คณะราษฎร

  • ชื่อ
    พ.ศ.2483 คนไทยมีบทบาทมากขึ้น : ผู้บริหารไทย
    รายละเอียด :
    แต่สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้วชนิดไม่หวนกลับก็คือ บทบาทคนไทยที่มีมากขึ้นในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้มาจากแรงจูงใจของคณะราษฎรที่เข้ามีบทบาทในช่วงเวลาไม่ยาวนานนัก

    สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จนถึงปี พ.ศ. 2484 นับเป็นเวลายาวนานประมาณ 30 ปี คือ ตำแหน่งบริหารต่าง ๆ ตกอยู่ในมือของชาวเดนมาร์กทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทั่วไป วิศวกร และนายช่างเคมี

    คนไทยคนแรกที่เข้ามาอยู่ในตำแหน่งบริหารหรือที่เรียกในขณะนั้นว่าฝ่ายอำนวยการคือหม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์

    หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ ถือว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรคนหนึ่ง จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์แล้วโอนมาเป็นนักเรียนทุนของกรมรถไฟหลวง (ชื่อในขณะนั้น) โดยรับราชการที่การรถไฟตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 เมื่อเข้ามาทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตำแหน่งรองจากกรรมการผู้จัดการที่เป็นชาวเดนมาร์ก ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงงาน ในปี พ.ศ.2485 - 2487 ก่อนลาออกไปรับราชการ ในปี พ.ศ.2490 รัฐบาลแต่งตั้งให้เข้ามาดูแลอุตสาหกรรมเหล็กโดยร่วมกับกองทัพเรือ ในช่วงสั้น ๆ หลังจากนั้นลาออกไปอีกครั้งหนึ่งไปเป็นรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ หลายครั้ง ก่อนกลับมาทำงานที่บริษัท  ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อีกครั้งในปี พ.ศ.2491 ต่อเนื่องไปจนเกษียณอายุในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ ถือเป็นคนไทยคนแรกที่มีบทบาทในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต่อเนื่องยาวนานจากยุคเดนมาร์กมาจนถึงผู้จัดการใหญ่คนไทย

    หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ มีบทบาทต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ในทศวรรษ 2500 สมควรบันทึกบทบาทบุคคลผู้นี้ไว้ ซึ่ง    รายละเอียดเพิ่มเติมจะกล่าวในตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป

    จากนี้คนไทยก็ค่อยทยอยกันเข้ามาในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด บุคคลกลุ่มนี้มักจะมาจากหน่วยงานราชการที่สำคัญและมีบทบาทมากในเวลานั้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด จะมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็คือการรถไฟ ซึ่งถือว่าเป็นที่รวมของผู้มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะมีนักเรียนต่างประเทศจำนวนพอสมควร  
    ป้ายคำค้น :
    ผู้บริหาร , อุดม , สนิทวงศ์ , คณะราษฎร , พ.ศ. 2483
  • ชื่อ
    พ.ศ.2484 คนไทยมีบทบาทบริหารมากขึ้น : ประธานกรรมการบริษัทจากคณะราษฎร
    รายละเอียด :
    การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2475 นั้นมีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างกว้างขวางรวมทั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วย

    ปี พ.ศ.2476 มีการปรับเปลี่ยนกรมพระคลังข้างที่เดิมเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีในระบอบการปกครองใหม่ ต่อมาปี พ.ศ.     2480 จึงตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แทนพระคลังข้างที่ โดยมีการบริหารในรูปคณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ (ประธานกรรมการขณะนั้น ได้แก่ นายปรีดี พนมยงศ์ ในฐานะรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการคลัง) กับกรรมการอีก 4 คนที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง แต่เนื่องจากในขณะนั้นรัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์และได้ประทับเพื่อศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์อยู่ จึงมีการแต่งตั้งบุคคลในคณะราษฎรซึ่งขณะนั้น ได้แก่ นายชุณห์ ปิณฑานนท์ เข้าเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

    เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามกฏหมาย โดย นายชุณห์ ปิณฑานนท์ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในทันที แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาตัวแทนพระคลังข้างที่มิได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแต่มอบหมายให้ผู้มีความรู้ความสามารถทำหน้าที่แทนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พระยาอรรถการประสิทธิ์ที่ปรึกษากฏหมายดำรงตำแหน่งประธานกรรมการท่านแรกอยู่ 5 ปี (พ.ศ.2458 – 2464) ต่อจากนั้น นาวาโท ดับบลิว แอล กรุต ในฐานะผู้ก่อตั้งและมีบทบาทสำคัญในฐานะกรรมการตั้งแต่ต้น ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการต่อเนื่องยาวนานมาถึง 20 ปี (พ.ศ.2464 - 2484)

    คณะราษฎรให้ความสนใจต่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างมาก ทั้งมีความตั้งใจอย่างชัดเจนเพื่อเข้ามาเปลี่ยนแปลงบริษัทแห่งนี้โดยเฉพาะการควบคุมและบริหารการเงินของบริษัท

    เมื่อนายชุณห์ ปิณฑานนท์ เข้ามาเป็นประธานกรรมการตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 ได้ประมาณ 1 ปีเศษ นาวาโท ดับบลิว แอล กรุต ซึ่งเป็นเพียงกรรมการในตอนนั้นจึงตัดสินใจลาออกจากกรรมการ และเดินทางกลับไปพำนักในยุโรปในปี พ.ศ.2483 นอกจากนี้ยังมีสมาชิกของคณะราษฎรอีกคนหนึ่งมาร่วมในฐานะกรรมการพร้อม ๆ กับนายชุณห์ฯ ตั้งแต่ปี 2482 ด้วย ได้แก่ ร.อ.วัน   รุยาพร สมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ

    ในระยะที่ผ่านมา 1 ปี มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หลายเรื่อง ซึ่งเริ่มต้นมาพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนบทบาทสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหาษัตริย์

    ในปี พ.ศ.2482 คณะราษฎรได้ตั้งบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด โดยรัฐบาลถือหุ้น 70% และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 30% โดยมีสมาชิกคณะราษฎรหลายคนเป็นกรรมการบริษัท เช่น นายจรูญ รัตนกุล (หลวงเสรีเรืองฤทธิ์)  นายเล้ง ศรีสมวงศ์  นายวิลาศ โอสถานนท์ หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด) เพื่อทำกิจการขายส่งและขายปลีกรายใหญ่ ทั้งสินค้านำเข้า สินค้าบริโภคที่ผลิตในประเทศให้กับชาวชนบท และส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศ

    ในปลายปี พ.ศ.2482 บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ได้แสดงความจำนงขอจัดจำหน่ายปูนซีเมนต์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด แต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่สามารถบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการรั่วไหลผ่านพ่อค้าคนกลางนำปูนซีเมนต์ออกมาขายแข่งขันกับบริษัทในราคาถูกกว่าราคาตลาด และมีการค้างจ่ายค่าปูนซีเมนต์กับบริษัทเป็นจำนวนมาก อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มีปัญหาทางการเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

    ในช่วงระยะเวลานั้น Mr.Jespersen กรรมการผู้จัดการและคณะกรรมการบริษัท ต้องปรับตัวและบริหารกิจการท่ามกลางความขัดแย้งและความยากลำบากหลายประการ เท่าที่มีหลักฐานการประชุมคณะกรรมการบริษัทมีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวถึง

    ได้เกิดความขัดแย้งในการบริหารงานของคณะกรรมการบริษัท เนื่องจากต้องการให้มีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ทีมผู้บริหารชาวเดนมาร์กต้องการให้กันเงินไว้สำหรับการลงทุนเพิ่มภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเกิดการขาดแคลนปูนซีเมนต์และต้องการเก็บเงินของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไว้ใช้จ่ายเพื่อรักษาสภาพคล่องในช่วงเวลานั้น ในที่สุดทีมผู้บริหารชาวเดนมาร์กเลือกกู้เงินจากบัญชีเบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft) มาจ่ายเงินปันผลและเก็บเงินของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไว้

    สถานการณ์ปัญหาด้านการเงินในส่วนนี้ดำรงอยู่ประมาณ 10 ปี ภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 ต่อมาในปี พ.ศ.2491 ตัวแทนของคณะราษฎรพ้นจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไปพร้อม ๆ กับบทบาทของบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้จัดหน่ายปูนซีเมนต์ด้วย การบริหารการจัดการในเรื่องนี้จึงเข้าภาวะปกติต่อไป  
    ป้ายคำค้น :
    Jespersen , คณะราษฎร , ณห์ , ปิณฑานนท์ , วัน , รุยาพร , กรุต , พ.ศ.2484
  • ชื่อ
    พ.ศ.2475 เปลี่ยนแปลงการปกครอง
    รายละเอียด :
    คณะราษฎรแบ่งสมาชิกจำนวน 102 นาย ออกเป็น 3 สาย คือ

    สายทหารบก จำนวน 34 นาย มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า

    สายทหารเรือ 18 นาย มีนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย(สินธุ์ กมลนาวิน)    เป็นหัวหน้า

    สายพลเรือน 50 นาย มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า

    ทั้ง 3 สายตกลงให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสที่สุด (อายุ 45 ปี) เป็นหัวหน้าคณะราษฎร

    ความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มจากนายปรีดี พนมยงค์ สนทนากับ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่กรุงปารีส ตกลงร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปี    พ.ศ.2468  ต่อมามีการประชุมครั้งแรกที่กรุงปารีส ในปี พ.ศ.  2470 มีผู้ร่วมประชุม 7 นาย คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี  ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ(หลวงพิบูลสงคราม)     ร.ต.ทัศนัย นิยมศึก (หลวงทัศนัยนิยมศึก)    นายตั้ว ลพานุกรม หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) นายแนบ พหลโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งที่ประชุมได้ตกลงกัน “เปลี่ยนแปลงการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย”

    ในเวลาอีก 1 เดือนต่อมา นายปรีดีฯ เดินทางกลับประเทศไทย แต่ ร.ท.ประยูรฯ อยู่ต่อในระหว่างปี พ.ศ.2470 - 2472 ได้หาสมาชิกเพิ่มได้อีกหลายคนรวมทั้ง ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ร.น.(หลวงสินธุสงครามชัย)  นายควง อภัยวงศ์  นายทวี บุณยเกตุ  ดร.ประจวบ บุนนาค ม.ล.อุดม สนิทวงศ์  นายบรรจง    ศรีจรูญ  และ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช

    คณะราษฎรได้อ่านแถลงการณ์ “ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1” และเข้าควบคุมตัวบุคคลสำคัญในกรุงเทพฯ ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ในวันเดียวกันได้ส่งหนังสือกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในเวลานั้นเสด็จไปประทับอยู่ที่หัวหิน ได้เสนอให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เท่าที่มีอยู่ที่หัวหินในขณะนั้น เพื่อพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ก่อนทรงตัดสินพระทัยยอมทำตามข้อเสนอดังกล่าว โดยมีพระราชหัตถเลขาตอบในเช้าวันที่ 25 มิถุนายน และเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพ ฯ ทางรถไฟในค่ำวันนั้น และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ในวันที่ 26 มิถุนายน และได้ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง โดยเพิ่มคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป ในวันที่ 27 มิถุนายน โดยทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และคณะราษฎรถือว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ถาวร” ขึ้นภายใน 6 เดือน โดยให้เป็นที่ยอมรับได้จากทั้งสองฝ่าย

    ใน "ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ได้วาง หลัก 6 ประการของคณะราษฎรคือ

    รักษาเอกราชของประเทศ  

    รักษาความปลอดภัยในประเทศ  

    บำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ประชาชนอดอยาก

    ให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน ให้ราษฎรมีเสรีภาพเมื่อไม่ขัดกับหลัก 4 ข้อแรก

    ให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่

    (เรียบเรียงจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2475 การปฏิวัติสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543. หน้า 14-23))

    ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมได้ถูกนำมาใช้ โดยรัฐบาลบังคับซื้อกิจการต่างชาติที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศจำนวนหนึ่ง และสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนไทยให้มีบทบาททางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และรณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

    นายปรีดี พนมยงค์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ.2479 - 2480) ได้เจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับชาติตะวันตกได้สำเร็จ ทำให้ต่อมาเมื่อนายปรีดี ฯ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ.2481 - 2484) ประเทศไทยได้เริ่มตั้งกำแพงภาษีนำเข้าขึ้น  
    ป้ายคำค้น :
    คณะราษฎร , ปรีดี , พนมยงค์ , 2475 , เปลี่ยนแปลงการปกครอง