เศรษฐกิจโลก

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2544 เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ที่สหรัฐฯ
    รายละเอียด :
    เหตุการณ์การโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา มีต้นเหตุจากปัญหากับกลุ่ม Al-Qaeda ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานหลายปี กลุ่มก่อการร้ายนี้ก่อตั้งขึ้นช่วงปี 2523 โดย Osama Bin Laden

    กลุ่ม Al-Qaeda เคยก่อการร้ายบนแผ่นดินสหรัฐฯ มาแล้วในปี 2536 ด้วยการวางระเบิดตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ นิวยอร์ค จากนั้นมีการโจมตีอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดสร้างความเสียหายเท่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

    เช้าวันอังคารที่ 11 กันยายน ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ 11 ขับพุ่งเข้าชนตึกฝั่งเหนือ ของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จากนั้นไม่นาน เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ด พุ่งเข้าชนตึกฝั่งใต้ ขณะนั้นมีหลายล้านคนทั่วโลกได้ชมเหตุการณ์สดจากการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ 

    หลังจากนั้นสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ 77 พุ่งชนตึกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน ในรัฐเวอร์จิเนีย ตามด้วยเที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินเดียวกันตกลงกลางทุ่งกว้าง ในเพนซิลวาเนีย ข้อมูลภายหลังระบุว่า ผู้โดยสารบนเครื่องได้ต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย 

    ราวหนึ่งชั่วโมงเศษหลังการพุ่งชนครั้งแรกตึกแฝดก็ถล่มลง การเดินทางทางอากาศของสหรัฐฯ ทั้งหมดถูกยกเลิก ประชาชนภายในอาคารที่มีชื่อเสียงทั้งหมดทั่วประเทศได้รับคำสั่งให้ออกจากสถานที่ รวมแล้วมียอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 2,996 คน รวมผู้ก่อการร้าย 19 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 6,000 คน

    ผลกระทบของเหตุการณ์เกิดขึ้นกับภาคการเงินก่อน โดยตลาดหุ้นนิวยอร์คปิดทำการ 4 วันและเมื่อเปิดทำการดัชนีดาวน์โจนส์ร่วงลงจาก 9,605 จุด ลงไปที่ 8,920 จุด เป็นการปรับตัวลดลงในวันเดียวสูงสุดในประวัติศาสตร์ เกิดความเสียหายทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญ มีคนตกงานกว่า 65,000 คน

    อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการบิน ก่อนเหตุการณ์ มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 68.3 ล้านคนและมีการจ้างพนักงานบริการมากกว่า 520,000 คน สิ้นเดือนกันยายน จำนวนผู้โดยสารลดเหลือเพียง 39.4 ล้านคน ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ผู้ประกอบการเป็นจำนวนกว่า 5,000 ล้านเหรียญ รวมถึงสินเชื่ออีกกว่า 10,000 ล้านเหรียญสำหรับการกอบกู้อุตสาหกรรมให้กลับคืนมา

    จากการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในเดือนธันวาคม 2544 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.7 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2544 เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทุกกลุ่มประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การก่อวินาศกรรม ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง

    ขณะที่ธนาคารโลกเสนอรายงานประจำปีว่าด้วย “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและประเทศกำลังพัฒนาปี 2544” โดยระบุว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคร้ายแรงจนต้องย้อนกลับไปสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง โดยเกิดจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

    รายงานระบุว่าปัจจัยภายนอก 3 ประการที่มีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย ประกอบด้วย
    1.ผลกระทบจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลง
    2.ปัญหาการเงินของญี่ปุ่นที่ก่อตัวขึ้นใหม่
    3.การถอนตัวของธุรกิจภาคอิเล็กทรอนิกส์

    ธนาคารโลกยังได้ประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเอเชียตะวันออกในปี 2544 ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลง ส่วนการเติบโตในระยะยาวระหว่างปี 2543-2553 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.3
     
    ป้ายคำค้น :
    เศรษฐกิจโลก , สหรัฐอเมริกา , 2544 , 911 , 11-กันยายน-2544 , Al-Qaeda
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2546 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและขยายตัวเร็วขึ้น
    รายละเอียด :
    เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและขยายตัวเร็วขึ้น หลังจากการคลี่คลายของสถานการณ์สงครามในอิรัก และการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในช่วงครึ่งปีแรก

    หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2546 ส่วนใหญ่เห็นว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แม้สถานการณ์โดยรวมอาจยังไม่มั่นคง ทั้งความขัดแย้งในอิรักและการก่อการร้ายระลอกใหม่ ซึ่งถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าใช้จ่ายบริษัทและการจ้างงานปรับตัวขึ้นไม่มากนัก อีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจยังคงมีแรงเหวี่ยงสูงขึ้นเมื่อบริษัทต่างๆ เริ่มสะสมสินค้าคงคลังและลงทุนด้านอุปกรณ์ใหม่เพิ่มขึ้น

    เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังคงอ่อนแอ แม้มีสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดผ่านพ้นไปแล้ว ความเชื่อมั่นของทั้งภาคธุรกิจและประชาชนเริ่มสูงขึ้น แต่แนวโน้มการฟื้นตัวมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้าๆ การว่างงานยังคงสูงขึ้น ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจเยอรมนีที่อยู่ในภาวะถดถอยเป็นปีที่ 3 ยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของภูมิภาค

    เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยมาจากการฟื้นตัวของการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุน กอปรกับภาวะทางการเงินต่างๆ ดีขึ้น อาทิ ราคาหลักทรัพย์และพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น

    เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวช่วงต้นปี เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนจากภาวะสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอิรักและผลกระทบจากการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลาย กอปรกับวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

    ในเดือนมีนาคม องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศเตือนทั่วโลกเกี่ยวกับการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) พื้นที่ที่มีการระบาดมากคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนและเวียดนาม

    ในเดือนเมษายนมีการคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงในเอเชียจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนในภาคเอกชนระดับรุนแรงมากกว่าสงครามอิรัก โดยฮ่องกงได้รับความเสียหายอย่างมากในธุรกิจการท่องเที่ยว ค่าเงินของฮ่องกงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักเพราะผลของความเสียหายทางเศรษฐกิจ
    ก่อนหน้านั้น ABN AMRO วาณิชธนกิจชั้นนำของเนเธอร์แลนด์ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของฮ่องกงปี 2546 โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ภายใต้สมมติฐานที่ว่าฮ่องกงสามารถควบคุมโรคดังกล่าวได้ภายในเวลา 1 เดือน

    ภาคธุรกิจที่ได้รับความเสียหาย คือ สายการบิน โรงแรม การค้าขาย ค้าปลีกและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์

    วันที่ 10 เมษายน รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศมาตรการความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เช่น ธุรกิจการบิน โรงแรม ร้านอาหารและสถานดูแลเด็ก โดยมีคณะกรรมการประเมินสถานการณ์จัดทำแผนความช่วยเหลือจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมหรือกระทรวงการคลัง

    จากรายงาน ณ วันที่ 23 กันยายน 2546 จำนวนผู้ป่วยโรค SARS สะสมมีทั้งสิ้น 8,099 ราย มีผู้เสียชีวิต 774 ราย จากทั้งหมด 29 ประเทศ
     
    ป้ายคำค้น :
    เศรษฐกิจโลก , SARS , 2546 , สงครามสหรัฐอเมริกา-อิรัก
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2547 เศรษฐกิจโลกขยายตัวแข็งแกร่ง สาเหตุจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น ยุโรปและญี่ปุ่นฟื้นตัว
    รายละเอียด :
    เศรษฐกิจโลกขยายตัวแข็งแกร่ง สาเหตุจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น ยุโรปและญี่ปุ่นฟื้นตัว

    เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ระบุว่าอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.0 เป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งหลังของปี 2547 มีการชะลอตัวลงในบางภูมิภาค อาทิ ยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวัฏจักรการสะสมสินค้าคงคลังที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญประกอบกับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น

    โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัวต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แม้ช่วง 2 ไตรมาสแรกมีปัจจัยที่ทำให้การบริโภคชะลอลง เช่น ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีที่หมดไป ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น และการขยายตัวของการจ้างงานที่ต่ำกว่าที่คาด แต่ช่วงครึ่งปีหลังได้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนภาคธุรกิจขยายตัวดี รวมถึงภาวะการจ้างงานฟื้นตัวดีขึ้น

    ด้านเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยังคงพึ่งพาอุปสงค์นอกประเทศเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคค่อนข้างทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และการที่ภาคครัวเรือนเพิ่มการออมจากการที่ผลประโยชน์ตามแผนการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของทางการลดลง

    เศรษฐกิจญี่ปุ่น ปรับตัวดีขึ้นมาก ปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลังไม่ได้แข็งแกร่งมากเหมือนช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวในการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการปรับตัวของสินค้าคงคลังในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

    แม้ว่าญี่ปุ่นได้พยายามแก้ไขปัญหาภาคธุรกิจและสถาบันการเงินแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

    สำหรับเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียขยายตัวสูงจากหลายปัจจัย อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่สนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน
     
    ป้ายคำค้น :
    เศรษฐกิจโลก , 2547
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2549 เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโต
    รายละเอียด :
    เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโต

    เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2548 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประมาณการขยายตัวไว้ที่ร้อยละ 4.9 ทั้งนี้ การขยายตัวช่วงครึ่งปีแรกเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก จากการฟื้นตัวของการลงทุนภายหลังพายุเฮอริเคนในช่วงปลายปี 2548 และการเริ่มฟื้นตัวของกลุ่มประเทศยูโรและญี่ปุ่น รวมทั้งแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจเอเชียโดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ผันผวนอย่างต่อเนื่อง

    ในภูมิภาคเอเชีย เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจีน เป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนประเทศอื่นๆ ปัจจัยสำคัญมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี เนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกเพิ่มสูง และอุปสงค์ในแต่ละประเทศเพิ่มขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่เริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงโดยเป็นผลจากอุปสงค์ภายในประเทศและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มชะลอลง ยกเว้นอินโดนีเซียยังขยายตัวดีต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  
    ป้ายคำค้น :
    เศรษฐกิจโลก , 2549
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
    รายละเอียด :
    ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

    เดือนมกราคม ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มต้นที่ระดับเพียง 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากนั้นไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 78.12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน

    ไม่ถึง 7 วันต่อมา ราคาน้ำมันดิบไลท์สวีท ตลาดสิงคโปร์ ปรับสูงถึง 99.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือเป็นการทำลายสถิติสูงสุด ส่วนเวสต์เท็กซัส ราคาอยู่ที่ 98.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เบรนท์ 94.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและที่ดูไบ ราคา 87.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งกดดันให้น้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ปรับเพิ่มตาม

    โดยเฉพาะในช่วงพฤศจิกายน ทั้งราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเบนซิน 95 อยู่ที่ 102.92 เหรียญต่อบาร์เรล ดีเซลอยู่ที่ 110.79 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและบางช่วงปรับขึ้น 4-5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในวันเดียว

    ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นดังกล่าว ประกอบด้วย

    1. กำลังผลิตของโลกตึงตัวทำให้เกิดการเก็งกำไรจากเฮดจ์ฟันด์

    2.สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงทั้งอากาศที่หนาวเย็นและพายุเฮอร์ริเคนที่กระทบแหล่งผลิตโดยเฉพาะเฮอร์ริเคนดีนที่พัดเข้าอ่าวเม็กซิโกทำให้กระทบต่อการผลิต

    3. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง

    4. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตโดยเฉพาะประเทศจีน ทำให้ปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมาก

    5. ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางทั้งไนจีเรีย อิรักและอิหร่าน โดยกรณีอิหร่านถือเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงไตรมาส 4 เนื่องจากมหาอำนาจตะวันตกได้หารือเพื่อคว่ำบาตรอิหร่านจากกรณีนิวเคลียร์
     
    ป้ายคำค้น :
    เศรษฐกิจโลก , 2550 , ราคาน้ำมัน
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2553 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยเอเชียเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
    รายละเอียด :
    เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยเอเชียเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

    กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2553 จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ และการขยายตัวของประเทศเกิดใหม่ โดยปัจจัยสำคัญประกอบด้วย เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ซึ่งฟื้นตัวชัดเจนและต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีกและการผลิตปรับตัวดีขึ้น

    ส่วนเศรษฐกิจยุโรป ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการผลิตที่ปรับดีขึ้น แต่อุปสงค์ภายในยังคงอ่อนแอ โดยมีปัญหาฐานะทางการคลังของประเทศในกลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ สเปน) เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว

    ขณะที่เอเชียฟื้นตัวดีต่อเนื่อง และแข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่นๆ เช่น จีน การบริโภคและการผลิตยังคงขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้า ยอดค้าปลีกเพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของทางการ แต่ปัญหาภาวะเงินฝืดยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว 
     
    ป้ายคำค้น :
    2553 , เศรษฐกิจโลก