• พ.ศ. 2470 - 2479

    เปลี่ยนแปลงการปกครอง

    คณะราษฎรแบ่งสมาชิกจำนวน 102 นาย ออกเป็น 3 สาย คือ

    สายทหารบก จำนวน 34 นาย มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า

    สายทหารเรือ 18 นาย มีนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย(สินธุ์ กมลนาวิน)    เป็นหัวหน้า

    สายพลเรือน 50 นาย มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า

    ทั้ง 3 สายตกลงให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสที่สุด (อายุ 45 ปี) เป็นหัวหน้าคณะราษฎร

    ความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มจากนายปรีดี พนมยงค์ สนทนากับ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่กรุงปารีส ตกลงร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปี พ.ศ.2468  ต่อมามีการประชุมครั้งแรกที่กรุงปารีส ในปี พ.ศ.  2470 มีผู้ร่วมประชุม 7 นาย คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี  ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ(หลวงพิบูลสงคราม)     ร.ต.ทัศนัย นิยมศึก (หลวงทัศนัยนิยมศึก)    นายตั้ว ลพานุกรม หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) นายแนบ พหลโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งที่ประชุมได้ตกลงกัน “เปลี่ยนแปลงการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย”

    ในเวลาอีก 1 เดือนต่อมา นายปรีดีฯ เดินทางกลับประเทศไทย แต่ ร.ท.ประยูรฯ อยู่ต่อในระหว่างปี พ.ศ.2470 - 2472 ได้หาสมาชิกเพิ่มได้อีกหลายคนรวมทั้ง ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ร.น.(หลวงสินธุสงครามชัย)  นายควง อภัยวงศ์  นายทวี บุณยเกตุ  ดร.ประจวบ บุนนาค ม.ล.อุดม สนิทวงศ์  นายบรรจง    ศรีจรูญ  และ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช

    คณะราษฎรได้อ่านแถลงการณ์ “ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1” และเข้าควบคุมตัวบุคคลสำคัญในกรุงเทพฯ ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ในวันเดียวกันได้ส่งหนังสือกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในเวลานั้นเสด็จไปประทับอยู่ที่หัวหิน ได้เสนอให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เท่าที่มีอยู่ที่หัวหินในขณะนั้น เพื่อพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ก่อนทรงตัดสินพระทัยยอมทำตามข้อเสนอดังกล่าว โดยมีพระราชหัตถเลขาตอบในเช้าวันที่ 25 มิถุนายน และเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพ ฯ ทางรถไฟในค่ำวันนั้น และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ในวันที่ 26 มิถุนายน และได้ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง โดยเพิ่มคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป ในวันที่ 27 มิถุนายน โดยทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และคณะราษฎรถือว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ถาวร” ขึ้นภายใน 6 เดือน โดยให้เป็นที่ยอมรับได้จากทั้งสองฝ่าย

    ใน "ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ได้วาง หลัก 6 ประการของคณะราษฎรคือ

    รักษาเอกราชของประเทศ  

    รักษาความปลอดภัยในประเทศ  

    บำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ประชาชนอดอยาก

    ให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน ให้ราษฎรมีเสรีภาพเมื่อไม่ขัดกับหลัก 4 ข้อแรก

    ให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่

    (เรียบเรียงจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2475 การปฏิวัติสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543. หน้า 14-23))

    ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมได้ถูกนำมาใช้ โดยรัฐบาลบังคับซื้อกิจการต่างชาติที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศจำนวนหนึ่ง และสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนไทยให้มีบทบาททางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และรณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

    นายปรีดี พนมยงค์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ.2479 - 2480) ได้เจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับชาติตะวันตกได้สำเร็จ ทำให้ต่อมาเมื่อนายปรีดี ฯ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ.2481 - 2484) ประเทศไทยได้เริ่มตั้งกำแพงภาษีนำเข้าขึ้น
  • Remark :
  • SCG
  • National Events
  • Global Events