2554

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2554 เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น
    รายละเอียด :
    เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น

    วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554 เกิดแผ่นดินไหวซึ่งมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากคาบสมุทรโอะชิกะไปทางตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร ที่ระดับความลึกประมาณ 24 กิโลเมตร เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากการดันตัวของแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิคและแผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือ ทำให้เกิดแรงสะเทือนในภาคตะวันออก ภูมิภาคคันโต และชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิค กินพื้นที่จากเหนือจรดใต้ 500 กิโลเมตร จากตะวันออกจรดตะวันตก 200 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนวัดได้ 9.0 แมกนิจูด

    ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่สามารถวัดได้ในญี่ปุ่น และเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของโลกนับแต่แผ่นดินไหวในอ่าวสุมาตรา และมีความรุนแรงเป็นอันดับ 4 จากแผ่นดินไหวทั้งหมดตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมา

    แผ่นดินไหวครั้งนี้ ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกและรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินมากที่สุดถึง 6 กิโลเมตร ที่ชายทะเลบริเวณตอนใต้ของจังหวัดอิวาเทะ จังหวัดมิยากิ และตอนเหนือของจังหวัดฟุกุชิมะ ปรากฏคลื่นสึนามิสูง 8-9 เมตร น้ำทะเลขึ้นสูงสุด 40.5 เมตร ชายฝั่งทะเลภูมิภาคโทโฮคุ ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวต่างได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ
    ผลกระทบร้ายแรงอีกประการหนึ่ง ซึ่งเกิดจากสึนามิ คือความเสียหายที่เกิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งมีการรั่วไหลของกัมมันตรังสี เบื้องต้นทำให้ประชาชนประมาณ 140,000 คนซึ่งอยู่รอบรัศมี 20 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าต้องอพยพ ยิ่งกว่านั้น ยังมีโอกาสเกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวสูง      

    ในช่วงแรกประชากรกว่า 300,000 คนต้องย้ายออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ที่อื่น หรือไปอาศัยที่พักพิงชั่วคราวประมาณ 2,400 แห่งในบริเวณใกล้เคียง โดยความต้องการที่พักอาศัยชั่วคราวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนสร้างที่พักอาศัยชั่วคราว 8,800 หน่วยในอิวาเตะ 10,000 หน่วยในมิยากิ และ 19,000 หน่วยในฟุกุชิมะ      

    จากการขาดแคลนไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ทำให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งเรื่องเสบียงอาหาร น้ำ ยารักษาโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนั้นยังต้องจัดเตรียมอาหารเพิ่มเติมสำหรับผู้ไม่อพยพ ด้วยเหตุนี้ทำให้มีรายงานว่า ผู้อพยพบางคนได้รับอาหารเพียงมื้อเดียวต่อวัน      

    เหตุการณ์แผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดชะงัก โดยปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และการขาดแคลนไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออก ทำให้เกิดผลกระทบขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ

    ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมหดตัวสูงมากโดยเฉพาะหมวดยานยนต์ โดยเมื่อวันที่ 12 เมษายน ปี 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่า มูลค่าการฟื้นฟูบูรณะอาจสูงกว่า 25 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์) ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่นหดตัวลงร้อยละ 3.7 ในไตรมาสแรกของปี 2554
                
     แต่หลังจากผ่านพ้นภัยพิบัติการฟื้นตัวของภาคการผลิตก็เป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังได้รับผลดีจากงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือและซ่อมสร้างพื้นที่ประสบภัยของทางการมูลค่า 6 ล้านล้านเยนหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 1.3 ของ GDP

    แม้ปัญหาในภาคการผลิตคลี่คลายลงแต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องเผชิญกับอุปสรรคจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเงินเยนที่แข็งค่าต่อเนื่อง โดยผลกระทบจากวิกฤตการคลังในกลุ่มประเทศยูโรและสหรัฐฯ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าญี่ปุ่นจำนวนมาก

    สาเหตุมาจากการที่นักลงทุนมองว่าสินทรัพย์สกุลเงินเยนมีความเสี่ยงต่ำ (Safe-Haven Currency) ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 75.8 เยนต่อดอลลาร์ ในเดือนตุลาคม

    ด้วยเหตุนี้ เดือนพฤศจิกายน กระทรวงการคลังญี่ปุ่น ดำเนินนโยบายแทรกแซงค่าเงินเยนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวน 9.09 ล้านล้านเยน (117 พันล้านดอลลาร์) แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความไม่แน่นอนในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะกลุ่มประเทศยูโร และการแข็งค่าของเงินเยน ยังเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
     
    ป้ายคำค้น :
    ญี่ปุ่น , 2554 , แผ่นดินไหว , สึนามิ
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2554 เกิดมหาอุทกภัยตั้งแต่เดือนกันยายน 2554
    รายละเอียด :
    เกิดมหาอุทกภัยตั้งแต่เดือนกันยายน 2554

    ปี 2554 ช่วงฤดูมรสุม ไต้ฝุ่นหมายเลข 8 พัดเข้าสู่ตอนเหนือของเวียดนาม ทำให้เกิดน้ำท่วมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เกิดฝนตกหนักและน้ำฝนปริมาณมากกว่าปกติส่งผลให้เกิดน้ำหลากในหลายจังหวัดตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม หนึ่งสัปดาห์ให้หลังพบว่า มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ขณะที่น้ำเริ่มหลากไปยังพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    กลางเดือนกันยายน จังหวัดในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางทั้งหมดได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งรวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑลตอนเหนือ ช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นตุลาคม ไต้ฝุ่นอีก 3 ลูกพัดเข้าสู่คาบสมุทรอินโดจีน แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูงสุดหรือมากกว่าขีดจำกัด จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณระบายน้ำจากเขื่อน

    ปริมาณน้ำในจังหวัดอยุธยาเข้าสู่วิกฤติก่อน โดยระดับน้ำสูงกว่าคูเมือง ส่วนทำนบกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ไม่สามารถกั้นกระแสน้ำไว้ได้ สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่โรงงานและสายการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ของสินค้าสำคัญๆ ภายในประเทศ

    อุทกภัยดังกล่าวมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่เชียงใหม่ลงมาจนถึงกรุงเทพฯ ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาครอบคลุมพื้นที่กว่า 150 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมใน 65 จังหวัด 684 อำเภอ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,086,138 ครัวเรือน 13,595,192 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง มีผู้เสียชีวิต 813 ราย (44 จังหวัด) สูญหาย 3 คน

    สำหรับการเกษตร รายงานสรุปของศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย (ศปฉ.ปภ.) แจ้งว่า ด้านพืช อุทกภัยส่งผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวน 1,284,106 ราย พื้นที่เสียหาย 12.60 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 9.98 ล้านไร่ พืชไร่ 1.87 ล้านไร่ พืชสวนและอื่นๆ 0.75 ล้านไร่

    ด้านประมง กระทบเกษตรกรจำนวน 130,041 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย แบ่งเป็น บ่อปลา 215,531 ไร่ บ่อกุ้ง/ปู/หอย 53,557 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ 288,387ตารางเมตร ด้านปศุสัตว์ กระทบเกษตรกร 254,670 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 30.32 ล้านตัว แปลงหญ้า 17,776 ไร่

    นอกจากนั้น ธนาคารโลกร่วมกับภาครัฐและองค์กรเอกชนหลายแห่ง ได้ทำการสำรวจความเสียหายจากอุทกภัย โดยให้รายละเอียดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2554 ระบุว่า พบความเสียหายรวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายจากทรัพย์สินคงที่ เช่น บ้าน โรงงาน จำนวนประมาณ 6.6 แสนล้านบาท ความสูญเสียจากค่าเสียโอกาส เช่น การผลิต อีกประมาณ 7 แสนล้านบาท รวมทั้งประเมินว่า ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อจีดีพีของไทยให้ลดลงราวร้อยละ 1.2 โดยระบุว่าปี 2554 การขยายตัวของจีดีพีจะลดเหลือร้อยละ 2.4 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.6

    สำหรับภาคการผลิตและการส่งออก ธุรกิจโดยรวมกลับมาผลิตได้ภายใน 1 - 6 เดือน เริ่มจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานได้เริ่มทยอยทำการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่ยังมีอยู่ โดยแก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบด้วยการจัดหาจากแหล่งอื่นทั้งในและต่างประเทศ

    ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เริ่มจากโรงงานที่ไม่ถูกน้ำท่วมสามารถทำการผลิตได้ใกล้เคียงระดับปกติประมาณปลายเดือนธันวาคม 2554 ส่วนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กลับมาผลิตภายในต้นเดือนมกราคม ปี 2555 ขณะที่อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์กลับมาผลิตได้บางส่วนในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2555

    แม้จะมีความกังวลถึงการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากความไม่มั่นใจต่อมาตรการป้องกันของภาครัฐ แต่ในระยะสั้นนักลงทุนต่างชาติยังคงใช๎ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกต่อไป เนื่องจากได้มีการลงทุนไปแล้วตามแผนระยะยาว เกิดเป็นเครือข่ายการผลิตที่ซับซัอนและแข็งแกร่ง

    สำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยนั้น บริษัทประกันภัยของต่างประเทศโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ของเยอรมนีและญี่ปุ่นยังยืนยันรับประกันภัยต่อ (Reinsurance) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในไทยต่อไป แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องแบกรับค่าเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้น

    ส่วนสถาบันการเงินได้มีการเตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุน การบูรณะฟื้นฟูของธุรกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เอื้อให้กระบวนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจเกิดขึ้นได้โดยเร็ว

    ด้านการบริโภค ได้รับผลกระทบชั่วคราวในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 จากปัญหาด้านอุปทานและการขนส่ง ผู้ประกอบการคาดว่าการบริโภคในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 จะกลับมาขยายตัวได้จากการเร่งใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมและซื้อสินค้าทดแทนส่วนที่เสียหาย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานที่กลับมาเป็นปกติ และ การสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาลและสถาบันการเงิน 
     
    ป้ายคำค้น :
    2554 , มหาอุทกภัย , อุทกภัย , น้ำท่วม , กันยายน-2554
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2554 พัฒนาการตลาดแนวสร้างสรรค์ "Human Value Marketing"
    รายละเอียด :
    พัฒนาการตลาดแนวสร้างสรรค์ "Human Value Marketing"

    ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา SCG ใช้ยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจแบบใหม่ นั่นคือ Human Value Marketing โดยมุ่งยึดแกนหลัก 3 เรื่อง คือ ความเข้าใจ (Understanding) นวัตกรรม (Innovation) และแนวคิดร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation)

    ความเข้าใจ หมายถึงการมองไม่เพียงแค่ความต้องการที่มีอยู่จริงของผู้บริโภค (Real needs) เท่านั้น แต่ต้องมองลึกลงไปถึงความต้องการที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน (Latent Needs) ผสานกับการเข้าใจ Human ความเป็นคน และสังคมรอบข้างทั้งหมด

    นวัตกรรม ถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการผลิตสินค้าเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภค เป็นการตอบโจทย์ความต้องการท่ามกลางยุคสมัยและสังคมโลกที่เปลี่ยนไป ยิ่งกว่านั้น สินค้าและบริการที่ผลิตออกมานอกจากเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต ยังต้องผนวกเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในทุกๆ จังหวะก้าวที่เคลื่อนไปข้างหน้า

    ภายใต้การใช้นวัตกรรมเข้ามาสนับสนุน และตอบโจทย์ความต้องการหลากหลายของผู้บริโภค นอกจากต้องเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาแล้ว SCG ยังเน้นผสานความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกองค์กรในการทำ Co-Creation โดยตั้งงบประมาณวิจัยและพัฒนาไว้ที่ 1,300 ล้านบาท

    ประโยชน์โดยตรงของความเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ดังกล่าว ช่วยทำให้ทุกองคาพยพขององค์กรขนาดใหญ่อย่าง SCG ก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นยังส่งผลไปยังเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม สังคม รวมถึงผู้บริโภค 

    SCG เริ่มสื่อสารแนวคิด Human Value Marketing ผ่านภาพยนตร์โฆษณา “Today…Tomorrow มุ่งเน้นเรื่อง ‘การเพิ่มคุณค่าเพื่อวันนี้และวันหน้าสำหรับทุกคน’ โดยยึดผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่ว่าไม่เพียงต้องการคุณภาพ หรือประโยชน์ใช้สอยจากสินค้าเท่านั้น หากยังมีความต้องการอื่นซ่อนอยู่ เช่น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยประหยัดทรัพยากร และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ ได้แก่

                • พลาสติกย่อยสลายได้จาก SCG Chemicals ซึ่งไม่เพียงตอบสนองการใช้งานที่สะดวกสบายในวันนี้ แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้หมด ช่วยทำให้โลกสะอาดขึ้นในวันหน้าด้วย
                • กระดาษไอเดีย แมกซ์ ช่วยให้ผู้บริโภคได้กระดาษที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง สามารถใช้งานอย่างมีคุณภาพคุ้มค่าในวันนี้ ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลกในอนาคต
                • ระบบบ้านเย็นตราช้าง ไม่เพียงตอบสนองชีวิตเจ้าของบ้านให้อยู่สบาย ประหยัดการใช้พลังงานในวันนี้เท่านั้น แต่ยังช่วยลดสภาวะโลกร้อน ทำให้โลกของเราเย็นลงในวันหน้า
                • ปูนตราช้างทนน้ำทะเล ทำให้โครงสร้างมีความทนทานและอายุการใช้งานยาวนานมากขึ้นกว่าปูนซีเมนต์ทั่วไป จึงช่วยให้มีทรัพยากรเหลือไว้ให้ลูกหลานใช้ได้ในอนาคต
                Human Value Marketing จึงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ไม่เพียงตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการที่เหนือกว่าเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและสังคมยั่งยืน  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของ SCG ที่ชัดเจนอย่างยิ่งด้วย
     
    ป้ายคำค้น :
    2554 , Human-Value-Marketing , Innovation , Co-creation
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2554 การบริหารจัดการเพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจในภาวะวิกฤติ (BCM)
    รายละเอียด :
    การบริหารจัดการเพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจในภาวะวิกฤติ (BCM)

    การบริหารความเสี่ยงเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ อย่างยั่งยืน

    ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง SCG จึงกำหนดให้นำกระบวนการบริหารความเสี่ยงมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการกับปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายขององค์กรให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ

    ปี 2553 SCG มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจในภาวะวิกฤติ (Business Continuity Management - BCM) มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แนวทางดำเนินการเพื่อบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการหยุดชะงักทางธุรกิจอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด รวมทั้งกำหนดแนวทางที่จะลดผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าว

    ต่อมาในปี 2554 มีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ได้นำเอา BCM มาใช้ในการบริหารจัดการ คือ อุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งถูกน้ำท่วมเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ก่อนหน้านี้ มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเมือง หรือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทำให้คณะกรรมการ BCM ทั้งระดับ SCG และกลุ่มธุรกิจมีบทบาทอย่างมาก

    คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย ผู้บริหารและตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด มีหน้าที่หลักคือ ประเมินความเสี่ยงของการที่ธุรกิจอาจหยุดชะงัก กำหนดแผนการควบคุมความเสี่ยง (Risk Treatment Plan) แผนการจัดการวิกฤติ (Crisis Management Plan) และแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan) เมื่อมีอุบัติภัยเกิดขึ้น

    มีการกำหนดโครงสร้างบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานผู้ดูแลการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีสัญญาณว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่อเค้ารุนแรงก็จะมีการจัดตั้ง War Room เพื่อติดตามสถานการณ์และกำหนดแผนดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหายและแนวปฏิบัติต่างๆ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด โดยภารกิจหลักคือ ดำเนินการให้ข้อมูล ข่าวสารข้อเท็จจริง สื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก

    สำหรับวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้น SCG ได้นำมาตรการข้างต้นมาใช้ โดยเน้นความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของพนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เช่น จัดหาอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมและที่พักชั่วคราว จัดตั้งศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือพนักงาน SCG และครอบครัวที่เดือดร้อน

    แม้บางบริษัทและโรงงานของ SCG ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม แต่บริษัทและโรงงานเหล่านั้นได้จัดให้มีการประกันภัยไว้แล้ว ขณะเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินการธุรกิจของบริษัทเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ได้มีการตั้ง Backup Office  ให้บริการแก่ลูกค้าและ Mobile Office สำหรับหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้วย

    เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์หลัก ซึ่งหมายถึงการรักษาความต่อเนื่องของธุรกิจในภาวะวิกฤติ โดยให้ความช่วยเหลือพนักงานแล้ว SCG ยังได้ให้ความช่วยเหลือต่อชุมชน และผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมีแนวทางช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม 4 แนวทาง ประกอบด้วย

    1.บรรเทาความเดือดร้อน ด้วยการบริจาคสิ่งของ เครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น เช่น อาหารกล่อง ถุงยังชีพ เรือ เสื้อชูชีพ สุขากระดาษ เครื่องกรองน้ำ ฯลฯ พร้อมส่งทีมกู้ภัย (Rescue Team) โดยพนักงานที่มีจิตอาสาไปช่วยอพยพพนักงานและครอบครัวออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยจากภาวะน้ำท่วมสูง โดยได้ช่วยอพยพพนักงานและครอบครัวมาแล้วมากกว่า 800 คน และผู้ประสบภัยกว่า 6,600 คน

    2.จัดหาวัสดุป้องกันน้ำท่วม มอบให้รัฐบาลและกรุงเทพมหานคร

    3.เร่งฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยการเปิดคลินิกให้คำปรึกษา และคำแนะนำในการซ่อมแซมที่พักอาศัย และถนนหนทาง

    4.เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้น เป็นโครงการระยะยาว เช่น คิดค้นและพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับรองรับภัยพิบัติ อาทิ นวัตกรรมบ้านลอยน้ำ รวมถึงการร่วมมือกับกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยอบรมให้ความรู้ประชาชนในการป้องกัน และเตรียมความพร้อมหากต้องเผชิญกับอุทกภัยอีกในอนาคต   
    ป้ายคำค้น :
    2554 , มหาอุทกภัย , อุทกภัย , น้ำท่วม , BCM