2505

  • ชื่อ
    พ.ศ.2505 จุดเริ่มต้นนักบริหารไทย : การบริหารสมัยใหม่
    รายละเอียด :
    การมาของทีมบริหารชุดใหม่ซึ่งส่วนหนึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านการบริหาร ถือเป็นจุดเริ่มของการมาของผู้บริหารยุคใหม่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวไปอย่างมาก

    ประการแรก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการมาของผู้บริหารที่มีประสบการณ์และการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ในตอนนั้นเป็นครั้งแรก ต่อเนื่องจากประสบการณ์การบริหารของชาวเดนมาร์กที่ดำเนินมานานมากกว่า 60 ปี โดยมีผู้บริหารคนไทยที่มาจากหน่วยงานราชการเข้าร่วมด้วยตั้งแต่ 30 ปีก่อนหน้านั้น ผู้บริหารเหล่านี้มีความรู้ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศมีประสบการณ์การบริหารในบริษัทระหว่างประเทศที่มีระบบการบริหารและการพัฒนาคนที่ดีมากในขณะนั้น

    ประการที่สอง ไม่เพียงเป็นการมาของผู้บริหารระดับสูง ระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เท่านั้น แต่หมายถึงการเริ่มมาของผู้บริหารระดับกลางด้วย ส่วนใหญ่มีประสบการณ์มาแล้วในกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะกับธุรกิจระหว่างประเทศในประเทศไทย ถือเป็นการเสริมทีมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งทั้งหมดเป็นคนไทย ในสถานการณ์นั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริหารไทยมีความสามารถมากพอจะบริหารกิจการขนาดใหญ่ที่สุดกิจการหนึ่งของประเทศไทยได้

    ประการที่สาม ผู้มาใหม่เหล่านี้ มิได้มาทำงานที่บริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด เท่านั้น หากกระจายทั่วไปทั้งองค์กรระดับกว้าง อย่างไรก็ตามบทบาทของบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด ไม่เป็นเพียงกิจการการตลาด ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไม่มีประสบการณ์ในช่วงที่การแข่งขันทางธุรกิจเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เท่านั้น หากเป็นบทพิสูจน์ว่าภายใต้การบริหารของคนไทยในกิจการนี้เป็นโมเดลที่ทันสมัยกว่าการบริหารดั้งเดิมของชาวเดนมาร์กและยุคต่อมาที่มีคนไทยที่มีประสบการณ์จากวงราชการร่วมอยู่ด้วยในบทบาทจัดการนั้น

    ในเวลาต่อมากลุ่มผู้บริหารรุ่นใหมที่เข้ามาในช่วงนี้ได้มีบทบาทอย่างมาก ในการบริหารกิจการเครือซิเมนต์ไทยในช่วง 30 ปีจากนั้น รวมทั้งเป็นผู้จัดการใหญ่ 3 คน ในช่วงปี พ.ศ.2524-2548 ด้วย  
    ป้ายคำค้น :
    2505 , การบริหารสมัยใหม่
  • ชื่อ
    พ.ศ.2505 จุดเริ่มต้นนักบริหารไทย : กิจการการตลาด
    รายละเอียด :
    การขายสินค้าปูนซีเมนต์เป็นการบริหารงานด้านหนึ่งที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2458 โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตั้งแผนกจัดจำหน่าย (Sale Office) ของตนเองขึ้นมาควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้วยการใช้ตัวแทนจำหน่าย (Sale Agency) แต่ก็ดูเหมือนการดำเนินการเป็นไปอย่างจำกัดเพราะการตลาดเป็นของผู้ขาย ในปี พ.ศ.2483 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้เปลี่ยนให้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งรัฐบาลในยุคคณะราษฎรถือหุ้นอยู่เป็นผู้แทนจำหน่ายปูนซีเมนต์ให้ แต่ภายหลังบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ประสบปัญหาหนี้สินไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

    ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อการค้าเริ่มต้นคึกคักมากขึ้น รวมทั้งปริมาณการผลิตปูนซิเมนต์เพิ่มขึ้นจากการสร้างโรงงานท่าหลวงแล้วเสร็จ เป็นช่วงเดียวกับที่มีความพยายามจะยกเลิกสัญญากับบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด Mr.C.F. Jespersen ผู้จัดการทั่วไปได้เสนอแผนการจัดตั้งบริษัทจัดจำหน่ายใหม่ขึ้นมา ซึ่งนับว่าเป็นโครงสร้างที่น่าสนใจมาก

    โดยเสนอให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ถือหุ้น 50% ส่วนที่เหลือเป็นของกลุ่มผู้ค้ำประกัน(คอมปราโดร์) จำนวน 5 ราย แม้ว่าโครงสร้างใหม่จำต้องหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนั้นคือ นายปรีดี พนมยงค์ (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย) เสียก่อนแต่ไม่มีรายงานว่าเช่นใด นอกจากคณะกรรมการอนุมัติให้ดำเนินการได้ บรรดาผู้ค้ำประกันที่เสนอมาร่วมทุนและดำเนินการนั้น ทั้งหมดล้วนเป็นผู้คุ้นเคยร่วมทำงานกับ Mr.C.F. Jespersen มานาน 15-20 ปีแล้วทั้งสิ้น เป็นที่น่าสังเกต 4 รายเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการผู้ก่อตั้งบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด (นายเม้ง ตันสัจจา นายสง่า วรรณดิษฐ์ หลวงพัฒน์พงษ์พาณิชย์ และ ขุนพิพัธหริณสูตร) ซึ่งในช่วงนั้นบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด กำลังมีปัญหา ไม่มีทุนดำเนินการต่อและกำลังเสนอขายให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด นอกจากนี้คณะกรรมการบางคนเสนอชื่อ นายชิน โสภณพานิช ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริษัทมหกิจก่อสร้างเพิ่มเข้าไปด้วย แต่ได้รับการคัดค้าน อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง โดยการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 แนวคิดนี้ก็เงียบไปพักหนึ่ง จนมาถึงปี พ.ศ.2491 คณะกรรมการจึงมีมติใหม่ไม่สนับสนุนแผนการเดิม โดยปรับเป็นการตั้งแผนกจัดจำหน่ายขึ้นมาแทน โดยมีชาวเดนมาร์กบริหารงาน

    บทเรียนการจำหน่ายปูนซีเมนต์ให้กับคณะราษฎรเป็นบทเรียนที่น่าจดจำและดูเหมือนจะย้อนกลับมาสร้างปัญหาอีกครั้งในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำเนินนโยบายควบคุมการค้าธุรกิจเช่นเดียวกับยุคคณะราษฎร ทั้งก่อนหน้านั้นก็เกิดโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งใหม่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2498 นั่นคือบริษัทชลประทานซีเมนต์

    เมื่อมีข่าวว่าผู้มีอำนาจสนใจจะตั้งบริษัทผูกขาดจำหน่ายปูนซีเมนต์ขึ้นมา คณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงรีบดำเนินการจัดตั้งบริษัทการจัดจำหน่ายขึ้นอย่างเร่งด่วน

    การประชุมคณะกรรมควบคุมฝ่ายบริหารมีขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2505 ได้อนุมัติข้อเสนอการจัดบริษัท ซึ่งฝ่ายอำนวยการเสนอแผนการอย่างละเอียด (รายงานประชุมกรรมการควบคุมฝ่ายบริหารครั้งที่ 13 และรายงานการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 655)

    บริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด จดทะเบียนดำเนินงานเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2505 ทำหน้าที่เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทในเครือซิเมนต์ไทยทั้งหมด ทั้งภายในและต่างประเทศ 

    การตั้งบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด นั้นเป็นผลมาจากแนวคิดการรวมกิจการด้านจัดจำหน่ายของ 3 บริษัทคือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด และบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดจำหน่ายและทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดเกิดการรวมตัวกันในลักษณะเป็นกลุ่มบริษัท

    อย่างไรก็ตามการบริหารในช่วง 5 ปี ดำเนินอย่างเรียบร้อยด้วยการบริหารของวิศวกรและบุคคลที่ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ ซึ่งประสบการณ์เคยรับราชการมาก่อน

    การเข้ามาของนายอายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา เริ่มทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในปีพ.ศ.2509 เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมากสำหรับประวัติศาสตร์ ไม่เพียงกิจการการตลาดเท่านั้น หากหมายถึงการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    งานการตลาดของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่สร้างระบบขึ้นในช่วงนั้นถือเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาในช่วงต่อมา

    ประการแรก การสร้างเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย บุคคลที่มีบทบาทอย่างมากก็คือ นายอมเรศ ศิลาอ่อน

    ประการที่สอง การสร้างระบบการจัดส่ง ในขณะนั้นเรียกว่าฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า Logistics บุคคลที่มีบทบาทอย่างมากก็คือ นายจรัส ชูโต ซึ่งต่อมาก็เป็นผู้จัดการใหญ่ที่มาจากคนในคนแรกของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    งานสำคัญอีกประการหนึ่งที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต่อเนื่องมา คืองานด้านฝึกอบรม ซึ่งบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เบิกสร้างศูนย์ฝึกอบรม ในตอนนั้นเพื่อสร้างและพัฒนาพนักงานขาย แต่ต่อมาได้ขยายบทบาทเป็นฝึกอบรมด้านบริหารและกลายเป็นระบบงานพัฒนาบุคลากรระบบใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน บุคคลสำคัญที่บุกเบิกงานนี้ได้แก่ นายเสนาะ นิลกำแหง

    แม้ว่าในปี พ.ศ.2521 กิจการการตลาดจะกลายเป็นกิจการการค้าระหว่างประเทศ แต่โครงสร้างและระบบต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในช่วง 10 ปีของบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด ได้ถ่ายทอดมาฝังอยู่ในระบบของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างแนบแน่น  
    ป้ายคำค้น :
    จรัส , ชูโต , อิศรเสนา ณ อยุธยา , 2505 , การตลาด , คอมปราโดร์ , ชิน , โสภณพานิช , สฤษดิ์ , ธนะรัชต์ , อายุส , อมเรศ , ศิลาอ่อน , เสนาะ , นิลกำแหง
  • ชื่อ
    พ.ศ.2505 การขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ : การเกิดขึ้นของคู่แข่ง
    รายละเอียด :
    เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดปูนซีเมนต์ภายในประเทศภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องลงทุนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง แม้กระนั้นก็ตามเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น เช่น การสร้างเขื่อน สนามบิน ถนนทางหลวง ท่าเรือ และโครงการก่อสร้างในกิจการของรัฐบาลและกิจการทหารของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการขาดแคลนปูนซีเมนต์ภายในประเทศขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้สั่งปูนเม็ดจากต่างประเทศเข้ามาใช้เป็นการชั่วคราวหลายครั้ง ทำให้รัฐบาลคิดตั้งบริษัทชลประทานซีเมนต์ขึ้นมา เพื่อให้การสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลซึ่งจำเป็นต้องมีการผลิตปูนซีเมนต์จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งให้กับการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็ได้ทราบข่าวโดยตลอด และยังสนใจจองหุ้นของบริษัทชลประทานซีเมนต์ไว้ด้วยจำนวน 200 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1,000 บาท

    แต่เมื่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ทราบข่าวที่รัฐบาลสั่งซื้อปูนซีเมนต์ประเภท Moderate Heat Cement จากบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด จำนวน 245,000 ตัน ในราคาตันละ 500 บาท ส่งมอบที่สนามบินตาคลี โดยชำระเงินล่วงหน้าก่อนส่งมอบปูนซีเมนต์เป็นวงเงินสูงถึง 9 ล้านบาท ที่ประชุมคณะกรรมการวิตกในเรื่องนี้ เนื่องจากรัฐบาลยังค้างชำระเงินค่าปูนซีเมนต์กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นวงเงินรวมสูงถึงเกือบ 20 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีบางกรณีเป็นหนี้ที่ค้างนานถึง 2 ปี ประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไปจึงเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อร้องเรียนเรื่องนี้

    บริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ทำการเปิดโรงงานที่ตาคลีในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2502 โดยมีปูนซีเมนต์ 3 ชนิดออกสู่ตลาด คือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดแข็งตัวเร็ว ปอร์ตแลนด์ชนิดธรรมดา และปูนซีเมนต์ชนิดผสมหินปูน ซึ่งเทียบได้กับปูนซีเมนต์ตราเสือของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    อย่างไรก็ตาม บริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ดูไม่คุกคามบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มากนักเพราะมีปัญหาการบริหาร  แม้จะมีบางช่วงวิตกว่ากิจการนี้จะขายให้ต่างชาติ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ในกรณีการตั้งบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย เป็นการเริ่มต้นยุคที่มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่

    บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ารายที่สองนั้น นายชวน รัตนรักษ์ ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในปี พ.ศ.2512 โดยได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากจอมพลประภาส จารุเสถียร (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทและได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารของกลุ่มรัตนรักษ์ (Suehiro Akira, 1996: 260) โดยใช้แหล่งวัตถุดิบที่ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องไปตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่แก่งคอย เพื่อลดการเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนขนส่งทั้งจากแหล่งวัตถุดิบและจากตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  
    ป้ายคำค้น :
    ตาคลี , 2505 , บริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด , บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง , ชวน , รัตนรักษ์ , ประภาส , จารุเสถียร , แก่งคอย
  • ชื่อ
    พ.ศ.2505 การขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ : การขยายธุรกิจครั้งใหญ่
    รายละเอียด :
    ในช่วงปี พ.ศ.2505-2515 เป็นทศวรรษของการขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และบริษัทที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะมีปัจจัยของการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว แรงกระตุ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็คือการเริ่มต้นของการมีคู่แข่งขัน นั่นคือภาวะการผูกขาดหมดไปแล้ว ซึ่งถือเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่ง ดังนั้นปฏิกิริยาของการปรับตัวและการขยายตัวครั้งสำคัญจึงน่าสนใจอย่างมาก

    บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    โรงงานบางซื่อ


    ปี พ.ศ. 2506 ขยายกำลังการผลิตครั้งที่ 4

    ปี พ.ศ. 2507 ขยายกำลังการผลิตครั้งที่ 5

    ปี พ.ศ. 2510 ขยายกำลังการผลิตครั้งที่ 6

    โรงงานท่าหลวง

    ปี พ.ศ. 2500 ขยายกำลังการผลิตครั้งที่ 3

    ปี พ.ศ. 2506 ขยายกำลังการผลิตครั้งที่ 4

    โรงงานทุ่งสง

    ปี พ.ศ. 2505 ลงทุนสร้าง เริ่มเดินเครื่องผลิตในปี พ.ศ. 2509

    โรงงานแก่งคอย

    ปี พ.ศ. 2513 ลงทุนสร้าง เริ่มเดินเครื่องผลิตในปี พ.ศ.2515

    บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด

    ปี พ.ศ. 2504 - 2511 ขยายกำลังการผลิตที่โรงงานบางซื่อถึง 8 ครั้ง

    ปี พ.ศ. 2507 ตั้งโรงงานที่นนทบุรึ

    ปี พ.ศ. 2509 ตั้งโรงงานที่ทุ่งสง

    ปี พ.ศ. 2511 ตั้งโรงงานที่สระบุรี

    บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด

    ปี พ.ศ. 2506 ตั้งโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จที่บางซ่อน

    ปี พ.ศ. 2507 ตั้งโรงงานย่อยหินที่ราชบุรี

    ปี พ.ศ. 2513 ตั้งโรงงานคอนกรีตสำเร็จรูปที่นนทบุรี

    ตั้งโรงงานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ขอนแก่น

    ตั้งโรงงานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ลำปาง



    ปี พ.ศ. 2505 ตั้งบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด

    ปี พ.ศ. 2509 ตั้งบริษัทเหล็กสยาม จำกัด  
    ป้ายคำค้น :
    2505 , การขยายตัวขนาดใหญ่
  • ชื่อ
    พ.ศ.2505 การขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ : โรงงานแก่งคอย
    รายละเอียด :
    ในกรณีการตั้งบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ารายที่สองนั้น นายชวน รัตนรักษ์ ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในปี พ.ศ.2512 โดยได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากจอมพลประภาส จารุเสถียร มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทและได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารของกลุ่มรัตนรักษ์ (Suehiro Akira, 1996: 260) โดยใช้แหล่งวัตถุดิบที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องไปตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่แก่งคอยเพื่อลดการเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนขนส่งทั้งจากแหล่งวัตถุดิบและจากตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    ก่อนหน้าการตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานที่แก่งคอยโดยตรง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ของบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้เลือกสำรวจพื้นที่ตั้งโรงงานไว้ถึง 3 แห่งคือ ลำปาง ชุมแพและแก่งคอย เมื่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เลือกตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่แก่งคอยแล้ว กระบวนการดำเนินงานทุกอย่างเป็นเรื่องปิดลับอย่างมาก นับตั้งแต่การติดต่อซื้อขายที่ดิน การปรับสภาพพื้นที่ดิน การก่อสร้างโรงงาน มีการระวังไม่ให้มีข่าวแสดงความเกี่ยวข้องกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด   จนการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2514

    ในช่วงการก่อสร้างโรงงานที่แก่งคอยมีปัญหาอุปสรรคเฉพาะหน้าให้ต้องแก้ไข เช่น ปัญหาน้ำฝนที่ไหลจากภูเขามาท่วมบริเวณที่ก่อสร้างโรงงาน จึงต้องเลือกแก้ปัญหาระหว่างการถมที่กับการทำท่อระบายน้ำ แต่เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ได้เลือกการทำท่อระบายน้ำ จึงเป็นความภูมิใจที่สามารถสร้างโรงงานที่แก่งคอยได้เสร็จเร็วกว่าการสร้างโรงงานของปูนซิเมนต์นครหลวง (ปูนซิเมนต์ไทย พ.ศ.2456-2526)

    การสร้างโรงงานที่แก่งคอยนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับการสร้างโรงงานใหม่ของบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด เนื่องจากมีที่ตั้งใกล้ ๆ กัน โรงงานของบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด ตั้งอยู่ที่ทับกวางห่างกันไม่กี่กิโลเมตร จึงมีบรรยากาศการแข่งกันว่าใครจะเสร็จก่อน เพราะว่าโครงการของบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด ได้เริ่มต้นก่อน แต่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นการดำเนินการอย่างปิดเป็นความลับกัน จึงมีการเร่งงานและเร่งเวลา แต่เนื่องจากมีทีมงานทางฝ่ายวิศวกรรมที่กรุงเทพฯ ให้การสนับสนุน จึงก่อสร้างโรงงานได้เสร็จเร็วกว่ากำหนด

    การตั้งโรงงานที่แก่งคอยถือเป็นการแสดงความพร้อมในการแข่งขัน ในยุคที่ไม่ใช่การผูกขาดอีกต่อไป และถือเป็นยุทธศาสตร์การตอบโต้คู่แข่งที่น่าสนใจด้วย  
    ป้ายคำค้น :
    2505 , แก่งคอย , บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด
  • ชื่อ
    พ.ศ.2505 การขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ : โรงงานทุ่งสง
    รายละเอียด :
    ในช่วงนั้นมีแนวคิดพัฒนาการผลิตปูนซีเมนต์ครั้งใหญ่ ในหลายรูปแบบ Mr.C.F. Jespersen ได้เสนอในที่ประชุมกรรมการให้แก้ปัญหาการขอตู้บรรทุกเพื่อขนส่งโดยทางรถไฟไปขายต่างจังหวัด โดยเสนอให้ตั้งโรงงานบดปูนเม็ดขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยร่วมกับ F.L. Smidth แต่หากทำไม่สำเร็จ ก็ให้ไปตั้งโรงงานบดปูนเม็ดที่จังหวัดนครราชสีมาแทน เพื่อความสะดวกในการใช้ทางรถยนต์ สำหรับทางเหนือควรตั้งที่สถานีเด่นชัย แต่สำหรับทางใต้ ควรให้พ่อค้าใต้ลงทุนตั้งโรงงานบดปูนเม็ดที่สงขลาแล้วขนส่งทางเรือ

    ต่อมา Mr.C.F. Jespersen เสนออีกครั้งในสถานการณ์ที่ปูนซีเมนต์ขายดีว่าต้องเลือกระหว่างการสั่งซื้อหม้อเผาที่ 4 ที่โรงงานท่าหลวงหรือการตั้งโรงงานใหม่ที่ภาคใต้ เพื่อที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไม่ต้องแบกรับภาระทางการเงินทั้งหมด ควรหาพ่อค้าที่ภาคใต้ร่วมลงทุนด้วย แล้วเสนอว่าควรมีชาวต่างประเทศร่วมลงทุนด้วย เพราะไม่สามารถทำคนเดียวได้เหมือนตั้งโรงงานท่าหลวง เพราะมีอายุมากแล้ว ซึ่งที่ประชุมกรรมการเลือกการสั่งซื้อหม้อเผา 4 มาติดตั้งที่โรงงานท่าหลวง ซึ่งต่อมาที่ประชุมกรรมการได้อนุมัติให้จัดหาที่ดินประมาณ 300-500 ไร่ ที่อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เพื่อจัดเตรียมไว้สำหรับการตั้งโรงงานต่อไป

    ภายหลังจากกรณีอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ (รายละเอียดดูในเรื่อง Mr.C.F. Jespersen) แนวทางในการตั้งโรงงานใหม่ในภาคใต้ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ขอบัตรส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม เลขที่ 12/2505 ให้ขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ได้จากปีละ 700,000 ตันเป็น 950,000 ตันภายในปี พ.ศ.2508 และได้รับการยกเว้นภาษีในการนำเข้าเครื่องจักร ส่วนประกอบ และอุปกรณ์ ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน คือ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2505

    บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ดำเนินการขุดเจาะหินที่ทุ่งสงเพื่อสำรวจวัตถุดิบในภาคใต้ โดยมีนายช่างกรมโลหะกิจควบคุมอยู่ หลังจากนั้นจึงได้มีการเดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อดำเนินการประมูลเครื่องจักรสำหรับโรงงานที่ทุ่งสง โดยมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาคือ Interconsulting Ltd. ที่เมืองซูริค

    การสร้างโรงงานทุ่งสงจึงแสดงให้เห็นถึงการเลือกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง

    (1) การเลือกสร้างโรงงานที่ภาคใต้ตามแนวทางของ Mr.C.F. Jespersen ซึ่งเสนอให้สร้างที่อ่าวลึก จังหวัดกระบี่

    (2) แนวทางของกลุ่มผู้บริหารชาวไทยในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่เลือกสร้างที่ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

    นอกจากนี้การสั่งซื้อเครื่องจักรชุดแรกของโรงงานทุ่งสงก็เลือกโดยการเดินทางไปประมูลที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และจ้างบริษัทที่ปรึกษาเอง แม้ว่าสุดท้ายจะประมูลเลือก F.L. Smidth แต่เป็นการเลือกจากการแข่งขันกันยื่นเสนอประมูล แสดงให้เห็นความเป็นอิสระทางด้านเทคโนโลยีจากนายช่างชาวเดนมาร์กที่เคยบริหารบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มาอย่างยาวนาน

    แนวทางการเลือกสร้างโรงงานที่ทุ่งสงของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ยังใช้แนวทางการเลือกที่ตั้งที่อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบหลัก คือดินขาวและอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมหลักคือเส้นทางรถไฟ แต่การตัดสินใจสร้างโรงงานภาคใต้ แม้ยังขึ้นอยู่กับการขยายตัวของตลาดปูนซีเมนต์ในภาคใต้ และความต้องการลดต้นทุนการขนส่งแล้ว ยังมีการปรับตัวในการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลด้วย เนื่องจากได้ยกเว้นภาษีเครื่องจักรและชิ้นส่วนที่นำเข้ามาในประเทศได้

    อีกนัยหนึ่งของการขยายการผลิตปูนซีเมนต์ที่ทุ่งสง นอกจากจะยึดตลาดใหม่ไว้ก่อนคู่แข่งแล้วยังเป็นการตัดสินใจที่ไม่อิงกับผู้จัดการทั่วไปชาวเดนมาร์กครั้งสำคัญ และเป็นการปฏิเสธแนวคิดร่วมทุนกับผู้อื่นที่พยายามเสนอโดยผู้จัดการชาวเดนมาร์ก  
    ป้ายคำค้น :
    2505 , ทุ่งสง
  • ชื่อ
    พ.ศ.2509 เข้าสู่อุตสาหกรรมเหล็กอย่างเต็มตัว
    รายละเอียด :
    รัฐบาลไทยในช่วงที่มีผู้นำทางการเมืองที่มาจากกลุ่มคณะราษฎรต่างมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศตามแนวคิด

    "การที่พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองได้ประเทศของเราจะต้องก้าวไปสู่กิจการอุตสาหกรรม.... จะต้องมีการผลิตเหล็กขึ้นในประเทศ เพื่อเป็นการรองรับอุตสาหกรรม"

    นายวิชา เศรษฐบุตร อธิบดีกรมโลหะกิจ พ.ศ.2498-2514 และอดีตกรรมการบริษัทเหล็กสยาม จำกัด และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กล่าวไว้ใน "จารึกในความทรงจำ" กล่าวถึงแนวความคิดที่ทรงอิทธิพลของนักวางแผนทางเศรษฐกิจในยุคนั้น

    บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในยุคผู้จัดการทั่วไปชาวเดนมาร์กคนที่สาม ให้ความสำคัญในการบุกเบิกอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งมีแผนการ "ที่จะสร้างศูนย์อุตสาหกรรมของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด" อยู่แล้ว (วิชา เศรษฐบุตร อ้างแล้ว) ซึ่งเข้าใจว่าจะสร้างขึ้นที่ท่าหลวง (อ่านรายละเอียด "เมืองอุตสาหกรรม" ในเรื่องโรงงานท่าหลวง) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้สนับสนุนให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ดำเนินการขอสัมปทานแหล่งแร่เหล็กจากรัฐบาลทั้งที่ จ.กระบี่ และ จ.ลพบุรี ที่จังหวัดกระบี่นั้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวสวีเดนมาทำการสำรวจแต่พบว่าเหล็กมีคุณภาพต่ำ แต่นายสมัคร บุราวาศ วิศวกรเหมืองแร่ของกรมโลหะกิจได้แนะนำให้ไปสำรวจที่เขาทับควาย จ.ลพบุรี พบแหล่งแร่เหล็กมีคุณภาพดี จึงเป็นการเริ่มต้นการทำอุตสาหกรรมเหล็กของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    รัฐบาลยังให้การสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาล คือ ดร.จ่าง รัตนะรัต และนายสมัคร บุราวาศ ให้มาร่วมทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2485 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ดำเนินการทดลองถลุงเหล็กได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยการสนับสนุนของรัฐบาล โดยรัฐบาลคาดหวังว่าจะผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 100 ตันต่อวัน ทั้งนี้การทดลองถลุงเหล็กมีความจำเป็นในการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อดำเนินการผลิตต่อไปให้ได้ ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรใหม่จากต่างประเทศได้ตามความต้องการเนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยที่มีผู้นำทางการเมืองคือ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอให้กองทัพเรือซึ่งมีเตาถลุงเหล็กแบบ Bessemer ดำเนินการร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเหล็กต่อไป

    ในปี พ.ศ.2490 รัฐบาลตั้งกรรมการ 2 คน คือ นายประวัติ สุขุม อธิบดีกรมโลหะกิจ และ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ มาเจรจาเรื่องอุตสาหกรรมเหล็กกับกองทัพเรือ โดยมีกรรมการผู้แทนกองทัพเรือ ได้แก่ น.อ.จำรัส เภกะนันท์ รน.,น.อ.ชลี สินธุโสภณ รน.,น.อ.ฉาด แสง-ชูโต รน. ซึ่งทั้ง 3 ท่านยังคงทำงานร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต่อไป แม้ว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตัดสินใจดำเนินอุตสาหกรรมเหล็กต่อไปเอง โดยใช้เตาถลุงเหล็กแบบ Open Hearth

    การรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 นำโดยคณะทหารบกซึ่งได้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลไทยยังมีนโยบายสนับสนุนให้มีการขยายกำลังการผลิตเหล็กให้เพิ่มขึ้นต่อไป ในปี พ.ศ.2493 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเรื่องอุตสาหกรรมเหล็กจากเดนมาร์ก และในปี พ.ศ.2494-2496 ได้ส่งพนักงานบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไปฝึกอบรมทุกปีทั้งที่ญี่ปุ่นและในยุโรป ทั้งได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เดินทางไปเปิดเตาเหล็กกล้าที่โรงงานท่าหลวงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2496 จนถึงปี พ.ศ. 2499 อุตสาหกรรมเหล็กเริ่มทำกำไร และทำให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ.2503 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด สั่งซื้อเตาไฟฟ้าเตาแรกมาใช้ ทำให้สามารถขยายการหลอมเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    แต่ด้วยปริมาณแหล่งแร่เหล็กที่มีอยู่จำกัดของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงทำให้ในช่วงปี พ.ศ.2503-2507 เป็นช่วงการแสวงหาแหล่งแร่เหล็กใหม่ ๆ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ จ.นครสวรรค์ กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา ในที่สุดกลับเป็นการสำรวจแหล่งแร่เหล็กเดิมใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2507 คือที่เขาทับควาย จ.ลพบุรี แล้วพบปริมาณแร่เหล็กถึง 7 ล้านตัน ด้วยความมั่นใจในปริมาณแหล่งแร่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างจริงจังจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการจดทะเบียนดำเนินกิจการบริษัทเหล็กสยาม จำกัด เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2509

    ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2500 ต่อมาได้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายส่งสริม การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยให้การส่งเสริมการลงทุน และยังให้การสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยต่อไป ซึ่งทางบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลหลายครั้งด้วยกัน สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมซึ่งรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาให้การสนับสนุนการทำธุรกิจโดยเสรี โดยรัฐไม่เข้าไปเป็นเจ้าของดำเนินกิจการเองเหมือนสมัยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผลที่ตามมาประการหนึ่งของการตั้งบริษัทเหล็กสยาม จำกัด คือการเชิญนายบุญมา วงศ์สวรรค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งต่อมาภายหลังได้เป็นกรรมการและเป็นผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในปี พ.ศ.2517

    การเตรียมการครั้งใหญ่ก็เพื่อแสวงหาเงินทุน ก่อนที่จะพบข้อจำกัดในช่วงปี พ.ศ.2516 ว่าถ้าต้องการลงทุนเพิ่มด้วยการกู้ยืมเงินหรือหาผู้ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรรมเหล็กแล้ว ควรต้องแยกการผลิตเหล็กรีดกับเหล็กหล่อออกจากกัน

    จากจุดเริ่มต้นนั้น ซึ่งมาจากแรงบันดาลใจของแนวทางพัฒนาประเทศในสมัยหนึ่ง จากอิทธิพลและการสนับสนุนจากรัฐบาล อุตสาหกรรมของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มต้นอย่างจริงจัง  
    ป้ายคำค้น :
    ท่าหลวง , อุตสาหกรรมเหล็ก , ปรีดี , พนมยงค์ , 2505 , จ่าง , รัตนะรัต , สมัคร , บุราวาศ