2544

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2544 เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ที่สหรัฐฯ
    รายละเอียด :
    เหตุการณ์การโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา มีต้นเหตุจากปัญหากับกลุ่ม Al-Qaeda ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานหลายปี กลุ่มก่อการร้ายนี้ก่อตั้งขึ้นช่วงปี 2523 โดย Osama Bin Laden

    กลุ่ม Al-Qaeda เคยก่อการร้ายบนแผ่นดินสหรัฐฯ มาแล้วในปี 2536 ด้วยการวางระเบิดตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ นิวยอร์ค จากนั้นมีการโจมตีอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดสร้างความเสียหายเท่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

    เช้าวันอังคารที่ 11 กันยายน ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ 11 ขับพุ่งเข้าชนตึกฝั่งเหนือ ของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จากนั้นไม่นาน เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ด พุ่งเข้าชนตึกฝั่งใต้ ขณะนั้นมีหลายล้านคนทั่วโลกได้ชมเหตุการณ์สดจากการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ 

    หลังจากนั้นสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ 77 พุ่งชนตึกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน ในรัฐเวอร์จิเนีย ตามด้วยเที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินเดียวกันตกลงกลางทุ่งกว้าง ในเพนซิลวาเนีย ข้อมูลภายหลังระบุว่า ผู้โดยสารบนเครื่องได้ต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย 

    ราวหนึ่งชั่วโมงเศษหลังการพุ่งชนครั้งแรกตึกแฝดก็ถล่มลง การเดินทางทางอากาศของสหรัฐฯ ทั้งหมดถูกยกเลิก ประชาชนภายในอาคารที่มีชื่อเสียงทั้งหมดทั่วประเทศได้รับคำสั่งให้ออกจากสถานที่ รวมแล้วมียอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 2,996 คน รวมผู้ก่อการร้าย 19 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 6,000 คน

    ผลกระทบของเหตุการณ์เกิดขึ้นกับภาคการเงินก่อน โดยตลาดหุ้นนิวยอร์คปิดทำการ 4 วันและเมื่อเปิดทำการดัชนีดาวน์โจนส์ร่วงลงจาก 9,605 จุด ลงไปที่ 8,920 จุด เป็นการปรับตัวลดลงในวันเดียวสูงสุดในประวัติศาสตร์ เกิดความเสียหายทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญ มีคนตกงานกว่า 65,000 คน

    อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการบิน ก่อนเหตุการณ์ มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 68.3 ล้านคนและมีการจ้างพนักงานบริการมากกว่า 520,000 คน สิ้นเดือนกันยายน จำนวนผู้โดยสารลดเหลือเพียง 39.4 ล้านคน ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ผู้ประกอบการเป็นจำนวนกว่า 5,000 ล้านเหรียญ รวมถึงสินเชื่ออีกกว่า 10,000 ล้านเหรียญสำหรับการกอบกู้อุตสาหกรรมให้กลับคืนมา

    จากการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในเดือนธันวาคม 2544 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.7 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2544 เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทุกกลุ่มประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การก่อวินาศกรรม ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง

    ขณะที่ธนาคารโลกเสนอรายงานประจำปีว่าด้วย “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและประเทศกำลังพัฒนาปี 2544” โดยระบุว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคร้ายแรงจนต้องย้อนกลับไปสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง โดยเกิดจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

    รายงานระบุว่าปัจจัยภายนอก 3 ประการที่มีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย ประกอบด้วย
    1.ผลกระทบจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลง
    2.ปัญหาการเงินของญี่ปุ่นที่ก่อตัวขึ้นใหม่
    3.การถอนตัวของธุรกิจภาคอิเล็กทรอนิกส์

    ธนาคารโลกยังได้ประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเอเชียตะวันออกในปี 2544 ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลง ส่วนการเติบโตในระยะยาวระหว่างปี 2543-2553 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.3
     
    ป้ายคำค้น :
    เศรษฐกิจโลก , สหรัฐอเมริกา , 2544 , 911 , 11-กันยายน-2544 , Al-Qaeda
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2544 สงครามสหรัฐฯ-อัฟกานิสถาน
    รายละเอียด :
    วันที่ 7 ตุลาคม 2544 สงครามในประเทศอัฟกานิสถานเริ่มขึ้น ภายใต้ข้อมูลว่า กลุ่ม Al-Qaeda ใช้ประเทศอัฟกานิสถานเป็นฐานบัญชาการระหว่างดำเนินการ ปฎิบัติการดังกล่าวใช้ชื่อว่า Operation Enduring Freedom เป็นการสนธิกำลังระหว่างกองทัพสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลียและพันธมิตรฝ่ายเหนือ

    สหรัฐฯ แถลงเป้าหมายการทำสงครามว่า เพื่อทำลายองค์การก่อการร้าย Al-Qaeda และยุติการใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานบัญชาการ นอกจากนั้นยังตั้งเป้าโค่นอำนาจของระบอบ Taliban และสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน
     
    ป้ายคำค้น :
    สหรัฐอเมริกา , 2544 , อัฟกานิสถาน , Al-Qaeda
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2544 รัฐบาลประกาศนโยบายและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
    รายละเอียด :
    รัฐบาลซึ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ แถลงนโยบายและมาตรการเร่งด่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544 ประกอบด้วย

                1. พักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี

                2. จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินหมุนเวียนในการลงทุน สร้างอาชีพเสริม และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและวิสาหกิจขนาดเล็กในครัวเรือน พร้อมทั้งโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แต่ละชุมชนได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้า โดยรัฐพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยระบบร้านค้า เครือข่ายและอินเทอร์เน็ต

                3. จัดตั้งธนาคารประชาชน เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย

                4. จัดตั้งธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเดิม และเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการใหม่อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างและรักษาฐานการผลิต การจ้างงาน การสร้างรายได้ การส่งออก และเป็นแกนหลักในการสร้างความเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต

                5. จัดตั้งบรรษัทกลางในการบริหารสินทรัพย์ เพื่อดำเนินการให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกจากระบบของธนาคารพาณิชย์โดยเร็วและเป็นระบบเบ็ดเสร็จ

                6. พัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรหลักในการกอบกู้เศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยรวมรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพและมีความพร้อมเข้าด้วยกัน ภายใต้การบริหารขององค์กรที่เป็นมืออาชีพ มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และปลอดจากการเมืองแทรกแซงในการบริหาร สนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

                7. สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” เพื่อลดรายจ่ายโดยรวมของประเทศและประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ โดยเสียค่าใช้จ่าย 30 บาทต่อครั้งและสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

                8. เร่งจัดตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดควบคู่ไปกับการปราบปรามและป้องกัน

                9. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่น
     
    ป้ายคำค้น :
    2544 , รัฐบาล , ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2544 ก้าวสู่ยุคแห่งความมั่นคงอีกครั้งหลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ
    รายละเอียด :
    ปี 2544 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเอสซีจี หลังการปรับโครงสร้างธุรกิจภายใต้ภาวะวิกฤติที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2541 เสร็จสิ้นลง โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อพัฒนา 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ซิเมนต์ กระดาษและบรรจุภัณฑ์ ปิโตรเคมี  วัสดุก่อสร้าง เซรามิก และจัดจำหน่าย ส่งผลให้ทุกกลุ่มเข้มแข็ง คล่องตัว พร้อมรับมือกระแสความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้เป็นอย่างดี

    เมื่อพิจารณาแยกตามธุรกิจ เริ่มจาก ธุรกิจซิเมนต์ ยอดขายปูนซีเมนต์เทาในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เป็นผลมาจากการส่งออกปูนซีเมนต์ผงซึ่งมีราคาสูงกว่าปูนซีเมนต์เม็ดได้ในสัดส่วนมากขึ้น และขยายตลาดใหม่ในเอเชียใต้ แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้

    ด้านปูนซีเมนต์ขาวมียอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เป็นผลจากยอดขายในประเทศลดลงร้อยละ 6 แต่ชดเชยด้วยยอดขายต่างประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 76 ขณะที่ปูนสำเร็จรูปมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 สูงกว่าความต้องการเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 16 ส่วนคอนกรีตผสมเสร็จนั้นแม้ราคาขายลดต่ำลงเพราะการแข่งขันรุนแรง แต่บริษัทยังสามารถเพิ่มยอดขายโดยขยายเข้าสู่ตลาดงานก่อสร้างขนาดเล็ก และขยายฐานการผลิตครอบคลุมทั่วประเทศในรูปแบบของแฟรนไชส์ โดยปลายปี 2544 มีผู้เข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ 49 รายด้วยกัน

    ในปีนี้ ธุรกิจซิเมนต์ร่วมทุนกับ Aalborg Portland White จากประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซิเมนต์ขาวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกจัดตั้งบริษัท Aalborg Siam White Cement Pte Ltd. ที่สิงคโปร์ การดำเนินการระยะแรกก่อตั้งสำนักงานสาขาในไต้หวัน โดยนำปูนซีเมนต์ขาวจากบริษัทสยามปูนซิเมนต์ขาว และ Aalborg RCI White Cement ในมาเลเซียไปจัดจำหน่ายในตลาดเอเชีย

    ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมูลค่าการขายอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2543 เอสซีจียังคงรักษาความเป็นผู้นำตลาดในประเทศไว้ได้ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความสามารถผลิตสินค้าตรงความต้องการของลูกค้าและการบริการที่เป็นเลิศ มีการนำระบบ Supply-Chain Management มาปรับปรุงงาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทุกขั้นตอน มีการพัฒนาปรับปรุงระบบสารสนเทศ โดยเฉพาะ e-Commerce ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วเหนือคู่แข่ง

    ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีการพิมพ์เพื่อให้บริการลูกค้าด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงระบบการพิมพ์ให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและทนทาน

    สำหรับ ธุรกิจปิโตรเคมี แม้ยอดขายรวมทั้งปีลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากราคาในตลาดโลกลดลง แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับปี 2543 ปัจจัยที่มีนัยสำคัญคือ ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยตลาดหลักคือ จีน ประเทศในแถบอินโดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนตลาดที่ส่งออกได้มากขึ้นคือ เอเชียใต้ แอฟริกาและออสเตรเลีย

    นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมียังพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆ เมื่อมีการขยายกำลังการผลิต โดยการก่อสร้างโรงงานแล้วเสร็จในปี 2544 หลายโครงการด้วยกัน เช่น ขยายกำลังการผลิตเอททิลีนเป็นปีละ 800,000 ตัน ขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติคโพลีเอททิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) เป็นปีละ 500,000 ตัน ขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติคโพลีโพรไพลีน (PP) เป็นปีละ 320,000 ตัน

    ขณะเดียวกันบริษัทได้นำเทคโนโลยีทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในงานทุกด้าน ทั้งด้านการบริหารจัดการ การผลิตและการตลาด อาทิ e-Supply Chain Solution ระบบ ERP-Enterprise Resource Planning เทคโนโลยี APC-Advance Process Control และระบบ e-Ordering โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก

    ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง แม้ว่า ภาวะตลาดการก่อสร้างในภาพรวมชะลอตัวตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ธุรกิจวัสดุก่อสร้างเครือซิเมนต์ไทย ยังคงสามารถทำยอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เป็นผลจากการปรับตัวโดยลดต้นทุนการผลิต ขายสินค้าที่มีมูลค่าสูงมากขึ้นและเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น โดยสินค้าที่ทำยอดขายสูง เช่น กระเบื้องซีเมนต์ใยธรรมชาติ กระเบื้องหลังคาคอนกรีต กระเบื้องหลังคาเซรามิกและปลาสเตอร์แบบหล่อ (Moulding Plaster)

    ด้านการส่งออก ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 มาจากกระเบื้องซีเมนต์ใยธรรมชาติ ฉนวนใยแก้วและกระเบื้องหลังคาคอนกรีต โดยมีตลาดหลักคือ ลาว กัมพูชาและเมียนมาร์

    พัฒนาการทางธุรกิจที่สำคัญของธุรกิจวัสดุก่อสร้างในปีนี้คือ การขยายกำลังการผลิตกระเบื้องซีเมนต์ใยธรรมชาติที่อินโดนีเซียเป็นปีละ 85,000 ตันและกระเบื้องหลังคาคอนกรีต Neustile เป็นปีละ 400,000 ตารางเมตร นอกจากนั้นยังร่วมทุนกับ Larfarge จัดตั้ง CPAC Monier (Cambodia) Ltd. เพื่อผลิตกระเบื้องหลังคาคอนกรีต มีกำลังการผลิต 1.5 ล้านตารางเมตร

    ธุรกิจเซรามิก จากการมุ่งพัฒนาสินค้าใหม่ การโฆษณาและส่งเสริมการขาย ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ทำให้ยอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา โดยเปลี่ยนแนวคิดของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้า จากวัสดุก่อสร้างเป็นสินค้ากึ่งแฟชั่น ด้วยการยกระดับการออกแบบและพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยทุกสินค้าเพิ่มขึ้น

    นอกจากนั้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าการขายรวม เนื่องจากสามารถเพิ่มยอดขายในตลาดเดิม คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศในยุโรป รวมทั้งได้ตลาดใหม่ในแอฟริกาและยุโรปตะวันออก นอกจากนั้นยังเป็นผลจากการที่โครงการขยายกำลังการผลิตสุขภัณฑ์เพื่อการส่งออกที่โรงงานหนองแค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก TOTO ประเทศญี่ปุ่นแล้วเสร็จสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี

    ธุรกิจจัดจำหน่าย ยอดขายสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ส่วนยอดขายต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ ปูนซีเมนต์ เหล็ก วัสดุก่อสร้างและตกแต่งของเครือซิเมนต์ไทย

    บริษัทซิเมนต์ไทยการตลาดดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่เครือข่ายผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ โดยใช้แนวคิดการบริหารคู่ค้าสัมพันธ์ (PRM-Partner Relationship Management) เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและสร้างความพึงพอใจในระยะยาว

    สำหรับธุรกิจค้าปลีก เร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายซิเมนต์ไทยโฮมมาร์ท โดยนำวิทยาการของบริษัท Do It Best จากสหรัฐฯ มาประยุกต์กับการบริหารร้านซิเมนต์ไทยโฮมมาร์ทต้นแบบ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความชำนาญด้านการค้าปลีกแก่บุคลากรของบริษัทและร้านค้าในเครือข่าย

    ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย ได้จัดตั้งผู้แทนจำหน่ายในเมืองหลักๆ ของประเทศกัมพูชาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายการค้าในประเทศเพื่อนบ้าน

    บริษัทซิเมนต์ไทยโลจิสติกส์ นำระบบ Transportation Management System (TMS) มาช่วยบริหารเส้นทางจัดส่งปรับปรุงระบบ Demand Planning และร่วมกับธุรกิจอื่นๆ ในเครือซิเมนต์ไทย มีการเตรียมความพร้อมของโครงการ Supply Chain Management เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการ

    ด้านสถานะทางการเงิน เครือซิเมนต์ไทยดำเนินนโยบายด้วยการออกหุ้นกู้และเพิ่มสัดส่วนการกู้ยืมเงินจากธนาคารในประเทศเพื่อลดหนี้ต่างประเทศ ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศของเครือฯ ลดจากสัดส่วนร้อยละ 90 ของยอดหนี้ทั้งหมด อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2540 เหลือเพียงร้อยละ 2 ในปี 2544 ทำให้อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ไป แทบจะไม่มีผลกระทบต่อตัวเลขกำไรขาดทุนของบริษัท

    ด้านรายได้ เครือซิเมนต์ไทยสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก สัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการขายทั้งหมดของเครือ 
     
    ป้ายคำค้น :
    2544 , ปรับโครงสร้างธุรกิจ , ธุรกิจซิเมนต์ , ธุรกิจกระดาษและบรจุภัณฑ์ , ธุรกิจปิโตรเคมี , ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง , ธุรกิจเซรามิก , ธุรกิจจัดจำหน่าย
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2544 ปรับตัวเข้ากับโลกธุรกิจด้วยการสร้าง "วัฒนธรรมองค์กร" ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ
    รายละเอียด :
    เอสซีจีได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการปรับตัวเข้ากับธุรกิจ จากปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ ทุกธุรกิจมีการสร้าง “วัฒนธรรมองค์กร” ที่สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินธุรกิจซึ่งแตกต่างกัน ส่งผลทำให้เกิดความสำเร็จของธุรกิจ

    ธุรกิจซิเมนต์ นอกจากการเน้นสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุดเพื่อสนองความต้องการของตลาดดังที่เคยทำมาตลอด มีการสร้างวัฒนธรรมของการให้ความสำคัญเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน 

    ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์  ด้วยเป็นอุตสาหกรรมที่สังคมภายนอกตั้งคำถามเรื่องการสร้างมลภาวะและประเด็นเกี่ยวกับวัตถุดิบทรัพยากรธรรมชาติ เอสซีจีจึงเน้นการสร้างวัฒนธรรมทั้งเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม การเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดการทำงานอย่างโปร่งใส ตั้งอยู่บนเป้าหมายหลักที่ว่า อนาคตของอุตสาหกรรมต้องมีการพัฒนาวัตถุดิบที่ยั่งยืน และสามารถนำมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง  

    ธุรกิจปิโตรเคมี มีการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร ให้บุคลากรทุกระดับมีแนวคิดและแนวปฎิบัติเพื่อสนับสนุนองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคง และร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจัดโครงการ C-ChEPS (Constructionism Chemicals Engineering Practice School) ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมความรู้ด้านวิศวกรรมเคมี ที่เป็นหัวใจของธุรกิจให้กับพนักงานระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับผิดชอบงานที่ต้องการความรู้สูงขึ้นในอนาคต 

    ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ดำเนินโครงการ Culture Change เพื่อพัฒนาองค์กรให้คล่องตัวเหมาะสมกับสภาพการแข่งขัน นอกจากนั้นยังร่วมกับธุรกิจซิเมนต์และธุรกิจจัดจำหน่ายในเครือซิเมนต์ไทย ดำเนินโครงการ Integrated Supply and Demand Planning เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้บริการลูกค้า

    ธุรกิจเซรามิก มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ โดยกำหนดแนวทางพฤติกรรมสู่ความสำเร็จให้พนักงานปฎิบัติ อาทิ รู้จักปรับตัว พลังสดใส ใจเปิดกว้าง คล่องแคล่วว่องไวและใส่ใจบริการ เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจเซรามิกซึ่งเป็นสินค้าแฟชั่น ที่ต้องการความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

    ธุรกิจจัดจำหน่าย กำหนดวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างถูกต้องรวดเร็วและเสริมสร้างบรรยากาศให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทั้งรูปแบบของการสัมมนาและการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งพัฒนาเป็น Web Based Training ในเวลาต่อมา นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้พนักงานถ่ายทอดความรู้ในงาน โดยมีการบันทึกเรื่องที่มีแนวการปฎิบัติที่ดีไว้ เพื่อให้ความรู้เหล่านี้คงอยู่กับบริษัทตลอดไป 
     
    ป้ายคำค้น :
    2544 , ธุรกิจซิเมนต์ , ธุรกิจปิโตรเคมี , ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง , ธุรกิจเซรามิก , ธุรกิจจัดจำหน่าย , วัฒนธรรมองค์กร