สฤษดิ์

  • ชื่อ
    พ.ศ.2505 จุดเริ่มต้นนักบริหารไทย : กิจการการตลาด
    รายละเอียด :
    การขายสินค้าปูนซีเมนต์เป็นการบริหารงานด้านหนึ่งที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2458 โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตั้งแผนกจัดจำหน่าย (Sale Office) ของตนเองขึ้นมาควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้วยการใช้ตัวแทนจำหน่าย (Sale Agency) แต่ก็ดูเหมือนการดำเนินการเป็นไปอย่างจำกัดเพราะการตลาดเป็นของผู้ขาย ในปี พ.ศ.2483 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้เปลี่ยนให้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งรัฐบาลในยุคคณะราษฎรถือหุ้นอยู่เป็นผู้แทนจำหน่ายปูนซีเมนต์ให้ แต่ภายหลังบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ประสบปัญหาหนี้สินไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

    ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อการค้าเริ่มต้นคึกคักมากขึ้น รวมทั้งปริมาณการผลิตปูนซิเมนต์เพิ่มขึ้นจากการสร้างโรงงานท่าหลวงแล้วเสร็จ เป็นช่วงเดียวกับที่มีความพยายามจะยกเลิกสัญญากับบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด Mr.C.F. Jespersen ผู้จัดการทั่วไปได้เสนอแผนการจัดตั้งบริษัทจัดจำหน่ายใหม่ขึ้นมา ซึ่งนับว่าเป็นโครงสร้างที่น่าสนใจมาก

    โดยเสนอให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ถือหุ้น 50% ส่วนที่เหลือเป็นของกลุ่มผู้ค้ำประกัน(คอมปราโดร์) จำนวน 5 ราย แม้ว่าโครงสร้างใหม่จำต้องหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนั้นคือ นายปรีดี พนมยงค์ (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย) เสียก่อนแต่ไม่มีรายงานว่าเช่นใด นอกจากคณะกรรมการอนุมัติให้ดำเนินการได้ บรรดาผู้ค้ำประกันที่เสนอมาร่วมทุนและดำเนินการนั้น ทั้งหมดล้วนเป็นผู้คุ้นเคยร่วมทำงานกับ Mr.C.F. Jespersen มานาน 15-20 ปีแล้วทั้งสิ้น เป็นที่น่าสังเกต 4 รายเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการผู้ก่อตั้งบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด (นายเม้ง ตันสัจจา นายสง่า วรรณดิษฐ์ หลวงพัฒน์พงษ์พาณิชย์ และ ขุนพิพัธหริณสูตร) ซึ่งในช่วงนั้นบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด กำลังมีปัญหา ไม่มีทุนดำเนินการต่อและกำลังเสนอขายให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด นอกจากนี้คณะกรรมการบางคนเสนอชื่อ นายชิน โสภณพานิช ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริษัทมหกิจก่อสร้างเพิ่มเข้าไปด้วย แต่ได้รับการคัดค้าน อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง โดยการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 แนวคิดนี้ก็เงียบไปพักหนึ่ง จนมาถึงปี พ.ศ.2491 คณะกรรมการจึงมีมติใหม่ไม่สนับสนุนแผนการเดิม โดยปรับเป็นการตั้งแผนกจัดจำหน่ายขึ้นมาแทน โดยมีชาวเดนมาร์กบริหารงาน

    บทเรียนการจำหน่ายปูนซีเมนต์ให้กับคณะราษฎรเป็นบทเรียนที่น่าจดจำและดูเหมือนจะย้อนกลับมาสร้างปัญหาอีกครั้งในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำเนินนโยบายควบคุมการค้าธุรกิจเช่นเดียวกับยุคคณะราษฎร ทั้งก่อนหน้านั้นก็เกิดโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งใหม่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2498 นั่นคือบริษัทชลประทานซีเมนต์

    เมื่อมีข่าวว่าผู้มีอำนาจสนใจจะตั้งบริษัทผูกขาดจำหน่ายปูนซีเมนต์ขึ้นมา คณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงรีบดำเนินการจัดตั้งบริษัทการจัดจำหน่ายขึ้นอย่างเร่งด่วน

    การประชุมคณะกรรมควบคุมฝ่ายบริหารมีขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2505 ได้อนุมัติข้อเสนอการจัดบริษัท ซึ่งฝ่ายอำนวยการเสนอแผนการอย่างละเอียด (รายงานประชุมกรรมการควบคุมฝ่ายบริหารครั้งที่ 13 และรายงานการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 655)

    บริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด จดทะเบียนดำเนินงานเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2505 ทำหน้าที่เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทในเครือซิเมนต์ไทยทั้งหมด ทั้งภายในและต่างประเทศ 

    การตั้งบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด นั้นเป็นผลมาจากแนวคิดการรวมกิจการด้านจัดจำหน่ายของ 3 บริษัทคือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด และบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดจำหน่ายและทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดเกิดการรวมตัวกันในลักษณะเป็นกลุ่มบริษัท

    อย่างไรก็ตามการบริหารในช่วง 5 ปี ดำเนินอย่างเรียบร้อยด้วยการบริหารของวิศวกรและบุคคลที่ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ ซึ่งประสบการณ์เคยรับราชการมาก่อน

    การเข้ามาของนายอายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา เริ่มทำงานในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในปีพ.ศ.2509 เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมากสำหรับประวัติศาสตร์ ไม่เพียงกิจการการตลาดเท่านั้น หากหมายถึงการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    งานการตลาดของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่สร้างระบบขึ้นในช่วงนั้นถือเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาในช่วงต่อมา

    ประการแรก การสร้างเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย บุคคลที่มีบทบาทอย่างมากก็คือ นายอมเรศ ศิลาอ่อน

    ประการที่สอง การสร้างระบบการจัดส่ง ในขณะนั้นเรียกว่าฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า Logistics บุคคลที่มีบทบาทอย่างมากก็คือ นายจรัส ชูโต ซึ่งต่อมาก็เป็นผู้จัดการใหญ่ที่มาจากคนในคนแรกของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    งานสำคัญอีกประการหนึ่งที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต่อเนื่องมา คืองานด้านฝึกอบรม ซึ่งบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เบิกสร้างศูนย์ฝึกอบรม ในตอนนั้นเพื่อสร้างและพัฒนาพนักงานขาย แต่ต่อมาได้ขยายบทบาทเป็นฝึกอบรมด้านบริหารและกลายเป็นระบบงานพัฒนาบุคลากรระบบใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน บุคคลสำคัญที่บุกเบิกงานนี้ได้แก่ นายเสนาะ นิลกำแหง

    แม้ว่าในปี พ.ศ.2521 กิจการการตลาดจะกลายเป็นกิจการการค้าระหว่างประเทศ แต่โครงสร้างและระบบต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในช่วง 10 ปีของบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด ได้ถ่ายทอดมาฝังอยู่ในระบบของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างแนบแน่น  
    ป้ายคำค้น :
    จรัส , ชูโต , อิศรเสนา ณ อยุธยา , 2505 , การตลาด , คอมปราโดร์ , ชิน , โสภณพานิช , สฤษดิ์ , ธนะรัชต์ , อายุส , อมเรศ , ศิลาอ่อน , เสนาะ , นิลกำแหง
  • ชื่อ
    พ.ศ.2502 วางแผนเศรษฐกิจสมัยใหม่
    รายละเอียด :
    แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก

    ปี พ.ศ.2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางไปสหรัฐอเมริกา และมีเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ชี้ชวนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศไทย โดยอาศัยความช่วยเหลือด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ภายในปีเดียวกันนั้นจอมพลสฤษดิ์ฯ ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม สามวันต่อมา ทางสหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์ว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา แต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเริ่มต้นจากรายงานการประชุมของธนาคารโลกในปี พ.ศ.2502 รายงานฉบับนี้ได้วิจารณ์ถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โรงงานที่รัฐเป็นเจ้าของเกือบทั้งหมดประสบกับการขาดทุน ยกเว้นกิจการยาสูบและสุรา บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ก็ประสบกับปัญหาหนี้สินเช่นกัน รายงานฉบับนี้แนะนำว่ารัฐบาลควรทำให้รัฐวิสาหกิจมีขนาดเล็กลง และสนับสนุนหัตถกรรมอุตสาหกรรมที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ โดยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใหม่ ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการให้สินเชื่อ รวมทั้งจัดตั้งสถาบันเพื่อวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

    รัฐบาลสหรัฐอเมริการะบุว่าต้องการให้ประเทศไทยทำตามข้อเสนอของธนาคารโลก โดยประธานาธิบดีเคนเนดี้เขียนบันทึกถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยตรงให้พิจารณารายงานของธนาคารโลกอย่างจริงจัง และเป็นพื้นฐานของการให้ความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ฯ ยอมรับกระแสการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา โดยกล่าวว่า งานสำคัญในสมัยนี้ก็คือการพัฒนา ทั้งนี้หมายรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาการศึกษา การพัฒนาการบริหาร และการพัฒนาด้านอื่น ๆ เข้าไว้ด้วย ดังนั้นจากความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยได้จัดตั้งสำนักงานงบประมาณ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนขึ้น

    หน้าที่หลักของสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (ต่อมาคือ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) คือการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจเป็นระยะเวลาคราวละ 5 ปี ธนาคารโลกเป็นผู้ให้การสนับสนุนที่สำคัญในการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ เจ้าหน้าที่ระดับกลางที่มีความสำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ล้วนมาจากเทคโนแครตรุ่นใหม่ ที่ได้รับการศึกษาด้านการพัฒนาแบบใหม่มาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ธนาคารโลกยังเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการดำเนินแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2493-2518 ธนาคารโลกให้เงินกู้แก่ประเทศไทยถึง 440 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการสร้างถนน เส้นทางคมนาคมอื่น ระบบชลประทาน ไฟฟ้าพลังน้ำ และการศึกษา โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฉบับแรกเขียนขึ้นโดยที่ปรึกษาชาวอเมริกัน ในบทนำของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก (2504-09) มีการกล่าวว่าประเทศไทยจะเพิ่มผลผลิตได้จากความสามารถของเอกชนแต่ละคนในชาติ ถ้าได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่ใช่จากการที่รัฐบาลเข้าไปทำการผลิตเสียเอง สิ่งสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจคือ กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากภาคเอกชน

    รัฐบาลสร้างระบบการคุ้มครองทางภาษีศุลกากรขึ้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนการนำสินค้าเข้าจากต่างประเทศ ภาษีการค้ากลายเป็นแหล่งรายรับที่สำคัญของรัฐบาลเป็นเวลานาน ในปี พ.ศ.2503 รายได้จากภาษีนำเข้าเพียงอย่างเดียวคิดเป็น 30% ของรายรับทั้งหมดของรัฐบาล ในขณะที่ภาษีของสินค้าทุนและปัจจัยการผลิตจะลดต่ำลง ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้ขยายตัวมากขึ้น อัตราค่าแรงถูกลงให้อยู่ในระดับต่ำ และใช้การเก็บพรีเมียมข้าวเป็นการกดราคาข้าวในเมืองไว้ เพื่อการคงอัตราค่าจ้างในระดับต่ำต่อไปได้

    พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน

    ในปี พ.ศ.2502 รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนขึ้นมา ในปี พ.ศ.2503 รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีกับทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ รัฐบาลอนุญาตให้ต่างชาติส่งผลกำไรกลับประเทศของตนได้ ให้หลักประกันในการเป็นเจ้าของกิจการ ปรับปรุงระบบการถือครองที่ดิน เพื่อให้ธุรกิจต่างชาติถือครองที่ดินได้ รวมทั้งการยกเลิกสหภาพแรงงาน และถือว่าการนัดหยุดงานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศปีละพันล้านบาทในปลายทศวรรษ 2500 ก่อนเพิ่มเป็น 1.5 พันล้านบาทตลอดทศวรรษ 2510 โดยมีการลงทุนจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด จนถึงปี พ.ศ. 2516 ประเทศญี่ปุ่นได้แซงหน้ายอดการลงทุนต่างประเทศจากสหรัฐอเมริกาและต่อเนื่องต่อไป

    การลงทุนจากญี่ปุ่นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

    (1) ธุรกิจประกอบชิ้นส่วน มุ่งหากำไรจากความแตกต่างของโครงสร้างภาษีข้าเข้า

    (2) การลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมเพื่อส่งออกกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ เนื่องจากค่าแรงภายในประเทศญี่ปุ่นสูงมาก จึงโยกย้ายกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ แต่ใช้แรงงานเข้มข้นแทน อย่างไรก็ตามการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมาประเทศไทยนี้ ได้ก่อให้เกิดแรงต่อต้านจากกลุ่มธุรกิจและเทคโนแครตในประเทศไทย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2514 มีสมาคมธุรกิจและการค้าประมาณ 30 แห่ง ร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการครอบงำเศรษฐกิจจากต่างชาติ ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นพยายามลดการต่อต้านด้วยการลดภาษีขาเข้าสำหรับสินค้าที่มาจากประเทศไทย ในขณะที่เพิ่มเงินช่วยเหลือให้กับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ภายในทศวรรษ 2520 เงินช่วยเหลือจากญี่ปุ่นมีมูลค่าถึง 2 ใน 3 ของความช่วยเหลือทั้งหมดที่ประเทศไทยได้รับ

    เปรียบเทียบกับการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา การลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นอยู่ในรูปแบบการร่วมลงทุนกับฝ่ายไทยมากกว่า โดยการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นนั้น ในระยะแรกญี่ปุ่นมีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าฝ่ายไทย แต่ในระยะหลังจะลดสัดส่วนการลงทุนให้ฝ่ายไทยมีมากกว่า ทั้งนี้เพราะบริษัทการค้าขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ที่เรียกว่า โซโกะ โซชา และบริษัทขนาดใหญ่อื่น ๆ เข้ามาลงทุนเพื่อขายสินค้าให้กับตลาดภายในประเทศ จึงพอใจกับการร่วมทุนกับฝ่ายไทยที่รู้จักด้านการตลาดภายในประเทศได้ดีกว่า

    ผลจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี พ.ศ.2503-2525 มีการขอส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 6 พันล้านบาท และธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณการว่าระหว่างปี พ.ศ.2508-18 มีเงินไหลเข้าประเทศไทยสูงถึง 1.25 พันล้านบาท ในจำนวนนี้มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา 38% และรองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น 30%  
    ป้ายคำค้น :
    2502 , สฤษดิ์ , ธนะรัชต์ , แผนพัฒนาเศรษฐกิจ , เคนเนดี้