ASEAN

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2535 อาเซียนประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)
    รายละเอียด :
    ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) หรืออาฟต้า ในเดือนมกราคม 2535 เป็นความคิดริเริ่มของนายกรัฐมนตรีของไทย ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 4 ประเทศ คือ เวียดนาม ในปี 2538 ลาวและพม่า ในปี 2540 และกัมพูชา ในปี 2543 รวมประชากรอาเซียนทั้งสิ้น 500 ล้านคน

    หลักเกณฑ์ของอาฟต้าอยู่ภายใต้ข้อตกลง 2 ฉบับ ได้แก่ ข้อตกลงแม่บทว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Framework Agreement on Enhancing ASEAN Economic Cooperation) และข้อตกลงว่าด้วยอัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ CEPT [Agreement on the Common Effective Preferential Tariff (CEPT) Scheme for the ASEAN Free Trade Area (AFTA)] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการค้าภายในภูมิภาค ดึงดูดการลงทุนและเสริมสร้างสถานะการต่อรองในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ และตั้งเป้าหมายที่จะจัดตั้งให้เสร็จภายใน 15 ปี

    ต่อมาที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 26 ในปี 2537 มีมติร่นระยะเวลาจาก 15 ปี เหลือ 10 ปี มีเป้าหมายให้ลดภาษีลงเหลือ 0-5% และยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากรภายใน 10 ปี (2536-2546)

    ทั้งนี้ การดำเนินการให้สิทธิ (CEPT) ครอบคลุมสินค้ารวม 105,123 รายการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

    1. สินค้าเร่งลดภาษี (Fast Track) ลดภาษีลงเหลือ 0-5% ภายใน 7 ปี ประกอบด้วยสินค้า 15 ชนิด ได้แก่ ซีเมนต์ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์หนัง เยื่อกระดาษ สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ไม้และหวาย น้ำมันพืช เคมีภัณฑ์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เซรามิกและผลิตภัณฑ์แก้ว เภสัชภัณฑ์และแคโทดที่ทำจากทองแดง
    2. สินค้าลดภาษีปกติ (Normal Track) ลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10 ปี
    3. สินค้ายกเว้นชั่วคราว (Temporary Exclusion List) ได้แก่ สินค้าที่แต่ละประเทศสงวนสิทธิ์ไม่ลดภาษีชั่วคราว แต่ทยอยนำมาลดภาษีภายใน 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป

    นอกจากนั้น ยังมีการลด/เลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี ยกเลิกมาตรการจำกัดด้านปริมาณเมื่อสินค้านั้นลดภาษีอยู่ที่ระดับ 20% หรือต่ำกว่าและยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีอื่นภายใน 5 ปีต่อมา

    ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ต้องลดภาษีการนำเข้าในบัญชีรายการลดภาษีภายใต้ CEPT เหลือ 0-5% ภายในปี 2546 และเป็น 0% ในปี 2553 ส่วนประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ ลดภาษีนำเข้าในบัญชีรายการลดภาษีภายใต้ CEPT เหลือ 0-5% ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน โดยเวียดนามในปี 2549 ลาวและพม่าในปี 2551 กัมพูชาในปี 2553 และเหลือ 0% ในปี 2558
     
    ป้ายคำค้น :
    2535 , ASEAN , AFTA
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2540 ความร่วมมือรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจภูมิภาคในนาม ASEAN+3
    รายละเอียด :
    อาเซียน+3 เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

    อาเซียน+3 เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินในภูมิภาค โดยในเดือนธันวาคม 2540 ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้นำของทั้ง 3 ประเทศได้หารือเรื่องความร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภูมิภาคและลู่ทางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกในศตวรรษที่ 21

    ปีต่อมาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หารือกันอีกครั้งที่ประเทศเวียดนาม นับจากนั้นเป็นต้นมา การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (Asean+3 Summit) ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดียวกับการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit)

    กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังการออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก (Joint Statement on East Asia Cooperation) และการจัดตั้ง East Asian Vision Group (EAVG) ในปี 2542

    ต่อมาผู้นำของประเทศสมาชิกได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออกฉบับที่ 2 (Second Joint Statement on East Asia Cooperation: Building on the Foundations of ASEAN Plus Three Cooperation) พร้อมกับเห็นชอบให้มีการจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน (ASEAN+3 Cooperation Work Plan (2007 – 2017)) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระยะยาว และผลักดันให้เกิดชุมชนอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี 2015 (พ.ศ.2558)

    โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านสังคม วัฒนธรรมและการพัฒนา และด้านการส่งเสริมกรอบการดำเนินงานในด้านต่างๆ และกลไกต่างๆ ในการติดตามผล

    อาเซียน +3 ประกอบด้วยสมาชิก 13 ชาติ คือ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน รวมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 2,000 ล้านคน หรือเกือบหนึ่งในสามของประชากรโลก

    แต่หากรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เข้าด้วยกัน จะมีมูลค่าถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 16 ของจีดีพีโลก ขณะที่ยอดเงินสำรองต่างประเทศรวมกันสูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของเงินสำรองต่างประเทศของโลก

    ตัวเลขทางเศรษฐกิจเหล่านี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าอาเซียน+3 มีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
     
    ป้ายคำค้น :
    2540 , ASEAN , ASEAN3
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2546 ผู้นำอาเซียนประกาศเจตนารมณ์รวมกลุ่มภายในภูมิภาคให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563
    รายละเอียด :
    ผู้นำอาเซียนประกาศเจตนารมณ์รวมกลุ่มภายในภูมิภาคให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563 ตามแถลงการณ์บาหลี ฉบับที่ 2 (Bali Concord II)

    เดือนตุลาคม 2546 ในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) เพื่อให้เกิดประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community – ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC)

    ทั้งนี้ ปฏิญญาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนธันวาคม 2540 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมประกาศ “วิสัยทัศน์อาเซียน 2020” (ASEAN Vision 2020) โดยกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) อาเซียนจะมีรูปแบบความร่วมมือที่พัฒนาใกล้ชิดมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
     
    ป้ายคำค้น :
    ASEAN , 2546 , AEC
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2548 เพิ่มบทบาทธุรกิจหลักในภูมิภาคอาเซียน
    รายละเอียด :
    เพิ่มบทบาทธุรกิจหลักในภูมิภาคอาเซียน

    จากการที่โครงสร้างทางการเงินของเอสซีจีแข็งแกร่งขึ้นมาก จึงมีแนวทางชัดเจนที่จะเพิ่มบทบาทธุรกิจหลักในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตอีกมาก ทั้งนี้ เอสซีจีขยายการลงทุนหลายโครงการด้วยกัน เช่น

    ·       ตั้งโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ที่กัมพูชา มูลค่า 3,200 ล้านบาท กำลังผลิตปีละ 850,000 ตัน เริ่มผลิตได้ในปี 2551

    ·       ตั้งโรงงานผลิตกระเบื้องหลังคาคอนกรีตที่เวียดนาม มูลค่า 160 ล้านบาท

    ·       ลงทุนเพิ่มในธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อผลิตพีวีซี ที่อินโดนีเซีย มูลค่าการลงทุน 300 ล้านบาท

    ·       ร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ มูลค่าการลงทุนในส่วนของเครือประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งรวมสัดส่วนการลงทุนทางอ้อมผ่านบริษัทปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ใน Mehr Petrochemical Company ที่อิหร่าน เพื่อผลิตเม็ดพลาสติคชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) กำลังการผลิตปีละ 300,000 ตัน เป็นโครงการลงทุนแรกในตะวันออกกลาง ตามกลยุทธ์แสวงหาแหล่งวัตถุดิบต้นทุนต่ำและมั่นคงเพื่อใช้ในการผลิต

    ·       ขยายการลงทุนในประเทศ ตั้งโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 มูลค่า 44,000 ล้านบาท โดยเครือซิเมนต์ไทยถือหุ้นร้อยละ 67

    ·       ร่วมลงทุนโครงการ Downstream กับ Dow Chemical 16,000 ล้านบาท โดยเน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลตอบแทน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

    ·       ธุรกิจจัดจำหน่าย โดยบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด ดำเนินนโยบายแสวงหาแหล่งผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสร้างฐานลูกค้าและเพิ่มความมั่นใจให้กับคู่ค้า โดยเน้นการทำธุรกิจแบบ Off-Shore Trade คือ การค้าระหว่างสำนักงานต่อสำนักงานมากขึ้น เป็นการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว

    นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดสำนักงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาแหล่งวัตถุดิบและสินค้าที่มีคุณภาพ และเป็นการขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เช่น จีน อินเดียและตะวันออกกลาง เป็นต้น
     
    ป้ายคำค้น :
    ASEAN , 2548 , เพิ่มบทบาทธุรกิจหลัก
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 ผู้นำอาเซียนเร่งรัดเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (AEC) จากเดิมปี 2563 เป็นปี 2558
    รายละเอียด :
    ผู้นำอาเซียนเร่งรัดเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (AEC) จากเดิมปี 2563 เป็นปี 2558

    ต้นเดือนมกราคม 2550 ผู้นำอาเซียนได้เร่งรัดเป้าหมายของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน จากเดิมที่กำหนดไว้ใน ปี 2563 เป็นปี 2558 เพื่อให้ทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้ประกาศปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (Cebu Declaration on the Acceleration of the Establishment of an ASEAN Community by 2015) ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์

    ต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบและลงนามในเอกสารสำคัญอีก 2 ฉบับ ได้แก่ กฎบัตรและปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งเป็นแผนงานสำหรับการดำเนินการตามพันธกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อไปสู่การจัดตั้ง AEC
     
    ป้ายคำค้น :
    ASEAN , AEC , 2550
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 ขยายโครงการลงทุนสู่ความเป็นผู้นำในอาเซียน
    รายละเอียด :
    ขยายโครงการลงทุนสู่ความเป็นผู้นำในอาเซียน

    เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์สู่ความเป็นผู้นำตลาดภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2558 SCG จึงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ โรงงานปูนซีเมนต์ในกัมพูชาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเริ่มผลิตและจัดจำหน่ายตั้งแต่ต้นปี 2551 โรงงานผลิตกระดาษอุตสาหกรรมในเวียดนาม อยู่ระหว่างการก่อสร้าง นอกจากนั้น ยังศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่เวียดนาม และการลงทุนโรงงานปูนซีเมนต์เพิ่มเติมในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

    1. การลงทุนโครงการปลายน้ำผลิต HDPE และ PP
    SCG ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2549 ว่า ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัทดาว เคมิคอล ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ของ SCG ในประเทศไทย ซึ่งจะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.7 ล้านตันต่อปี (เอททีลีน 900,000 ตันต่อปี โพรไพลีน 800,000 ตันต่อปี) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก 700,000 ตันต่อปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 45,600 ล้านบาท โดย SCG ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 67

    โรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 นี้จะสามารถผลิตโพรไพลีนได้มากกว่าโรงงานแรกถึงร้อยละ 75 เพื่อรองรับภาวะอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจาก ส่วนใหญ่โรงงานผลิตโอเลฟินส์ที่สร้างใหม่มาจากตะวันออกกลางและใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้มีกำลังการผลิตโพรไพลีนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ น้อย นอกจากนี้ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ยังได้ลงทุนในโครงการปลายน้ำ (Downstream) โดยถือหุ้นทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 17,100 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ผลิตภัณฑ์จากโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 เป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีกำลังการผลิต HDPE รวม 400,000 ตันต่อปี และ PP รวม 400,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ จะเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น (High Value Non-Commoditized Product) เตรียมพร้อมสำหรับการขยายฐานตลาดธุรกิจเคมีภัณฑ์ในภูมิภาคซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    นอกจากนั้น บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ว่ามีโครงการขยายกำลังการผลิตพีวีซีเรซินสายการผลิตที่ 2 กำลังการผลิต 90,000 ตันต่อปี ที่ประเทศเวียดนามผ่านบริษัท TPC Vina Plastic and Chemicals Corporation Co., Ltd. เพื่อรองรับความต้องการพีวีซีในประเทศเวียดนามที่ขยายตัว โดยใช้เครื่องจักรบางส่วนจากสายการผลิตของโรงงานสมุทรปราการที่จะหยุดผลิต

    บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 ว่าได้ลงนามในสัญญา Technology License Agreement กับดาว เคมิคอล สหรัฐฯ เพื่อลงทุนในโครงการสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก LLDPE แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ มีกำลังการผลิต 350,000 ตันต่อปี มูลค่าการลงทุน 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 10,400 ล้านบาท) โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 60 ต่อ 40

    ทั้งนี้ SCG มีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 50 หรือคิดเป็นการลงทุนของ SCG มูลค่าประมาณ 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,100 ล้านบาท) โดยโรงงาน LLDPE แห่งที่ 2 นี้จะเน้นการผลิตเม็ดพลาสติก LLDPE เกรด C6 และ C8 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Product) เพื่อใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะนำวัตถุดิบเอททีลีนจากโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ระหว่าง SCG กับดาว เคมิคอล มาใช้สำหรับการผลิต LLDPE

    2. การตั้งโรงงานกระดาษที่เวียดนาม
    ธุรกิจกระดาษมีแผนขยายธุรกิจในภูมิภาคให้มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ SCG ที่ต้องการเป็นผู้นำในอาเซียน โครงการหลัก คือ การขยายกำลังการผลิตแผ่นกระดาษลูกฟูก 142,000 ตันต่อปี และกล่องกระดาษลูกฟูก 50,000 ตันต่อปี ที่โรงงานในปทุมธานี ขอนแก่น และระยอง และโครงการตั้งโรงงานผลิตกระดาษคราฟท์ที่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 220,000 ตันต่อปี การขยายกำลังการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนที่ขอนแก่น 200,000 ตันต่อปี
     
    ป้ายคำค้น :
    ASEAN , 2550 , ขยายการลงทุน
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2551 เสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานตลาดในประเทศและขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ
    รายละเอียด :
    เสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานตลาดในประเทศและขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ

    SCG เร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานการตลาดในประเทศ โดยอาศัยความแข็งแกร่งของช่องทางการจัดจำหน่ายและความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า ตัวอย่างเช่น บริษัทเอสซีจี เน็ตเวิร์ค แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่ได้ดำเนินการแต่งตั้งร้านผู้แทนจำหน่ายใหม่จำนวน 6 ร้าน และร่วมกับผู้แทนจำหน่ายพัฒนาร้านค้าช่วงวัสดุก่อสร้างท้องถิ่นให้เป็นร้านค้าวัสดุก่อสร้าง Home Express จำนวน 31 สาขา เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว รวมทั้งสร้างโอกาสการขายสินค้าใหม่ๆ

    มีความพยายามหาโอกาสขยายฐานส่งออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา เน้นลูกค้าคุณภาพเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและกระจายความเสี่ยง อาศัยจุดแข็งต้นทุนการผลิตต่ำ และสินค้าคุณภาพมาตรฐานโลกโดยจัดตั้งสำนักงานสาขาเพิ่มเติมที่ประเทศแทนซาเนีย

    มีการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายในอินโดนีเซีย เวียดนามและกัมพูชา โดยบริษัทเอสซีจี เน็ตเวิร์ค แมเนจเม้นท์ จำกัด เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำด้านการจัดการช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียน
     
    ป้ายคำค้น :
    2551 , ASEAN , ฐานการตลาดในประเทศ , ขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ