ปรับโครงสร้างธุรกิจ

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2544 ก้าวสู่ยุคแห่งความมั่นคงอีกครั้งหลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ
    รายละเอียด :
    ปี 2544 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเอสซีจี หลังการปรับโครงสร้างธุรกิจภายใต้ภาวะวิกฤติที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2541 เสร็จสิ้นลง โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อพัฒนา 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ซิเมนต์ กระดาษและบรรจุภัณฑ์ ปิโตรเคมี  วัสดุก่อสร้าง เซรามิก และจัดจำหน่าย ส่งผลให้ทุกกลุ่มเข้มแข็ง คล่องตัว พร้อมรับมือกระแสความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้เป็นอย่างดี

    เมื่อพิจารณาแยกตามธุรกิจ เริ่มจาก ธุรกิจซิเมนต์ ยอดขายปูนซีเมนต์เทาในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เป็นผลมาจากการส่งออกปูนซีเมนต์ผงซึ่งมีราคาสูงกว่าปูนซีเมนต์เม็ดได้ในสัดส่วนมากขึ้น และขยายตลาดใหม่ในเอเชียใต้ แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้

    ด้านปูนซีเมนต์ขาวมียอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เป็นผลจากยอดขายในประเทศลดลงร้อยละ 6 แต่ชดเชยด้วยยอดขายต่างประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 76 ขณะที่ปูนสำเร็จรูปมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 สูงกว่าความต้องการเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 16 ส่วนคอนกรีตผสมเสร็จนั้นแม้ราคาขายลดต่ำลงเพราะการแข่งขันรุนแรง แต่บริษัทยังสามารถเพิ่มยอดขายโดยขยายเข้าสู่ตลาดงานก่อสร้างขนาดเล็ก และขยายฐานการผลิตครอบคลุมทั่วประเทศในรูปแบบของแฟรนไชส์ โดยปลายปี 2544 มีผู้เข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ 49 รายด้วยกัน

    ในปีนี้ ธุรกิจซิเมนต์ร่วมทุนกับ Aalborg Portland White จากประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซิเมนต์ขาวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกจัดตั้งบริษัท Aalborg Siam White Cement Pte Ltd. ที่สิงคโปร์ การดำเนินการระยะแรกก่อตั้งสำนักงานสาขาในไต้หวัน โดยนำปูนซีเมนต์ขาวจากบริษัทสยามปูนซิเมนต์ขาว และ Aalborg RCI White Cement ในมาเลเซียไปจัดจำหน่ายในตลาดเอเชีย

    ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมูลค่าการขายอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2543 เอสซีจียังคงรักษาความเป็นผู้นำตลาดในประเทศไว้ได้ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความสามารถผลิตสินค้าตรงความต้องการของลูกค้าและการบริการที่เป็นเลิศ มีการนำระบบ Supply-Chain Management มาปรับปรุงงาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทุกขั้นตอน มีการพัฒนาปรับปรุงระบบสารสนเทศ โดยเฉพาะ e-Commerce ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วเหนือคู่แข่ง

    ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีการพิมพ์เพื่อให้บริการลูกค้าด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงระบบการพิมพ์ให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและทนทาน

    สำหรับ ธุรกิจปิโตรเคมี แม้ยอดขายรวมทั้งปีลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากราคาในตลาดโลกลดลง แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับปี 2543 ปัจจัยที่มีนัยสำคัญคือ ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยตลาดหลักคือ จีน ประเทศในแถบอินโดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนตลาดที่ส่งออกได้มากขึ้นคือ เอเชียใต้ แอฟริกาและออสเตรเลีย

    นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมียังพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆ เมื่อมีการขยายกำลังการผลิต โดยการก่อสร้างโรงงานแล้วเสร็จในปี 2544 หลายโครงการด้วยกัน เช่น ขยายกำลังการผลิตเอททิลีนเป็นปีละ 800,000 ตัน ขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติคโพลีเอททิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) เป็นปีละ 500,000 ตัน ขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติคโพลีโพรไพลีน (PP) เป็นปีละ 320,000 ตัน

    ขณะเดียวกันบริษัทได้นำเทคโนโลยีทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในงานทุกด้าน ทั้งด้านการบริหารจัดการ การผลิตและการตลาด อาทิ e-Supply Chain Solution ระบบ ERP-Enterprise Resource Planning เทคโนโลยี APC-Advance Process Control และระบบ e-Ordering โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก

    ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง แม้ว่า ภาวะตลาดการก่อสร้างในภาพรวมชะลอตัวตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ธุรกิจวัสดุก่อสร้างเครือซิเมนต์ไทย ยังคงสามารถทำยอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เป็นผลจากการปรับตัวโดยลดต้นทุนการผลิต ขายสินค้าที่มีมูลค่าสูงมากขึ้นและเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น โดยสินค้าที่ทำยอดขายสูง เช่น กระเบื้องซีเมนต์ใยธรรมชาติ กระเบื้องหลังคาคอนกรีต กระเบื้องหลังคาเซรามิกและปลาสเตอร์แบบหล่อ (Moulding Plaster)

    ด้านการส่งออก ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 มาจากกระเบื้องซีเมนต์ใยธรรมชาติ ฉนวนใยแก้วและกระเบื้องหลังคาคอนกรีต โดยมีตลาดหลักคือ ลาว กัมพูชาและเมียนมาร์

    พัฒนาการทางธุรกิจที่สำคัญของธุรกิจวัสดุก่อสร้างในปีนี้คือ การขยายกำลังการผลิตกระเบื้องซีเมนต์ใยธรรมชาติที่อินโดนีเซียเป็นปีละ 85,000 ตันและกระเบื้องหลังคาคอนกรีต Neustile เป็นปีละ 400,000 ตารางเมตร นอกจากนั้นยังร่วมทุนกับ Larfarge จัดตั้ง CPAC Monier (Cambodia) Ltd. เพื่อผลิตกระเบื้องหลังคาคอนกรีต มีกำลังการผลิต 1.5 ล้านตารางเมตร

    ธุรกิจเซรามิก จากการมุ่งพัฒนาสินค้าใหม่ การโฆษณาและส่งเสริมการขาย ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ทำให้ยอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา โดยเปลี่ยนแนวคิดของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้า จากวัสดุก่อสร้างเป็นสินค้ากึ่งแฟชั่น ด้วยการยกระดับการออกแบบและพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยทุกสินค้าเพิ่มขึ้น

    นอกจากนั้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าการขายรวม เนื่องจากสามารถเพิ่มยอดขายในตลาดเดิม คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศในยุโรป รวมทั้งได้ตลาดใหม่ในแอฟริกาและยุโรปตะวันออก นอกจากนั้นยังเป็นผลจากการที่โครงการขยายกำลังการผลิตสุขภัณฑ์เพื่อการส่งออกที่โรงงานหนองแค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก TOTO ประเทศญี่ปุ่นแล้วเสร็จสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี

    ธุรกิจจัดจำหน่าย ยอดขายสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ส่วนยอดขายต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ ปูนซีเมนต์ เหล็ก วัสดุก่อสร้างและตกแต่งของเครือซิเมนต์ไทย

    บริษัทซิเมนต์ไทยการตลาดดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่เครือข่ายผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ โดยใช้แนวคิดการบริหารคู่ค้าสัมพันธ์ (PRM-Partner Relationship Management) เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและสร้างความพึงพอใจในระยะยาว

    สำหรับธุรกิจค้าปลีก เร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายซิเมนต์ไทยโฮมมาร์ท โดยนำวิทยาการของบริษัท Do It Best จากสหรัฐฯ มาประยุกต์กับการบริหารร้านซิเมนต์ไทยโฮมมาร์ทต้นแบบ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความชำนาญด้านการค้าปลีกแก่บุคลากรของบริษัทและร้านค้าในเครือข่าย

    ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย ได้จัดตั้งผู้แทนจำหน่ายในเมืองหลักๆ ของประเทศกัมพูชาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายการค้าในประเทศเพื่อนบ้าน

    บริษัทซิเมนต์ไทยโลจิสติกส์ นำระบบ Transportation Management System (TMS) มาช่วยบริหารเส้นทางจัดส่งปรับปรุงระบบ Demand Planning และร่วมกับธุรกิจอื่นๆ ในเครือซิเมนต์ไทย มีการเตรียมความพร้อมของโครงการ Supply Chain Management เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการ

    ด้านสถานะทางการเงิน เครือซิเมนต์ไทยดำเนินนโยบายด้วยการออกหุ้นกู้และเพิ่มสัดส่วนการกู้ยืมเงินจากธนาคารในประเทศเพื่อลดหนี้ต่างประเทศ ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศของเครือฯ ลดจากสัดส่วนร้อยละ 90 ของยอดหนี้ทั้งหมด อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2540 เหลือเพียงร้อยละ 2 ในปี 2544 ทำให้อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ไป แทบจะไม่มีผลกระทบต่อตัวเลขกำไรขาดทุนของบริษัท

    ด้านรายได้ เครือซิเมนต์ไทยสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก สัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการขายทั้งหมดของเครือ 
     
    ป้ายคำค้น :
    2544 , ปรับโครงสร้างธุรกิจ , ธุรกิจซิเมนต์ , ธุรกิจกระดาษและบรจุภัณฑ์ , ธุรกิจปิโตรเคมี , ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง , ธุรกิจเซรามิก , ธุรกิจจัดจำหน่าย