2546

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2546 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและขยายตัวเร็วขึ้น
    รายละเอียด :
    เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและขยายตัวเร็วขึ้น หลังจากการคลี่คลายของสถานการณ์สงครามในอิรัก และการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในช่วงครึ่งปีแรก

    หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2546 ส่วนใหญ่เห็นว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แม้สถานการณ์โดยรวมอาจยังไม่มั่นคง ทั้งความขัดแย้งในอิรักและการก่อการร้ายระลอกใหม่ ซึ่งถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าใช้จ่ายบริษัทและการจ้างงานปรับตัวขึ้นไม่มากนัก อีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจยังคงมีแรงเหวี่ยงสูงขึ้นเมื่อบริษัทต่างๆ เริ่มสะสมสินค้าคงคลังและลงทุนด้านอุปกรณ์ใหม่เพิ่มขึ้น

    เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังคงอ่อนแอ แม้มีสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดผ่านพ้นไปแล้ว ความเชื่อมั่นของทั้งภาคธุรกิจและประชาชนเริ่มสูงขึ้น แต่แนวโน้มการฟื้นตัวมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้าๆ การว่างงานยังคงสูงขึ้น ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจเยอรมนีที่อยู่ในภาวะถดถอยเป็นปีที่ 3 ยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของภูมิภาค

    เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยมาจากการฟื้นตัวของการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุน กอปรกับภาวะทางการเงินต่างๆ ดีขึ้น อาทิ ราคาหลักทรัพย์และพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น

    เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวช่วงต้นปี เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนจากภาวะสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอิรักและผลกระทบจากการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลาย กอปรกับวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

    ในเดือนมีนาคม องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศเตือนทั่วโลกเกี่ยวกับการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) พื้นที่ที่มีการระบาดมากคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนและเวียดนาม

    ในเดือนเมษายนมีการคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงในเอเชียจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนในภาคเอกชนระดับรุนแรงมากกว่าสงครามอิรัก โดยฮ่องกงได้รับความเสียหายอย่างมากในธุรกิจการท่องเที่ยว ค่าเงินของฮ่องกงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักเพราะผลของความเสียหายทางเศรษฐกิจ
    ก่อนหน้านั้น ABN AMRO วาณิชธนกิจชั้นนำของเนเธอร์แลนด์ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของฮ่องกงปี 2546 โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ภายใต้สมมติฐานที่ว่าฮ่องกงสามารถควบคุมโรคดังกล่าวได้ภายในเวลา 1 เดือน

    ภาคธุรกิจที่ได้รับความเสียหาย คือ สายการบิน โรงแรม การค้าขาย ค้าปลีกและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์

    วันที่ 10 เมษายน รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศมาตรการความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เช่น ธุรกิจการบิน โรงแรม ร้านอาหารและสถานดูแลเด็ก โดยมีคณะกรรมการประเมินสถานการณ์จัดทำแผนความช่วยเหลือจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมหรือกระทรวงการคลัง

    จากรายงาน ณ วันที่ 23 กันยายน 2546 จำนวนผู้ป่วยโรค SARS สะสมมีทั้งสิ้น 8,099 ราย มีผู้เสียชีวิต 774 ราย จากทั้งหมด 29 ประเทศ
     
    ป้ายคำค้น :
    เศรษฐกิจโลก , SARS , 2546 , สงครามสหรัฐอเมริกา-อิรัก
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2546 ญี่ปุ่น-รัสเซียร่วมมือสร้างท่อส่งน้ำมัน
    รายละเอียด :
    ญี่ปุ่น-รัสเซียร่วมมือสร้างท่อส่งน้ำมันจากไซบีเรียไปตะวันออกไกล

    ญี่ปุ่นและรัสเซียประกาศความร่วมมือสร้างท่อส่งน้ำมันจากไซบีเรียไปตะวันออกไกล ความยาว 4,000 กิโลเมตร มูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่จุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางไปเยือนกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย ระหว่างวันที่ 9-12 มกราคม 2546 โดยหวังว่าจะช่วยให้ทั้งสองภูมิภาคลดการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลางได้

    ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (รองจากซาอุดิอาระเบีย) โดยมีน้ำมันสำรองประมาณ 60 พันล้านบาเรล และน้ำมันดิบเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่นำรายได้เข้าประเทศถึงร้อยละ 50 ของรายได้ของประเทศ และเป็นที่มาของรายได้ที่นำไปใช้หนี้ต่างประเทศของรัสเซีย

    น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในรัสเซียร้อยละ 70 ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมีผู้ซื้อที่สำคัญ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนีและสเปน ที่เหลือประมาณร้อยละ 30 นำไปใช้ภายในประเทศ

    รัสเซียมีแผนพัฒนาเขตน้ำมันในไซบีเรียและในเกาะสะขะลิน รวมถึงแผนเพิ่มการส่งออกไปสู่ประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีและจีน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับคาซัคสถานในการพัฒนาแหล่งน้ำมันและท่อส่งน้ำมันจากทะเลสาบแคสเปียนไปยังจีน ซึ่งคาดว่าจะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของรัสเซียในทวีปเอเชีย

    ขณะเดียวกันรัสเซียกำลังพัฒนาเทอร์มินัลที่เมืองท่ามูรมันคส์ทางภาคเหนือ และพัฒนาการเชื่อมท่อส่งน้ำมันดรูชบาของตนกับท่อลำเลียงน้ำมันอาเดรียของโครเอเชียเพื่อส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้   
    ป้ายคำค้น :
    ญี่ปุ่น , 2546 , รัสเซีย , ท่อส่งน้ำมัน
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2546 ผู้นำอาเซียนประกาศเจตนารมณ์รวมกลุ่มภายในภูมิภาคให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563
    รายละเอียด :
    ผู้นำอาเซียนประกาศเจตนารมณ์รวมกลุ่มภายในภูมิภาคให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563 ตามแถลงการณ์บาหลี ฉบับที่ 2 (Bali Concord II)

    เดือนตุลาคม 2546 ในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) เพื่อให้เกิดประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community – ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC)

    ทั้งนี้ ปฏิญญาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนธันวาคม 2540 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมประกาศ “วิสัยทัศน์อาเซียน 2020” (ASEAN Vision 2020) โดยกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) อาเซียนจะมีรูปแบบความร่วมมือที่พัฒนาใกล้ชิดมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
     
    ป้ายคำค้น :
    ASEAN , 2546 , AEC
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2546 ปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่
    รายละเอียด :
    ปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ ครอบคลุมภาษีศุลกากร อุตสาหกรรมน้ำมัน เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม ยางและอุตสาหกรรมสิ่งทอ

    คณะรัฐมนตรีอนุมัติปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรกว่า 1,391 รายการทำให้รัฐเสียรายได้ 15,600 ล้านบาท แต่เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รวมทั้งคาดหมายว่าจะได้รับรายได้จากภาษีอื่นเข้ามาทดแทน โดยกลุ่มสินค้าที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างมีกลุ่มเคมีภัณฑ์ อินทรีย์ (ปิโตรเคมีขั้นต้น) กลุ่มยางและของทำด้วยยาง สิ่งทอและของที่ทำด้วยสิ่งทอ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักกล เครื่องไฟฟ้า ยานยนต์ กลุ่มพลาสติก  
    ป้ายคำค้น :
    2546 , ปรับโครงสร้างภาษี
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2546 จัดตั้งธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างโดยรวมธุรกิจเซรามิกและวัสดุก่อสร้าง
    รายละเอียด :
    เอสซีจีปรับโครงสร้างการบริหารงานให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจ โดยรวมธุรกิจวัสดุก่อสร้างและธุรกิจเซรามิกเข้าด้วยกันเป็นธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยจัดตั้งบริษัทผลิตภัณฑ์ก่อสร้างซิเมนต์ไทยเพื่อดำเนินการ

    การควบรวมทำให้เกิดข้อดีหลายประการ ทั้งในแง่ของด้านการประหยัดต้นทุนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การเงินโครงการ นอกจากนั้น กลุ่มลูกค้าของสินค้าทั้ง 2 ธุรกิจยังเป็นกลุ่มเดียวกันจึงสามารถใช้เครือข่ายการจัดจำหน่ายร่วมกันได้ แม้บางช่องทางแตกต่างกันในส่วนของรายละเอียด แต่การควบรวมทำให้บริษัทสามารถให้บริการลูกค้าปลายทางได้ดีขึ้น รวมทั้งมีการเปิดใช้ระบบศูนย์บริการลูกค้าโดยอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้วย

    นอกจากนั้น ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างได้ร่วมกับธุรกิจซิเมนต์และธุรกิจจัดจำหน่ายในการลงทุนด้านคอมพิวเตอร์ จัดทำโครงการ Integrated Supply and Demand Planning เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนการผลิตสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้สูงสุด รวมทั้งช่วยในการวางแผนการผลิตทำให้ทราบว่าต้องผลิตสินค้าเท่าใดและเอเย่นต์พื้นที่ใดต้องการสินค้ามากที่สุด
     
    ป้ายคำค้น :
    ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง , ธุรกิจเซรามิก , 2546 , ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2546 มุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจหลัก
    รายละเอียด :
    มุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจหลักทั้งในระดับประเทศและเพิ่มบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น

    ตลอดปี 2546 เอสซีจีได้พัฒนาธุรกิจทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมรับการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดเสรี โดยมุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในประเทศ รวมทั้งมีเป้าหมายขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาค และยังเป็นปีที่เอสซีจีเน้นโปรแกรมตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้นในหลายธุรกิจ
     
    ธุรกิจซิเมนต์

    มีการนำระบบ Supply Chain Management ซึ่งเน้นการวิเคราะห์ วางแผนการผลิตและการกระจายสินค้าอย่างต่อเนื่องมาใช้งาน ส่งผลให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง และมีต้นทุนการผลิตและการกระจายสินค้าลดลง

    ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์

    มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี 2545 ความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญเป็นผลจากการเข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ใน United Pulp and Paper Co., Inc ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีการส่งคณะทำงานร่วมปรับปรุงระบบการตลาด ผลิตและจัดหาวัตถุดิบ นอกจากนั้น ปริมาณการขายยังเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการด้วย

    ด้านบรรจุภัณฑ์ ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เป็นผลจากการขยายสู่อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งเพื่อส่งออกและอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเติบโตสูง รวมถึงผู้ผลิตสินค้าชั้นนำที่ย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทย นอกจากนั้น ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ยังได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทไทยเคนเปเปอร์ จำกัด(มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตกระดาษคราฟท์รายใหญ่ของประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์ทั้งในประเทศและภูมิภาค

    สำหรับธุรกิจต่างประเทศนั้น ธุรกิจกระดาษพิมพ์เขียน ปริมาณการขายมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของปริมาณการขายรวม ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนามและมาเลเซีย ส่วนกระดาษอุตสาหกรรม ปริมาณการขายอยู่ที่ร้อยละ 25 ของปริมาณการขายรวม โดยสัดส่วนยอดขายในภูมิภาคอินโดจีนสูงขึ้นตามนโยบายพัฒนาเป็นตลาดส่งออกหลัก

    ธุรกิจปิโตรเคมี

    บริษัทไทย เพ็ท เรซิน ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับมิตซุย เคมิคัล เพื่อผลิตเม็ดพลาสติก PET กำลังผลิตปีละ 100,000 ตัน สามารถก่อสร้างโรงงานได้ตามกำหนดและเริ่มเปิดดำเนินการได้ตามแผนในปี 2547

    โดยบริษัทซีซีซี ค้าเคมีภัณฑ์ พัฒนาระบบ CRM ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว อันนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้า

    ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

    โดยธุรกิจในประเทศนั้น จากการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ เช่น กระเบื้องปูพื้นและบุผนังเซรามิก กระเบื้องหลังคาคอนกรีต กระเบื้องหลังคาซีเมนต์ใยธรรมชาติและฉนวนกันความร้อน มียอดขายเพิ่มขึ้นทั้งงานโครงการและบ้านสร้างเอง

    บริษัทเซรามิกอุตสาหกรรมไทย จำกัด ขยายกำลังการผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังเซรามิกเพิ่มขึ้น 3 ล้านตารางเมตรเป็น 35 ล้านตารางเมตรต่อปี และร่วมมือกับบริษัทออกแบบชั้นนำของฝรั่งเศส เพื่อสร้างความโดดเด่นของสินค้าในฐานะผู้นำตลาด โดยสามารถออกแบบสินค้าลวดลายใหม่ออกสู่ตลาดกว่า 120 รุ่น

    ผลิตภัณฑ์วัสดุทนไฟ ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 กระเบื้องปูพื้นและบุผนังเซรามิกมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของยอดส่งออกทั้งหมดของธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยตลาดสำคัญอยู่ที่สหรัฐฯ อาเซียน ออสเตรเลียและยุโรป

    ในปีนี้ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยังมีการพัฒนาธุรกิจในภูมิภาค เช่น ร่วมทุนกับกลุ่มสายโขงคอนกรีต จัดตั้งบริษัทและจำหน่ายกระเบื้องหลังคาคอนกรีตในลาว กำลังการผลิตปีละ 650,000 ตันเริ่มจำหน่ายต้นปี 2547

    ธุรกิจจัดจำหน่าย

    ยอดขายเพิ่มจากปีที่แล้วร้อยละ 8 โดยบริษัทซิเมนต์ไทยการตลาด พัฒนาระบบจัดจำหน่ายในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า และนำระบบ Supply Chain Management และระบบบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค้า (Partner Relationship Management) มาใช้กับผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ

    บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย เน้นการเป็นศูนย์กลางการนำเข้าสินค้าพลังงานและอุปกรณ์ชิ้นส่วน และส่งออกแร่ยิปซั่มและแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านเอกสารการค้าให้เร็วขึ้นและต้นทุนต่ำลง โดยให้สำนักงานบางซื่อเป็นผู้บริหารการเงินให้แก่สาขาต่างประเทศด้วยความร่วมมือจากธนาคารชั้นนำระดับโลก ในการบริหารเงินของบัญชีสาขาต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต

    ด้านธุรกิจค้าปลีก มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านซิเมนต์ไทยโฮมมาร์ท ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อวัสดุก่อสร้างและเคหะภัณฑ์ด้วยตนเองได้ดียิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงร้านค้าสู่รูปแบบใหม่กว่า 200 แห่งในปี 2547
     
    ป้ายคำค้น :
    ธุรกิจซิเมนต์ , ธุรกิจกระดาษและบรจุภัณฑ์ , ธุรกิจปิโตรเคมี , ธุรกิจจัดจำหน่าย , 2546 , ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2546 ผู้ผลิตกระดาษรายแรกของไทยและผู้ผลิตอิฐทนไฟรายแรกของโลกที่ได้รับรางวัล Deming Prize
    รายละเอียด :
    ผู้ผลิตกระดาษรายแรกของไทยและผู้ผลิตอิฐทนไฟรายแรกของโลกที่ได้รับรางวัล Deming Prize

    บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด (ไทยเปเปอร์) เป็นบริษัทผู้ผลิตกระดาษพิมพ์และเขียนในธุรกิจเยื่อและกระดาษ กลุ่มธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ในเอสซีจี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยมีกำลังผลิตกว่า 547,000 ตันต่อปีจาก 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานบ้านโป่ง (บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด) โรงงานสำโรง (บริษัทกระดาษสหไทยจำกัด (มหาชน)) และโรงงานขอนแก่น (บริษัทฟีนิกซ์ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน))

    ส่วนบริษัทสยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด ในธุรกิจซิเมนต์ของเอสซีจี เป็นผู้ผลิตอิฐทนไฟ (ตราช้าง) และวัสดุทนไฟชนิดพิเศษ (ตราช้าง)

    จากการเน้นให้ความสำคัญเรื่องการปรับปรุงระบบการบริหารงานทั่วทั้งองค์กร การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยเปเปอร์ เป็นผู้ผลิตกระดาษรายแรกของไทยและบริษัทสยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด เป็นผู้ผลิตอิฐทนไฟรายแรกของโลกที่ได้รับรางวัล Deming Prize จาก สมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นสุดยอดรางวัลด้านการจัดการควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management: TQM) ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก   
    ป้ายคำค้น :
    TQM , Total-Quality-Management , Deming-Prize , 2546