ท่าหลวง

  • ชื่อ
    พ.ศ.2484 การต่อสู้ดิ้นรนช่วงสงครามเอเชียบูรพา : การปรับตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2
    รายละเอียด :
    สินค้าใหม่ในช่วงสงคราม

    ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ผลิตสินค้าใหม่อย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วคือ การสร้างหลุมหลบภัยทางอากาศในราคาไม่แพง เป็นตุ่มคอนกรีตเสริมเหล็กเล็กน้อย ผู้ซื้อนำไปฝังลงตามลานบ้านและมีข่าวแพร่ไปว่าผู้ที่ใช้หลุมหลบภัยนี้ย่อมรอดพ้นจากภัยทางอากาศได้อย่างน่าประหลาดมหัศจรรย์ แม้ว่าการริเริ่มสินค้าต่อเนื่องชนิดนี้จะไม่ได้เป็นผลมาจากสงครามโลก หากในช่วงภาวะสงครามได้ทำให้ตลาดรู้จักผลิตภัณฑ์นี้ดีมากขึ้น

    การก่อเกิดอุตสาหกรรมเหล็ก

    การผลิตเหล็กเป็นกิจการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม ทั้งนี้เนื่องจากความจำเป็นจากการขาดแคลนและมีความต้องการให้มีการผลิตจากแหล่งสินแร่เหล็กภายในประเทศ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ขอสัมปทานเหล็ก จ.กระบี่ ตั้งแต่มกราคม พ.ศ.2483 ตามด้วยเดือนมกราคม พ.ศ.2484 ได้รับผลการสำรวจเหล็กขั้นต้นที่เขาทับควาย ต่อมาจึงเริ่มโครงการผลิตเหล็กขึ้นมา         (พ.ศ.2485) ทำให้ต้องดัดแปลงชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องจักรขึ้นมาเอง เพราะไม่สามารถสั่งซื้อและขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่จากยุโรปในภาวะสงครามได้ ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานเหล็กผลิตเหล็กถลุงและเหล็กเหนียว เหล็กเหนียวเส้นกลม ตะปูและลวดเหล็ก นอกจากนี้โรงงานเหล็กยังใช้ในการผลิตอิฐทนไฟและอิฐก่อสร้างอันเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ด้วย การผลิตเหล็กขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลไทย เนื่องจากแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กตามแนวคิดในยุคนั้นบวกกับภาวะสงครามจึงเห็นความจำเป็นของอุตสาหกรรมเหล็กมากขึ้น จากกรณีการผลิตเหล็กนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กับรัฐบาลในช่วงนั้นดีขึ้น ราบรื่นเป็นอย่างมาก

    การปรับตัวด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า

    เดิมบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตั้งแต่แรกตั้งบริษัทจนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลวงสามเสน ครั้นโรงไฟฟ้านี้ระเบิดก็ได้ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อโรงไฟฟ้าวัดเลียบผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงตัดสินใจผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้เอง แล้วได้จำหน่ายส่วนที่เกินความต้องการให้กับประชาชนเพื่อช่วยบรรเทาความขาดแคลนได้ด้วย

    การผลิตไฟฟ้าเองที่โรงงานท่าหลวงเป็นการสร้างสายไฟฟ้าแรงสูงสายแรกในต่างจังหวัด และให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลพบุรี และสระบุรี ได้ใช้ไฟฟ้าตามไปด้วย

    การปรับตัวเกิดกิจการใหม่ ๆ ได้แก่ โรงงานเหล็กยังใช้ในการผลิตอิฐทนไฟและอิฐก่อสร้างอันเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ด้วย ตามความต้องการวัสดุทนไฟที่มีคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกกิจการหนึ่งคือ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก่อสร้างต่าง ๆ ที่ทำจากคอนกรีตหล่อสำเร็จและคอนกรีตชนิดอัดแรง โดยตั้งเป็นบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (ปี พ.ศ.2495) ยังมีกิจการดูดทรายมาให้กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วย  
    ป้ายคำค้น :
    บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด , ท่าหลวง , 2487 , หลุมหลบภัยทางอากาศ , อุตสาหกรรมเหล็ก , การผลิตไฟฟ้า , เขาทับควาย , กระบี่
  • ชื่อ
    พ.ศ.2509 เข้าสู่อุตสาหกรรมเหล็กอย่างเต็มตัว
    รายละเอียด :
    รัฐบาลไทยในช่วงที่มีผู้นำทางการเมืองที่มาจากกลุ่มคณะราษฎรต่างมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศตามแนวคิด

    "การที่พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองได้ประเทศของเราจะต้องก้าวไปสู่กิจการอุตสาหกรรม.... จะต้องมีการผลิตเหล็กขึ้นในประเทศ เพื่อเป็นการรองรับอุตสาหกรรม"

    นายวิชา เศรษฐบุตร อธิบดีกรมโลหะกิจ พ.ศ.2498-2514 และอดีตกรรมการบริษัทเหล็กสยาม จำกัด และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กล่าวไว้ใน "จารึกในความทรงจำ" กล่าวถึงแนวความคิดที่ทรงอิทธิพลของนักวางแผนทางเศรษฐกิจในยุคนั้น

    บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในยุคผู้จัดการทั่วไปชาวเดนมาร์กคนที่สาม ให้ความสำคัญในการบุกเบิกอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งมีแผนการ "ที่จะสร้างศูนย์อุตสาหกรรมของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด" อยู่แล้ว (วิชา เศรษฐบุตร อ้างแล้ว) ซึ่งเข้าใจว่าจะสร้างขึ้นที่ท่าหลวง (อ่านรายละเอียด "เมืองอุตสาหกรรม" ในเรื่องโรงงานท่าหลวง) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้สนับสนุนให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ดำเนินการขอสัมปทานแหล่งแร่เหล็กจากรัฐบาลทั้งที่ จ.กระบี่ และ จ.ลพบุรี ที่จังหวัดกระบี่นั้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวสวีเดนมาทำการสำรวจแต่พบว่าเหล็กมีคุณภาพต่ำ แต่นายสมัคร บุราวาศ วิศวกรเหมืองแร่ของกรมโลหะกิจได้แนะนำให้ไปสำรวจที่เขาทับควาย จ.ลพบุรี พบแหล่งแร่เหล็กมีคุณภาพดี จึงเป็นการเริ่มต้นการทำอุตสาหกรรมเหล็กของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    รัฐบาลยังให้การสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาล คือ ดร.จ่าง รัตนะรัต และนายสมัคร บุราวาศ ให้มาร่วมทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2485 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ดำเนินการทดลองถลุงเหล็กได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยการสนับสนุนของรัฐบาล โดยรัฐบาลคาดหวังว่าจะผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 100 ตันต่อวัน ทั้งนี้การทดลองถลุงเหล็กมีความจำเป็นในการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อดำเนินการผลิตต่อไปให้ได้ ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรใหม่จากต่างประเทศได้ตามความต้องการเนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยที่มีผู้นำทางการเมืองคือ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอให้กองทัพเรือซึ่งมีเตาถลุงเหล็กแบบ Bessemer ดำเนินการร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเหล็กต่อไป

    ในปี พ.ศ.2490 รัฐบาลตั้งกรรมการ 2 คน คือ นายประวัติ สุขุม อธิบดีกรมโลหะกิจ และ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ มาเจรจาเรื่องอุตสาหกรรมเหล็กกับกองทัพเรือ โดยมีกรรมการผู้แทนกองทัพเรือ ได้แก่ น.อ.จำรัส เภกะนันท์ รน.,น.อ.ชลี สินธุโสภณ รน.,น.อ.ฉาด แสง-ชูโต รน. ซึ่งทั้ง 3 ท่านยังคงทำงานร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต่อไป แม้ว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตัดสินใจดำเนินอุตสาหกรรมเหล็กต่อไปเอง โดยใช้เตาถลุงเหล็กแบบ Open Hearth

    การรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 นำโดยคณะทหารบกซึ่งได้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลไทยยังมีนโยบายสนับสนุนให้มีการขยายกำลังการผลิตเหล็กให้เพิ่มขึ้นต่อไป ในปี พ.ศ.2493 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเรื่องอุตสาหกรรมเหล็กจากเดนมาร์ก และในปี พ.ศ.2494-2496 ได้ส่งพนักงานบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไปฝึกอบรมทุกปีทั้งที่ญี่ปุ่นและในยุโรป ทั้งได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เดินทางไปเปิดเตาเหล็กกล้าที่โรงงานท่าหลวงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2496 จนถึงปี พ.ศ. 2499 อุตสาหกรรมเหล็กเริ่มทำกำไร และทำให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ.2503 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด สั่งซื้อเตาไฟฟ้าเตาแรกมาใช้ ทำให้สามารถขยายการหลอมเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    แต่ด้วยปริมาณแหล่งแร่เหล็กที่มีอยู่จำกัดของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงทำให้ในช่วงปี พ.ศ.2503-2507 เป็นช่วงการแสวงหาแหล่งแร่เหล็กใหม่ ๆ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ จ.นครสวรรค์ กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา ในที่สุดกลับเป็นการสำรวจแหล่งแร่เหล็กเดิมใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2507 คือที่เขาทับควาย จ.ลพบุรี แล้วพบปริมาณแร่เหล็กถึง 7 ล้านตัน ด้วยความมั่นใจในปริมาณแหล่งแร่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างจริงจังจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการจดทะเบียนดำเนินกิจการบริษัทเหล็กสยาม จำกัด เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2509

    ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2500 ต่อมาได้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายส่งสริม การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยให้การส่งเสริมการลงทุน และยังให้การสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยต่อไป ซึ่งทางบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลหลายครั้งด้วยกัน สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมซึ่งรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาให้การสนับสนุนการทำธุรกิจโดยเสรี โดยรัฐไม่เข้าไปเป็นเจ้าของดำเนินกิจการเองเหมือนสมัยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผลที่ตามมาประการหนึ่งของการตั้งบริษัทเหล็กสยาม จำกัด คือการเชิญนายบุญมา วงศ์สวรรค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งต่อมาภายหลังได้เป็นกรรมการและเป็นผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในปี พ.ศ.2517

    การเตรียมการครั้งใหญ่ก็เพื่อแสวงหาเงินทุน ก่อนที่จะพบข้อจำกัดในช่วงปี พ.ศ.2516 ว่าถ้าต้องการลงทุนเพิ่มด้วยการกู้ยืมเงินหรือหาผู้ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรรมเหล็กแล้ว ควรต้องแยกการผลิตเหล็กรีดกับเหล็กหล่อออกจากกัน

    จากจุดเริ่มต้นนั้น ซึ่งมาจากแรงบันดาลใจของแนวทางพัฒนาประเทศในสมัยหนึ่ง จากอิทธิพลและการสนับสนุนจากรัฐบาล อุตสาหกรรมของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มต้นอย่างจริงจัง  
    ป้ายคำค้น :
    ท่าหลวง , อุตสาหกรรมเหล็ก , ปรีดี , พนมยงค์ , 2505 , จ่าง , รัตนะรัต , สมัคร , บุราวาศ
  • ชื่อ
    เรื่องที่ 5 : เผชิญมรสุมครั้งใหญ่
    รายละเอียด :
    นำเสนอการฝ่าฟันวิกฤติครั้งใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทยนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท 

    วิกฤติที่เป็นผลกระทบจากภายนอก คือ

    • การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในประเทศไทย
      (ความไม่มั่นคงทางการเมือง - มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล  
      มากถึง 25 ชุด ระหว่าง พ.ศ. 2475-2495)
    • การก่อตั้งสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แทนพระคลัง
      ข้างที่ (ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท)
    • สงครามโลกครั้งที่ 2 (ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ)








    วิกฤติจากผลกระทบภายใน คือ

    • การขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต (ถ่านไม้และถ่านหิน)
    • อุปสรรคโครงการท่าหลวง (ไม่สามารถนำเครื่องจักรซึ่งส่วนใหญ่
      มาจากยุโรปมายังประเทศไทยได้)


     
    ป้ายคำค้น :
    ท่าหลวง , วิกฤติ , เครือซีเมนต์ไทย , สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ , การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง , สงครามโลกครั้งที่ 2
  • ชื่อ
    เรื่องที่ 6 : SCG ก้าวเป็นผู้นำตลาดไทย มาจากนวัตกรรมหรือการผูกขาด
    รายละเอียด :
    นำเสนอการศึกษาโมเดลธุรกิจซิเมนต์ นับตั้งแต่ช่วง 28 ปีแรกของการก่อตั้งบริษัท (พ.ศ. 2456-2484) ผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
    (พ.ศ. 2488-2498) และช่วงที่ประเทศไทยมีนโยบายเปิดประเทศ
    (พ.ศ. 2498-2512) โดยแสดงถึงความพยายามของบริษัทที่จะแข่งขันกับปูนซีเมนต์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศรวมทั้งต้องแข่งขันกับบริษัทชลประทานซีเมนต์ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อบ่งชี้ว่าธุรกิจซีเมนต์นั้นไม่ได้เป็นการผูกขาดตามที่เข้าใจกัน



    เนื้อหายังนำเสนอแนวคิดของการก่อตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ที่ท่าหลวง ว่าเริ่มจากกลยุทธ์ในการบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะใกล้กับแหล่งวัตถุดิบมากกว่า อีกทั้งยังเป็นการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะในมาเลเซียและสิงคโปร์ แทนการไปสร้างโรงงานในต่างประเทศ และเป็นก้าวสำคัญของการเป็นผู้นำธุรกิจในประเทศไทย

    นอกจากนี้ การตั้งโรงงานท่าหลวงยังเป็นความพยายามร่วมกันระหว่างชาวเดนมาร์ก ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทปูนซิเมนต์ไทยมายาวนาน 35 ปี กับคนไทยที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ทัดเทียมมากขึ้นทั้งในระดับวิศวกรและผู้บริหาร



     
    ป้ายคำค้น :
    ท่าหลวง , โมเดลธุรกิจซิเมนต์ , บริษัทชลประทานซีเมนต์