaeda
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2545 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงชะลอตัว เป็นผลกระทบจากสงครามในอัฟกานิสถาน
    รายละเอียด :
    เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกเริ่มแสดงสัญญาณฟื้นตัว ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและประชาชนปรับตัวดีขึ้นและส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ยังประสบกับภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณในระดับสูง ในขณะเดียวกันตลาดแรงงานก็ยังคงอ่อนแอและยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ และกระทบต่อเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจโลก

    ผลกระทบจากสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอัฟกานิสถานยังส่งผลต่อปริมาณการค้าโลกด้วย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประมาณการว่าปริมาณการค้าโลกปี 2545 ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยมีผลกระทบจากปัจจัยอื่นด้วยนั่นคือ การระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ในภูมิภาคเอเชีย
     
    ป้ายคำค้น :
    สหรัฐอเมริกา , 2545 , เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา , SARS
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2551 วิกฤติซับไพรม์และมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ
    รายละเอียด :
    วิกฤติซับไพรม์และมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ

    วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ หรือในประเทศไทยเรียกว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 จากนั้นสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างไปทั่วโลกในปี 2551

    วิกฤติดังกล่าวเปรียบเทียบว่าเป็นภาวะฟองสบู่แตกของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา สาเหตุหลักเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 นำไปสู่กระแสเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับมีนวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นเมื่อภาวะฟองสบู่แตกจึงลุกลามไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจริง การเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และสินค้าโภคภัณฑ์ 

    ภาคเศรษฐกิจจริงถูกกระทบโดยตรงจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของชาวสหรัฐฯ นำไปสู่การหดตัวของการบริโภคและการลงทุน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งยังส่งผลลูกโซ่ไปยังภาคการผลิตและเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมให้ตกต่ำลง

    เมื่อฟองสบู่ซับไพรม์แตก ทำให้ราคาของตราสารหนี้ที่อ้างอิงกับภาคอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงไปด้วย บริษัทที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับซับไพรม์ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนเกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว และทำให้สภาวะทางการเงินโลกเข้มงวดขึ้น

    ปัจจัยข้างต้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกวิตกกังวล จึงเร่งเทขายพันธบัตรระยะยาวและหันไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ทำให้ราคาพันธบัตรระยะสั้นและยาวห่างกันมากขึ้น
    ขณะเดียวกัน เมื่อนักลงทุนบางส่วนเร่งเทขายหลักทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา ทำให้ราคาหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวลดต่ำลง ลุกลามไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ทั้งในสหรัฐฯ และตลาดอื่นๆ ทั่วโลก โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลงส่งผลให้ความมั่งคั่งของผู้บริโภคลดลง และย้อนไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงผ่านการบริโภคที่ชะลอลง นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ที่ถูกมองว่ามีผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงสูงเช่นกัน ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่มีความผันผวนอย่างมาก
    ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนคือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยชะลอการตกต่ำของเศรษฐกิจและพลิกฟื้นตลาดหลักทรัพย์ โดยตั้งแต่เริ่มวิกฤติเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 5.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ในเดือนมีนาคม 2551 ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
    การที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ กว้างขึ้น เป็นเหตุให้ค่าเงินของประเทศดังกล่าวเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ผันผวนและแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

    สำหรับผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เกิดความผันผวนมาก จากการเก็งกำไรจากกองทุนประกันความเสี่ยงที่เข้าเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลง นอกจากนั้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนลงยังทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่ที่ผูกติดค่าเงินกับสกุลดอลลาร์จำต้องขึ้นราคาน้ำมันดิบเพื่อรักษาอัตราผลกำไรเอาไว้

    การที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ทำให้ประเทศผู้บริโภคน้ำมันเริ่มหันไปหาพลังงานทางเลือก (Bio Fuel) มากขึ้น ส่งผลให้ราคาของธัญพืชที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงต่างๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง น้ำตาล ข้าวโพด รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการบริโภคอื่นๆ สูงขึ้นเช่นกัน

    วิกฤติซับไพรม์ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในภาคการเงิน ตามมาด้วยการที่นักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากพันธบัตรที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและหุ้นที่มีราคาไม่แน่นอน โดยนำไปเก็บสะสมในรูปของสินค้าโภคภัณฑ์แทน ตามมาด้วยการเก็งกำไรราคาสินค้าล่วงหน้า ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติราคาอาหารโลกและราคาน้ำมันพุ่งสูง
    ส่วนเศรษฐกิจโลก ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าเป็นผลจากวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯเช่นเดียวกัน ผลกระทบดังกล่าวทำให้ประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ อังกฤษและญี่ปุ่น เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่นเดียวกับบางประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกงและไต้หวัน

    เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 6 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงต้นปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 1.0 ต่อปีในเดือนตุลาคม

    วิกฤติซับไพรม์ส่งผลทางลบแก่สภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายประการ ที่สำคัญเช่น ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ตัวเลขการว่างงานพุ่งสูงถึงกว่า 2.6 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2488 เป็นต้นมาและมีรายงานว่า เฉพาะเดือนกันยายน 2551 จำนวนคนตกงานในสาขาการเงินในสหรัฐฯ สูงถึง 65,400 คน ส่วนเดือนธันวาคม ตัวเลขระบุว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.2

    วันที่ 1 ธันวาคม 2551 National Bureau of Economic Research (NBER) ประกาศว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2550
     
     
    ป้ายคำค้น :
    2551 , สหรัฐอเมริกา , เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา , วิกฤตซับไพรม์