ฉายศักดิ์

  • ชื่อ
    ฉายศักดิ์ แสง-ชูโต
    รายละเอียด :
     
    ป้ายคำค้น :
    ผู้บริหาร , ฉายศักดิ์ , แสง-ชูโต , Executives
  • ชื่อ
    พ.ศ.2519 จุดเริ่มต้นงานประชาสัมพันธ์และโฆษณาเพื่อสังคม
    รายละเอียด :
    ต้นปี พ.ศ.2518 นายฉายศักดิ์ เเสง-ชูโต ได้เข้าดูเเลฝ่ายวางเเผนการตลาดของบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด หลังจากที่นายอายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการบริษัท ได้ขอตัวนายฉายศักดิ์ฯ จากนายชุมพล ณ ลำเลียง เพื่อมาช่วยงาน

    นายฉายศักดิ์ เเสง-ชูโต เข้าเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวางเเผนการตลาดมีหน้าที่วางเเผนการตลาดทั้งหมดในเครือซิเมนต์ไทย ครอบคลุมงานวิเคราะห์ตลาด วิจัยตลาด รวมถึงทำโฆษณาเเละประชาสัมพันธ์ นับเป็นจุดกำเนิดของงานประชาสัมพันธ์ของเครือซิเมนต์ไทย ก่อนที่จะเเยกหน่วยงานนี้ออกไปในปี พ.ศ.2520 โดยมีนายดุสิต นนทะนาคร เข้ามาดูเเลในฐานะผู้จัดการหน่วยงานประชาสัมพันธ์คนเเรกของเครือซิเมนต์ไทย

    จากคำสัมภาษณ์ของนายดุสิต นนทะนาคร เล่าว่าสมัยนั้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จะรู้กันอยู่ว่าเก็บตัว ไม่อยากไปพบกับใคร ไม่อยากบอกใครว่าเป็นคนดี ไม่มีประเด็นที่ต้องไปอวดตัว ต่อมายุคนายจรัส ชูโต เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เห็นว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดตัวให้มากขึ้น กล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะเปิดเผยความจริงกับสื่อมวลชนกับสาธารณะมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการตั้งหน่วยงานประชาสัมพันธ์

    เครือซิเมนต์ไทยออกโฆษณาที่เป็น Corporate Ad ในสื่อต่างประเทศครั้งเเรกในปี พ.ศ.2519 ในช่วงที่นายฉายศักดิ์ฯ ยังดูเเลงานประชาสัมพันธ์อยู่ โดยใช้ชื่อชุดโฆษณา We believe in the future of Thailand

    นายฉายศักดิ์ฯ เล่าว่า เนื่องจากช่วงเหตุการณ์ 16 ตุลาคม พ.ศ.2519 เหตุการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยสงบ บางวันก็มีการให้พนักงานกลับบ้านก่อน เนื่องจากเกรงว่าสถานการณ์จะไม่ปลอดภัย สถานการณ์การลงทุนยังดูไม่น่าไว้วางใจ เนื่องมาจากทฤษฎีโดมิโนที่คาดกันว่าไทยจะได้ผลกระทบต่อจากเวียดนาม เขมร เเละลาว ชาวต่างชาติเริ่มอพยพกลับประเทศ ในขณะที่คนลงทุนก็เตรียมถอนทุนกลับ นายฉายศักดิ์ฯ จึงได้ปรึกษากับนายมานิตย์ รัตนสุวรรณ ผู้ดูเเลงานโฆษณาว่าน่าจะทำอะไรเพื่อช่วยประเทศได้บ้างในสถานการณ์เช่นนี้

    การผลิตโฆษณาดำเนินการโดยบริษัท Kenyon Escut ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Lintas เเละ นายฉายศักดิ์ เเสง-ชูโต ก็เป็นคนเขียนคำในโฆษณานั้นเอง ส่วนรูปที่ใช้มี 2 รูป คือ รูปผู้หญิงลอยกระทงกำลังอธิษฐานให้ประเทศ โดยได้นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นเเบบ จากการคัดเลือกคนที่ไม่เป็นที่รู้จักเเละมีใบหน้าไทย ๆ ส่วนอีกรูปคือรูปวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (The Temple of Dawn) เพื่อสื่อความหมายให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในยุคตะวันขึ้นไม่ใช่ตะวันตก

    โฆษณาชุดนี้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารต่างประเทศชั้นนำ อาทิ Times, Newsweek, Fortune ต่อมาหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนชมเชยในคอลัมน์ “ข้าวนอกนา” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า การออกโฆษณาชุดนี้ของเครือซิเมนต์ไทยเป็นการเเสดงออกถึงความเป็นพลเมืองดีของชาติ

    หลังจากนั้นเครือซิเมนต์ไทยยังคงออกโฆษณาเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องอีกหลายชุด

    ปี พ.ศ.2520 ออกชุด Thailand‘s Progress ซึ่งต้องการเเสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความศิวิไลมานาน โดยยกตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบที่อำเภอบ้านเชียง หลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่มีการกล่าวถึงการค้าเเบบเสรีที่มีมานานกว่า 700 ปี

    ในปี พ.ศ.2528 ออกโฆษณาชุด “น้ำใจ” ที่มาจากเเนวคิดของนายอมเรศ ศิลาอ่อนที่มองว่าความมีน้ำใจของคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีชนชาติใดเหมือน น่าจะนำมาเป็นเครื่องมือชักชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศได้เป็นอย่างดี  
    ป้ายคำค้น :
    ฉายศักดิ์ , การตลาด , 2519 , เเสง-ชูโต