2487

  • ชื่อ
    พ.ศ.2484 การต่อสู้ดิ้นรนช่วงสงครามเอเชียบูรพา : การปรับตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2
    รายละเอียด :
    สินค้าใหม่ในช่วงสงคราม

    ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ผลิตสินค้าใหม่อย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วคือ การสร้างหลุมหลบภัยทางอากาศในราคาไม่แพง เป็นตุ่มคอนกรีตเสริมเหล็กเล็กน้อย ผู้ซื้อนำไปฝังลงตามลานบ้านและมีข่าวแพร่ไปว่าผู้ที่ใช้หลุมหลบภัยนี้ย่อมรอดพ้นจากภัยทางอากาศได้อย่างน่าประหลาดมหัศจรรย์ แม้ว่าการริเริ่มสินค้าต่อเนื่องชนิดนี้จะไม่ได้เป็นผลมาจากสงครามโลก หากในช่วงภาวะสงครามได้ทำให้ตลาดรู้จักผลิตภัณฑ์นี้ดีมากขึ้น

    การก่อเกิดอุตสาหกรรมเหล็ก

    การผลิตเหล็กเป็นกิจการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม ทั้งนี้เนื่องจากความจำเป็นจากการขาดแคลนและมีความต้องการให้มีการผลิตจากแหล่งสินแร่เหล็กภายในประเทศ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ขอสัมปทานเหล็ก จ.กระบี่ ตั้งแต่มกราคม พ.ศ.2483 ตามด้วยเดือนมกราคม พ.ศ.2484 ได้รับผลการสำรวจเหล็กขั้นต้นที่เขาทับควาย ต่อมาจึงเริ่มโครงการผลิตเหล็กขึ้นมา         (พ.ศ.2485) ทำให้ต้องดัดแปลงชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องจักรขึ้นมาเอง เพราะไม่สามารถสั่งซื้อและขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่จากยุโรปในภาวะสงครามได้ ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานเหล็กผลิตเหล็กถลุงและเหล็กเหนียว เหล็กเหนียวเส้นกลม ตะปูและลวดเหล็ก นอกจากนี้โรงงานเหล็กยังใช้ในการผลิตอิฐทนไฟและอิฐก่อสร้างอันเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ด้วย การผลิตเหล็กขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลไทย เนื่องจากแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กตามแนวคิดในยุคนั้นบวกกับภาวะสงครามจึงเห็นความจำเป็นของอุตสาหกรรมเหล็กมากขึ้น จากกรณีการผลิตเหล็กนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กับรัฐบาลในช่วงนั้นดีขึ้น ราบรื่นเป็นอย่างมาก

    การปรับตัวด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า

    เดิมบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตั้งแต่แรกตั้งบริษัทจนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลวงสามเสน ครั้นโรงไฟฟ้านี้ระเบิดก็ได้ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อโรงไฟฟ้าวัดเลียบผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงตัดสินใจผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้เอง แล้วได้จำหน่ายส่วนที่เกินความต้องการให้กับประชาชนเพื่อช่วยบรรเทาความขาดแคลนได้ด้วย

    การผลิตไฟฟ้าเองที่โรงงานท่าหลวงเป็นการสร้างสายไฟฟ้าแรงสูงสายแรกในต่างจังหวัด และให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลพบุรี และสระบุรี ได้ใช้ไฟฟ้าตามไปด้วย

    การปรับตัวเกิดกิจการใหม่ ๆ ได้แก่ โรงงานเหล็กยังใช้ในการผลิตอิฐทนไฟและอิฐก่อสร้างอันเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ด้วย ตามความต้องการวัสดุทนไฟที่มีคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกกิจการหนึ่งคือ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก่อสร้างต่าง ๆ ที่ทำจากคอนกรีตหล่อสำเร็จและคอนกรีตชนิดอัดแรง โดยตั้งเป็นบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (ปี พ.ศ.2495) ยังมีกิจการดูดทรายมาให้กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วย  
    ป้ายคำค้น :
    บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด , ท่าหลวง , 2487 , หลุมหลบภัยทางอากาศ , อุตสาหกรรมเหล็ก , การผลิตไฟฟ้า , เขาทับควาย , กระบี่
  • ชื่อ
    พ.ศ.2487 การต่อสู้ดิ้นรนช่วงสงครามเอเชียบูรพา : ปรับแผนด้านการเงิน
    รายละเอียด :
    ผู้บริหารบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มองวิกฤตให้เป็นโอกาสเสมอ การวางแผนทางการเงินในยามสงครามจำเป็นต้องรัดกุม ขณะเดียวกันก็วางแผนสำหรับการขยายตัวหลังสงครามที่เชื่อว่าจะมีมากขึ้น ทั้งนี้การบริหารภาคการผลิตจำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าระยะหนึ่ง

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จำเป็นต้องค้าขายกับต่างประเทศ ความจำเป็นต้องการเงินตราต่างประเทศย่อมจะมีมากขึ้น ในภายหลังสงครามอุปสรรคข้อนี้ใช้เวลาพอสมควรในการแก้ไข บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มประสบปัญหานี้ในช่วงกลางปี พ.ศ.2486 ได้รับผลกระทบด้านการเงินมากขึ้น ในช่วงปลายปี พ.ศ.2488 ถึงต้นปี พ.ศ.2489 มีดังนี้ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2488 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จะขอกู้เงินจากต่างประเทศโดยการค้ำประกันจากกระทรวงการคลัง 300,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้เพื่อซื้ออุปกรณ์ เครื่องจักรและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่สำคัญการขยายโรงงานท่าหลวงที่ยังค้างอยู่ แต่ก็ไม่ค่อยราบรื่นสำหรับประเทศไทยในช่วงหลังสงคราม

    เมื่อถึงต้นปี พ.ศ.2488 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จำต้องขายทรัพย์สินหลายรายการ ได้แก่ ที่ดิน เครื่องจักรทำถังไม้ ไม้ซุง เรือยนต์ เหล็ก เครื่องจักรอุปกรณ์ เพื่อรวบรวมเงินสดไว้สำหรับใช้ซื้อเครื่องจักรใหม่ในช่วงหลังสงคราม แต่การควบคุมเงินตราต่างประเทศของรัฐบาล ทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องไปขอแลกเงินต่างประเทศกับคณะผู้แทนเนเธอร์แลนด์เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรจากประเทศเดนมาร์ก

    ผลกระทบอีกด้านหนึ่งคือเรื่องการจ่ายเงินปันผล ในเดือนมกราคม พ.ศ.2492 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จัดสรรผลกำไร 10 ล้านบาท โดยขอลดการจ่ายเงินปันผลจาก 20% เหลือ 15% เนื่องจากต้องการกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าซื้อเครื่องจักรภายหลังสงคราม ภายหลังการเจรจากับผู้ถือหุ้น เรื่องอัตราเงินปันผล ในที่สุดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เห็นด้วยกับผู้บริหาร แต่ขอให้จ่ายโบนัสแทนค่าเสื่อมค่าเงินช่วงภาวะสงคราม

    นอกจากนี้ยังแสวงหาเงินทุนเพิ่มจากทางอื่น ๆ เช่น การเบิกเงินเกินบัญชี การกู้เงินทั้งจากธนาคารพาณิชย์ ทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความจำเป็นในการจัดซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มการผลิตปูนซีเมนต์ให้เพียงพอกับความต้องการใช้งานในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังสงคราม  
    ป้ายคำค้น :
    2487 , ปรับแผนด้านการเงิน
  • ชื่อ
    พ.ศ.2487 การต่อสู้ดิ้นรนช่วงสงครามเอเชียบูรพา : ผลกระทบการผลิตและการจำหน่าย
    รายละเอียด :
    การผลิตปูนซีเมนต์ออกจำหน่ายของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2458 และเริ่มเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้นจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้การนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศลดจำนวนลงไปมาก หลังจากนั้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้กลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่รายเดียวในประเทศ (โดยมีสัดส่วนการนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศแต่ละปีไม่เกิน 8% ของปริมาณปูนซีเมนต์ที่บริษัทฯ จำหน่ายได้ในปีเดียวกัน) โดยมีปูนซีเมนต์เหลือใช้ภายในประเทศแต่เพียงเล็กน้อย ยกเว้นปี พ.ศ.2460 - 2463 ที่มีการส่งปูนซีเมนต์ออกไปขายที่สิงคโปร์ ปีนัง และภาคเหนือของมาเลเซีย

    ยอดการจำหน่ายปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ก็ต้องมาเจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี พ.ศ.2473 - 2476 จากนั้นยอดการจำหน่ายปูนซีเมนต์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี พ.ศ.2483 ก่อนที่ยอดจำหน่ายเริ่มตกต่ำลง

    ในปี พ.ศ.2486 รัฐบาลได้เข้าควบคุมการจำหน่ายปูนซีเมนต์ เพื่อมิให้กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมการจำหน่ายและใช้ประโยชน์จากปูนซีเมนต์ที่ผลิตได้ อย่างไรก็ตามการกำหนดราคากระทำโดยคณะกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อยู่มีหลักฐานว่า แม้ยอดจำหน่ายจะลดลงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ก็มีการปรับราคาปูนซีเมนต์อย่างน้อย 2-3 ครั้งในช่วงสงคราม จากรายงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด แม้ว่ายอดขายจะลดลงไปมาก โดยเฉพาะการที่โรงงานถูกทิ้งระเบิด ทำให้การผลิตหยุดชะงักช่วงหนึ่ง แต่กำไรของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ยังมีอยู่ มีการจ่ายเงินปันผลอย่างปกติทุกปี ในช่วงสงครามในวงเงินไม่แตกต่างจากช่วงก่อนสงครามเลย

    ฉะนั้นหลังจากสงครามสิ้นสุดลง ซึ่งมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาไม่ถึง 5 ปี สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายได้มากกว่ายอดจำหน่ายสูงสุดของบริษัทฯ ที่เคยทำได้ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ.2486

    ผลกระทบโดยตรงและต่อเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด คือความขาดแคลนวัตถุดิบ อะไหล่ และความเสียหายในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ กล่าวคือ ถ่านหินจากเกาะสุมาตรา และแหล่งอื่น ๆ ในต่างประเทศ แร่ยิปซั่มจากเกาะไซปรัสและแหล่งอื่น ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งอาศัยการขนส่งทางเรือและได้รับภัยอันตรายจากสงคราม สำหรับการขาดแคลนอะไหล่ในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร สำหรับวัตถุดิบในประเทศก็ประสบความยุ่งยากในการขนส่งเช่นเดียวกัน

    ความพยายามปรับตัวของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด น่าศึกษา นอกจากจะผลิตปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ที่เรียกว่า ปูนตราเสือ ซึ่งมีส่วนผสมของยิปซั่มลดลง ขณะเดียวกันก็มีการหลอมเหล็กโดยใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบและใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงจนนำไปใช้งานได้ นอกจากนี้การทิ้งระเบิดจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรที่โรงงานบางซื่อในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2487ได้ทำลายหม้อเผา 2 หม้อจากจำนวน 3 หม้อ นายช่างไทยแสดงความสามารถในการพึ่งตนเองด้วยการซ่อมหม้อเผาที่ชำรุดได้ แม้ว่าจาก 2 หม้อจะรวมกันเหลือเพียงหม้อเดียว

    เช่นเดียวกันด้านการค้าต่างประเทศ ซึ่งเริ่มลดลงตั้งแต่เกิดสงครามโลกขึ้นในทวีปยุโรปในปี พ.ศ.2482 เหลือเพียงการค้าหลักกับญี่ปุ่นภายหลังรัฐบาลไทยได้การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร นอกจากนี้รัฐบาลไทยต้องรับภาระการใช้จ่ายของกองทัพญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยด้วย และทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าทั่วไปภายในประเทศ เกิดตลาดมืดที่สินค้ามีราคาสูงแต่หาซื้อได้ ในขณะที่มีสินค้าราคาควบคุมของรัฐบาลแต่หาซื้อไม่ได้ ทั้งนี้รวมทั้งปูนซีเมนต์ด้วย  
    ป้ายคำค้น :
    2487 , ขาดแคนวัตถุดิบ , ปูนตราเสือ