จรัส

  • ชื่อ
    จรัส ชูโต
    รายละเอียด :
     
    ป้ายคำค้น :
    ผู้จัดการใหญ่ , president , จรัส , ชูโต
  • ชื่อ
    พ.ศ.2505 จุดเริ่มต้นนักบริหารไทย : กิจการการตลาด
    รายละเอียด :
    การขายสินค้าปูนซีเมนต์เป็นการบริหารงานด้านหนึ่งที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2458 โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตั้งแผนกจัดจำหน่าย (Sale Office) ของตนเองขึ้นมาควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้วยการใช้ตัวแทนจำหน่าย (Sale Agency) แต่ก็ดูเหมือนการดำเนินการเป็นไปอย่างจำกัดเพราะการตลาดเป็นของผู้ขาย ในปี พ.ศ.2483 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้เปลี่ยนให้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งรัฐบาลในยุคคณะราษฎรถือหุ้นอยู่เป็นผู้แทนจำหน่ายปูนซีเมนต์ให้ แต่ภายหลังบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ประสบปัญหาหนี้สินไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

    ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อการค้าเริ่มต้นคึกคักมากขึ้น รวมทั้งปริมาณการผลิตปูนซิเมนต์เพิ่มขึ้นจากการสร้างโรงงานท่าหลวงแล้วเสร็จ เป็นช่วงเดียวกับที่มีความพยายามจะยกเลิกสัญญากับบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด Mr.C.F. Jespersen ผู้จัดการทั่วไปได้เสนอแผนการจัดตั้งบริษัทจัดจำหน่ายใหม่ขึ้นมา ซึ่งนับว่าเป็นโครงสร้างที่น่าสนใจมาก

    โดยเสนอให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ถือหุ้น 50% ส่วนที่เหลือเป็นของกลุ่มผู้ค้ำประกัน(คอมปราโดร์) จำนวน 5 ราย แม้ว่าโครงสร้างใหม่จำต้องหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนั้นคือ นายปรีดี พนมยงค์ (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย) เสียก่อนแต่ไม่มีรายงานว่าเช่นใด นอกจากคณะกรรมการอนุมัติให้ดำเนินการได้ บรรดาผู้ค้ำประกันที่เสนอมาร่วมทุนและดำเนินการนั้น ทั้งหมดล้วนเป็นผู้คุ้นเคยร่วมทำงานกับ Mr.C.F. Jespersen มานาน 15-20 ปีแล้วทั้งสิ้น เป็นที่น่าสังเกต 4 รายเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการผู้ก่อตั้งบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด (นายเม้ง ตันสัจจา นายสง่า วรรณดิษฐ์ หลวงพัฒน์พงษ์พาณิชย์ และ ขุนพิพัธหริณสูตร) ซึ่งในช่วงนั้นบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด กำลังมีปัญหา ไม่มีทุนดำเนินการต่อและกำลังเสนอขายให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด นอกจากนี้คณะกรรมการบางคนเสนอชื่อ นายชิน โสภณพานิช ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริษัทมหกิจก่อสร้างเพิ่มเข้าไปด้วย แต่ได้รับการคัดค้าน อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง โดยการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 แนวคิดนี้ก็เงียบไปพักหนึ่ง จนมาถึงปี พ.ศ.2491 คณะกรรมการจึงมีมติใหม่ไม่สนับสนุนแผนการเดิม โดยปรับเป็นการตั้งแผนกจัดจำหน่ายขึ้นมาแทน โดยมีชาวเดนมาร์กบริหารงาน

    บทเรียนการจำหน่ายปูนซีเมนต์ให้กับคณะราษฎรเป็นบทเรียนที่น่าจดจำและดูเหมือนจะย้อนกลับมาสร้างปัญหาอีกครั้งในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำเนินนโยบายควบคุมการค้าธุรกิจเช่นเดียวกับยุคคณะราษฎร ทั้งก่อนหน้านั้นก็เกิดโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งใหม่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2498 นั่นคือบริษัทชลประทานซีเมนต์

    เมื่อมีข่าวว่าผู้มีอำนาจสนใจจะตั้งบริษัทผูกขาดจำหน่ายปูนซีเมนต์ขึ้นมา คณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงรีบดำเนินการจัดตั้งบริษัทการจัดจำหน่ายขึ้นอย่างเร่งด่วน

    การประชุมคณะกรรมควบคุมฝ่ายบริหารมีขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2505 ได้อนุมัติข้อเสนอการจัดบริษัท ซึ่งฝ่ายอำนวยการเสนอแผนการอย่างละเอียด (รายงานประชุมกรรมการควบคุมฝ่ายบริหารครั้งที่ 13 และรายงานการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 655)

    บริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด จดทะเบียนดำเนินงานเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2505 ทำหน้าที่เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทในเครือซิเมนต์ไทยทั้งหมด ทั้งภายในและต่างประเทศ 

    การตั้งบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด นั้นเป็นผลมาจากแนวคิดการรวมกิจการด้านจัดจำหน่ายของ 3 บริษัทคือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด และบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดจำหน่ายและทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดเกิดการรวมตัวกันในลักษณะเป็นกลุ่มบริษัท

    อย่างไรก็ตามการบริหารในช่วง 5 ปี ดำเนินอย่างเรียบร้อยด้วยการบริหารของวิศวกรและบุคคลที่ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ ซึ่งประสบการณ์เคยรับราชการมาก่อน

    การเข้ามาของนายอายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา เริ่มทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในปีพ.ศ.2509 เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมากสำหรับประวัติศาสตร์ ไม่เพียงกิจการการตลาดเท่านั้น หากหมายถึงการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    งานการตลาดของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่สร้างระบบขึ้นในช่วงนั้นถือเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาในช่วงต่อมา

    ประการแรก การสร้างเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย บุคคลที่มีบทบาทอย่างมากก็คือ นายอมเรศ ศิลาอ่อน

    ประการที่สอง การสร้างระบบการจัดส่ง ในขณะนั้นเรียกว่าฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า Logistics บุคคลที่มีบทบาทอย่างมากก็คือ นายจรัส ชูโต ซึ่งต่อมาก็เป็นผู้จัดการใหญ่ที่มาจากคนในคนแรกของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    งานสำคัญอีกประการหนึ่งที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต่อเนื่องมา คืองานด้านฝึกอบรม ซึ่งบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เบิกสร้างศูนย์ฝึกอบรม ในตอนนั้นเพื่อสร้างและพัฒนาพนักงานขาย แต่ต่อมาได้ขยายบทบาทเป็นฝึกอบรมด้านบริหารและกลายเป็นระบบงานพัฒนาบุคลากรระบบใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน บุคคลสำคัญที่บุกเบิกงานนี้ได้แก่ นายเสนาะ นิลกำแหง

    แม้ว่าในปี พ.ศ.2521 กิจการการตลาดจะกลายเป็นกิจการการค้าระหว่างประเทศ แต่โครงสร้างและระบบต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในช่วง 10 ปีของบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด ได้ถ่ายทอดมาฝังอยู่ในระบบของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างแนบแน่น  
    ป้ายคำค้น :
    จรัส , ชูโต , อิศรเสนา ณ อยุธยา , 2505 , การตลาด , คอมปราโดร์ , ชิน , โสภณพานิช , สฤษดิ์ , ธนะรัชต์ , อายุส , อมเรศ , ศิลาอ่อน , เสนาะ , นิลกำแหง
  • ชื่อ
    พ.ศ.2523 นายจรัส ชูโต ผู้จัดการใหญ่มืออาชีพคนแรก : ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ
    รายละเอียด :
    งานสำคัญของยุคนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการจัดระบบภายในการปรับโครงสร้างองค์กรที่ทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้ารูปเข้ารอย เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลังจากการปรับโครงสร้างเป็นเครือซิเมนต์ไทย โดยเฉพาะงานด้านบริหารบุคคลที่สำคัญ เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของพนักงานในเครือซิเมนต์ไทย ทั้งนี้เรื่องสำคัญที่สุดในการจัดระบบภายในก็คือ การสร้างอาคารสำนักงานใหม่ให้แล้วเสร็จซึ่งถือเป็นการจัดทีมบริหารให้มีความเป็นเอกภาพและกลมกลืนมากที่สุด

    ในขณะที่สถานการณ์ภายนอกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าในระยะต้นของการเข้ามาดำรงตำแหน่ง เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจาการวิกฤตการณ์น้ำมันและการลดค่าเงินบาท แต่ผลนี้กระทบในทางลบเป็นระยะสั้น ๆ ต่อเครือซิเมนต์ไทย  แต่ผลกระทบในเชิงสร้างสรรค์ต่อเครือซิเมนต์ไทยมีมากทีเดียว

    การปรับตัวของธุรกิจ

    นับเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่กระทบเป็นลูกโซ่ที่ต่อเนื่อง แทบจะเรียกว่าตลอดยุคของนายจรัส ชูโต โดยเฉพาะวิกฤตการณ์สถาบันการเงิน ทำให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมประสบปัญหามากมาย ในขณะที่การแก้ปัญหาสยามคราฟท์ของเครือซิเมนต์ไทยดำเนินก้าวหน้าไปเป็นระยะ ๆ ผลงานชิ้นนั้นทำให้วงการธุรกิจยอมรับว่าเครือซิเมนต์ไทยมีการจัดการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ

    โอกาสทางธุรกิจที่มาจากวิกฤตการณ์เริ่มต้นขึ้นส่วนใหญ่ในยุคนี้ โดยเฉพาะการเข้าซื้อกิจการใหม่ แม้ว่าจะเป็นยุคเริ่มต้นและหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะส่วนใหญ่การเข้าบริหารกิจการต่าง ๆ หลายแห่งที่ดำเนินในช่วงนั้นต้องใช้เวลาล่วงเลยไปสู่ยุคต่อไป

    การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ

    แรงกดดันจากวิกฤตการณ์น้ำมัน ทำให้รัฐบาลมีความพยายามมุ่งมั่นในการค้นหาพลังงานทดแทน ขณะเดียวนักลงทุนต่างชาติก็มองเห็นโอกาสในการลงทุนมากขึ้น เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นการค้นพบและการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอย่างเป็นจริงเป็นจังเริ่มต้นขึ้น รัฐบาลไทยในยุคนี้ให้ความสำคัญในนโยบายเรื่องนี้มาก เครือซิเมนต์ไทยเผชิญแรงกดดันในความพยายามขอให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานในการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งในที่สุดมิได้เป็นอย่างที่คาด เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติสูงเกินไป การลงทุนเพื่อใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตปูนซีเมนต์จำนวนนับพันล้านบาท แม้จะไม่สำเร็จแต่ก็เป็นการผลักดันให้เครือซิเมนต์ไทยเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อไป

    ในยุคนี้ถือเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ใหม่ของเครือซิเมนต์ไทย แรงกดดันนี้สมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่ทำให้ยุคนายจรัส ชูโต ให้ความสำคัญอย่างมากในพัฒนาการบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวสู่ธุรกิจใหม่ ๆ  
    ป้ายคำค้น :
    ผู้จัดการใหญ่ , จรัส , ชูโต , 2523 , ก๊าซธรรมชาติ
  • ชื่อ
    พ.ศ.2523 นายจรัส ชูโต ผู้จัดการใหญ่มืออาชีพคนแรก : เริ่มต้นนักบริหารยุคใหม่
    รายละเอียด :
    นายจรัส ชูโต ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่เมื่อต้นปี พ.ศ.2523 จากหลักฐานปรากฏว่าเป็นการก้าวขึ้นค่อนข้างกะทันหัน แม้ว่าจะมีการเตรียมตัวไว้บ้างก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากนายสมหมาย ฮุนตระกูล ต้องเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ครั้งแรก   (3 มีนาคม พ.ศ.2523) นายจรัสฯ ทำงานด้านสนับสนุนการจัดจำหน่ายมา 8 ปี ก่อนจะมาบริหารบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าต่อเนื่อง เขาแก้ปัญหาบริษัทนี้อยู่ประมาณ 3 ปี จึงก้าวเข้ามาอยู่ในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งถือว่าเข้าในแกนกลางของบริษัท

    นายจรัส ชูโต เป็นคนแรกที่ไม่ได้มาจาก "นายช่าง" หรือผู้ผ่านงานด้านการผลิตปูนซีเมนต์โดยตรง เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ดูแลสายงานการผลิตปูนซีเมนต์ในต้นปี พ.ศ.2522  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้จัดการใหญ่ แต่การเตรียมตัวอย่างแท้จริงในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่กลับสั้นมาก เพียงประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ในต้นปี พ.ศ.2523 ก่อนจะดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่

    นายจรัส ชูโต ถือว่าเป็นตัวแทนของนักบริหารระดับกลางรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์การทำงานกับบริษัทต่างชาติในประเทศไทย กลุ่มนี้ทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตปูนซีเมนต์โดยตรง ส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้าและจัดจำหน่าย ซึ่งเผชิญความขัดแย้งพอสมควรกับฝ่ายผลิต ในขณะที่งานของนายจรัส ชูโต จะไม่ได้อยู่ท่ามกลางความแตกต่างระหว่างการตลาดกับการผลิตโดยตรง หากทำงานด้านปฏิบัติการ (Operation) ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้น ซึ่งก็คืองานด้าน Logistics ในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นคนวางรากฐานเครือข่ายการสนับสนุนการจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารการขนส่งหรือคลังสินค้า ซึ่งเขามีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนจากบริษัทเอสโซ่แห่งประเทศไทย

    คณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยตัดสินใจเลือกนายจรัส ชูโต มาเป็นผู้จัดการใหญ่ถือว่าเป็นการยอมรับกลุ่มผู้บริหารที่มีประสบการณ์มาจากบริษัทต่างประเทศพอสมควร (ส่วนใหญ่มากกว่า 10 ปี) ก่อนจะมาทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย บวกกับประสบการณ์ในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ประมาณ 10 ปีนั้น ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ เป็นการคัดเลือกบุคลากรที่มีประสบการณ์และความรู้ที่กว้างขวางกว่าการผลิตปูนซีเมนต์อย่างเดียว ถือว่าเป็นนักบริหารมืออาชีพที่เข้าใจการบริหารธุรกิจสมัยใหม่และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคผู้บริหารรุ่นใหม่รุ่นนั้น ซึ่งมีบทบาทต่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างมากในช่วงอีกเกือบ 30 ปีต่อมา  
    ป้ายคำค้น :
    จรัส , ชูโต , 2523
  • ชื่อ
    จรัส ชูโต
    รายละเอียด :
     
    ป้ายคำค้น :
    ผู้จัดการใหญ่ , president , จรัส , ชูโต