2551

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2551 วิกฤติซับไพรม์และมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ
    รายละเอียด :
    วิกฤติซับไพรม์และมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ

    วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ หรือในประเทศไทยเรียกว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 จากนั้นสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างไปทั่วโลกในปี 2551

    วิกฤติดังกล่าวเปรียบเทียบว่าเป็นภาวะฟองสบู่แตกของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา สาเหตุหลักเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 นำไปสู่กระแสเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับมีนวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นเมื่อภาวะฟองสบู่แตกจึงลุกลามไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจริง การเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และสินค้าโภคภัณฑ์ 

    ภาคเศรษฐกิจจริงถูกกระทบโดยตรงจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของชาวสหรัฐฯ นำไปสู่การหดตัวของการบริโภคและการลงทุน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งยังส่งผลลูกโซ่ไปยังภาคการผลิตและเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมให้ตกต่ำลง

    เมื่อฟองสบู่ซับไพรม์แตก ทำให้ราคาของตราสารหนี้ที่อ้างอิงกับภาคอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงไปด้วย บริษัทที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับซับไพรม์ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนเกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว และทำให้สภาวะทางการเงินโลกเข้มงวดขึ้น

    ปัจจัยข้างต้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกวิตกกังวล จึงเร่งเทขายพันธบัตรระยะยาวและหันไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ทำให้ราคาพันธบัตรระยะสั้นและยาวห่างกันมากขึ้น
    ขณะเดียวกัน เมื่อนักลงทุนบางส่วนเร่งเทขายหลักทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา ทำให้ราคาหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวลดต่ำลง ลุกลามไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ทั้งในสหรัฐฯ และตลาดอื่นๆ ทั่วโลก โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลงส่งผลให้ความมั่งคั่งของผู้บริโภคลดลง และย้อนไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงผ่านการบริโภคที่ชะลอลง นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ที่ถูกมองว่ามีผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงสูงเช่นกัน ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่มีความผันผวนอย่างมาก
    ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนคือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยชะลอการตกต่ำของเศรษฐกิจและพลิกฟื้นตลาดหลักทรัพย์ โดยตั้งแต่เริ่มวิกฤติเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 5.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ในเดือนมีนาคม 2551 ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
    การที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ กว้างขึ้น เป็นเหตุให้ค่าเงินของประเทศดังกล่าวเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ผันผวนและแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

    สำหรับผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เกิดความผันผวนมาก จากการเก็งกำไรจากกองทุนประกันความเสี่ยงที่เข้าเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลง นอกจากนั้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนลงยังทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่ที่ผูกติดค่าเงินกับสกุลดอลลาร์จำต้องขึ้นราคาน้ำมันดิบเพื่อรักษาอัตราผลกำไรเอาไว้

    การที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ทำให้ประเทศผู้บริโภคน้ำมันเริ่มหันไปหาพลังงานทางเลือก (Bio Fuel) มากขึ้น ส่งผลให้ราคาของธัญพืชที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงต่างๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง น้ำตาล ข้าวโพด รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการบริโภคอื่นๆ สูงขึ้นเช่นกัน

    วิกฤติซับไพรม์ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในภาคการเงิน ตามมาด้วยการที่นักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากพันธบัตรที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและหุ้นที่มีราคาไม่แน่นอน โดยนำไปเก็บสะสมในรูปของสินค้าโภคภัณฑ์แทน ตามมาด้วยการเก็งกำไรราคาสินค้าล่วงหน้า ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติราคาอาหารโลกและราคาน้ำมันพุ่งสูง
    ส่วนเศรษฐกิจโลก ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าเป็นผลจากวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯเช่นเดียวกัน ผลกระทบดังกล่าวทำให้ประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ อังกฤษและญี่ปุ่น เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่นเดียวกับบางประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกงและไต้หวัน

    เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 6 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงต้นปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 1.0 ต่อปีในเดือนตุลาคม

    วิกฤติซับไพรม์ส่งผลทางลบแก่สภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายประการ ที่สำคัญเช่น ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ตัวเลขการว่างงานพุ่งสูงถึงกว่า 2.6 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2488 เป็นต้นมาและมีรายงานว่า เฉพาะเดือนกันยายน 2551 จำนวนคนตกงานในสาขาการเงินในสหรัฐฯ สูงถึง 65,400 คน ส่วนเดือนธันวาคม ตัวเลขระบุว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.2

    วันที่ 1 ธันวาคม 2551 National Bureau of Economic Research (NBER) ประกาศว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2550
     
     
    ป้ายคำค้น :
    2551 , สหรัฐอเมริกา , เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา , วิกฤตซับไพรม์
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2551 ผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์
    รายละเอียด :
    ผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์

    วิกฤติซับไพรม์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในด้านภาวะสภาพคล่องตึงตัวในตลาดการเงิน ต่อมาความตึงตัวในตลาดการเงินและสินเชื่อที่ยืดเยื้อทำให้สถาบันการเงินปรับมาตรฐานการปล่อยกู้เข้มงวดขึ้น กอปรกับราคาบ้านที่หดตัวต่อเนื่องและรุนแรงมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ทั้งการบริโภคและการลงทุนของสหรัฐฯ หดตัวรุนแรงส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 

    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นมีไม่มากนัก เนื่องจากหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เศรษฐกิจโดยรวมของไทยมีระบบภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม ลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ในการเป็นตลาดส่งออก โดยประเทศในเอเชียมีการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น นอกจากนี้ ภาคการเงินอื่นนอกเหนือจากสถาบันการเงิน เช่น ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรขยายตัวมากขึ้น มีการกำกับดูแลภาคการเงินที่มีมาตรฐานสากลมากขึ้น

    อีกด้านหนึ่งสถาบันการเงินของไทยที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน (Collateralized Debt Obligation : CDO) ซึ่งมีสินเชื่อลูกหนี้ซับไพรม์เป็นหลักประกันมีน้อย ภาคธนาคารของไทย มีภาระต่อสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับซับไพรม์เพียงร้อยละ 0.3 ของสินทรัพย์ทั้งหมด โดยสินทรัพย์ดังกล่าวได้ถูกขายออกจากระบบหลังเหตุการณ์ไปแล้ว นอกจากนั้น ภาคธนาคารมีการดำรงทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ทั้งระบบ อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก (ร้อยละ 15.6 เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ร้อยละ 8.5) และสัดส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อยอดสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นปี 2551 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.9

    ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อระบบการเงินโดยตรงของไทยจึงมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบทางอ้อมจากตลาดเงินโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น และผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศลงมาก ทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เงินบาทแข็งค่ากว่าเดิม
     
    ป้ายคำค้น :
    2551 , ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย , วิกฤตซับไพรม์
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2551 การบริหารความเสี่ยงขององค์กรอย่างรัดกุม
    รายละเอียด :
    การบริหารความเสี่ยงขององค์กรอย่างรัดกุม

    ปี 2551 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก ปัจจัยสำคัญมาจากวิกฤติทางการเงินในสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยนั้น ความตึงเครียดทางการเมืองส่งผลต่อการส่งออก ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค

    เพื่อให้สามารถฝ่าฟันวิกฤติและกลับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว SCG จึงได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และความมั่นคงขององค์กร มากกว่าการเติบโตระยะสั้น โดยใช้กลยุทธ์สำคัญ 2 ประการ คือ บริหารสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนและชะลอการลงทุนโครงการใหม่

    กลยุทธ์แรกนั้น SCG บริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในภาวะเหมาะสม ตลอดจนลดความเสี่ยงด้วยการใช้แหล่งเงินกู้ภายในประเทศด้วยรูปแบบของหุ้นกู้มาตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มีการจัดเตรียมเงินลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจไว้ล่วงหน้า นอกจากนั้นยังดำเนินการเรื่องลดสินค้าคงคลังและติดตามการให้สินเชื่อการค้าอย่างใกล้ชิด

    ทั้งนี้ นับจากการออกหุ้นกู้ในปี 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 บริษัทได้ออกหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันมูลค่ารวม 105,000 ล้านบาท โดยปี 2551 ออกหุ้นกู้ 2 ครั้งมูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท

    สำหรับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน SCG ดำเนินการทั้งการยกเลิกและชะลอการลงทุนโครงการใหม่ที่ตลาดไม่ขยายตัวตามที่คาด สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและตลาดมีแนวโน้มฟื้นตัวในอนาคต ก็เร่งให้สำเร็จตามแผน โดยอยู่ในงบประมาณที่เตรียมการไว้

    ตัวอย่างกรณีนี้เช่น โครงการโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ภายใต้การดูแลของบริษัทมาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด ซึ่งนอกจากต้องดูแลการออกแบบและก่อสร้างให้ได้คุณภาพสูง อยู่ในงบประมาณที่วางไว้แล้ว ยังต้องทำให้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนดด้วย
     
    ป้ายคำค้น :
    2551 , การบริหารความเสี่ยงขององค์กร , การบริหารสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน , การชะลอการลงทุนโครงการใหม่
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2551 เสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานตลาดในประเทศและขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ
    รายละเอียด :
    เสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานตลาดในประเทศและขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ

    SCG เร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานการตลาดในประเทศ โดยอาศัยความแข็งแกร่งของช่องทางการจัดจำหน่ายและความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า ตัวอย่างเช่น บริษัทเอสซีจี เน็ตเวิร์ค แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่ได้ดำเนินการแต่งตั้งร้านผู้แทนจำหน่ายใหม่จำนวน 6 ร้าน และร่วมกับผู้แทนจำหน่ายพัฒนาร้านค้าช่วงวัสดุก่อสร้างท้องถิ่นให้เป็นร้านค้าวัสดุก่อสร้าง Home Express จำนวน 31 สาขา เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว รวมทั้งสร้างโอกาสการขายสินค้าใหม่ๆ

    มีความพยายามหาโอกาสขยายฐานส่งออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา เน้นลูกค้าคุณภาพเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและกระจายความเสี่ยง อาศัยจุดแข็งต้นทุนการผลิตต่ำ และสินค้าคุณภาพมาตรฐานโลกโดยจัดตั้งสำนักงานสาขาเพิ่มเติมที่ประเทศแทนซาเนีย

    มีการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายในอินโดนีเซีย เวียดนามและกัมพูชา โดยบริษัทเอสซีจี เน็ตเวิร์ค แมเนจเม้นท์ จำกัด เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำด้านการจัดการช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียน
     
    ป้ายคำค้น :
    2551 , ASEAN , ฐานการตลาดในประเทศ , ขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2551 พัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
    รายละเอียด :
    พัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

    SCG มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งด้านสินค้า บริการ กระบวนการทำงาน และรูปแบบธุรกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา โดยเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

    นอกจากนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรม SCG Power of Innovation เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมพนักงาน SCG สร้างสรรค์สิ่งใหม่ พัฒนากระบวนการทำงาน ตอบสนองความต้องการและสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

    ในปี 2550-2551 มีนวัตกรรมที่ส่งประกวด SCG Power of Innovation จำนวนกว่า 300 ผลงาน และผ่านเข้ารอบสุดท้าย 14 ผลงาน ซึ่งมีทั้งผลงานที่คิดค้นโดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นที่ตั้ง (Customer Centric) เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตอบสนองลูกค้า รวมทั้งผลงานสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น

    - CPAC Agricultural Drying – Yard Concrete หรือคอนกรีตตากพืชผลทางการเกษตร เป็นคอนกรีตสำหรับเทพื้น ช่วยลดระยะเวลาในการตากพืชผลทางการเกษตรบนลาน ทำให้เกษตรกรได้ปริมาณพืชผลตากแห้งจำนวนมากขึ้น และส่งต่อไปยังกระบวนการถัดไปได้รวดเร็วมากขึ้น นับเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยพนักงานจากธุรกิจซิเมนต์ (SCG Cement)

    - Tiger Mortar Solution Provider การพัฒนากระบวนการให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้หลายรูปแบบ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ปรับรูปแบบจากการขายแบบเดิม เป็นการขายสินค้าพร้อมบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งเจ้าของบ้านและผู้รับเหมา โดยพนักงานจากธุรกิจซิเมนต์ (SCG Cement)

    - Ultra Kool วัสดุป้องกันความร้อน ซึ่งรวมคุณสมบัติแผ่นสะท้อนความร้อนซีแพคโมเนียของกระเบื้องหลังคาซีแพค และฉนวนเขียวกันความร้อน ของสยามไฟเบอร์กลาสเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันความร้อนทางหลังคา ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศได้มากขึ้น โดยพนักงานจากธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (SCG Building Materials)

    - ยูคาลิปตัสลูกผสม สายพันธุ์ใหม่ Hybrid ที่ทนต่อโรคระบาด ลดการใช้สารเคมี และส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม โดยพนักงานจากธุรกิจกระดาษ (SCG Paper)
               
    โดยรางวัล SCG Power of Innovation ปีนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รางวัล Innovative Manufacturing Process รางวัล Innovative Product และรางวัล Innovative Service and Non-Manufacturing Process

    ผลงานชนะเลิศแต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัลประเภทละ 1 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนา เรียนรู้ของพนักงาน และเป็นกำลังใจให้เกิดการสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ ในกระบวนการทำงาน รวมทั้งการสร้างมูลค่าสินค้าและบริการให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่อไป

    นอกเหนือจากการประกวดแล้ว ยังมีตัวอย่างของการนำนวัตกรรมสร้างประโยชน์ทางธุรกิจเป็นรูปธรรมด้วย อาทิ

    SCG Chemicals สามารถขยายตลาดไปยัง 100 กว่าประเทศ ด้วยสินค้าหลากหลาย ครอบคลุมสินค้าคงทน สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าโครงสร้างพื้นฐาน โดยยอดขายของสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของยอดขายทั้งหมดและเติบโตจนสามารถแยกออกมาตั้งเป็นบริษัท SCG Performance Chemicals จำกัด มีเป้าหมายผลักดันยอดขายสินค้ากลุ่มนี้ให้เติบโตมากขึ้นในอนาคต

    ด้าน SCG Paper สามารถหาโอกาสทางการตลาดใหม่ คือ การพัฒนาและออกแบบกระดาษไอเดีย กรีน เป็นผลจากการศึกษาที่พบว่าลูกค้าต้องการกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีในตลาด โดยได้รับผลการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค นอกจากนั้น แคมเปญการตลาดของไอเดีย กรีน ยังได้รับรางวัลสุดยอดแคมเปญการตลาดประจำปี 2551 จากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยด้วย
     
    ป้ายคำค้น :
    2551 , HVA , High-Value-Added-Products-and-Services , SCG-Power-of-Innovation
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2551 ควบคุมและลดต้นทุนด้านต่างๆ ให้ต่ำที่สุด
    รายละเอียด :
    ควบคุมและลดต้นทุนด้านต่างๆ ให้ต่ำที่สุด

    SCG พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและประหยัดพลังงาน รวมถึงการลดของเสียจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นหลัก 3R (Reduce, Reuse/Recycle และ Replenish)

    เน้นการนำพลังงานทางเลือกมาทดแทนพลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีแผนการลงทุนโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานในระยะเวลา 5 ปี เป็นจำนวนเงิน 15,000 ล้านบาท อาทิ โครงการนำพลังงานความร้อนเหลือใช้ในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ผลิตไฟฟ้า เริ่มที่โรงงานท่าหลวงและโรงงานแก่งคอย สระบุรี และโรงงานทุ่งสง นครศรีธรรมราช รวม 34 เมกะวัตต์ โดยมีเป้าหมายติดตั้งครบทุกสายการผลิตของทุกโรงงาน ทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา รวมทั้งสิ้น 100 เมกะวัตต์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552

    โครงการดังกล่าวสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 300,000 ตันต่อปี ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากภายนอกประมาณร้อยละ 25 หรือประมาณปีละ 1,600 ล้านบาท รวมทั้งมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร ลดการใช้พลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกกว่า 200,000 ตันต่อปี

    SCG ยังเป็นบริษัทแรกในประเทศไทย ที่ได้กำหนดนโยบายจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเกณฑ์การจัดหาและประเมินผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการ เริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ สิ่งของ หรือบริการที่ผู้ขายต้องตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับ SCG รวมทั้งร่วมนำร่องเปลี่ยนหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ประหยัดพลังงาน หลอดผอมใหม่ T5 จำนวน 192,000 หลอด เพื่อร่วมอนุรักษ์พลังงานและบรรเทาภาวะโลกร้อน ซึ่งช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 5,900 ตันต่อปี และประหยัดพลังงานได้ถึง 11.6 GWh (ล้านหน่วย) ต่อปี
    SCG ยังมีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับของเสียและวัสดุเหลือใช้ โดยกำหนดให้ทุกธุรกิจลดปริมาณของเสียที่เกิดหรือออกจากโรงงานต้นทางให้เหลือน้อยที่สุด ส่วนที่เกินกว่าที่จะจัดการได้ในโรงงานต้นทาง ก็จะปรับสภาพของเสียให้สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบทดแทนในกระบวนการผลิต เช่น ในหม้อเผาปูนซีเมนต์ โดยตั้งเป้าหมายไม่ให้มีของเสียที่ต้องนำไปฝังกลบเลย หรือ Zero-Waste to Landfill ภายในปี 2555

    นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ 21 ล้านบาท ให้กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม จัดโครงการ”เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นโรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทย ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณของเสียและมลพิษ เพื่อความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมไทย
     
    ป้ายคำค้น :
    2551 , 3R , อนุรักษ์พลังงาน , เพื่อนช่วยเพื่อน
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2551 มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนา (R&D)
    รายละเอียด :
    มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนา (R&D)

    เป็นภาพชัดเจนว่า บนเส้นทางการเติบโตสู่เป้าหมายเป็นผู้นำทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน ตามวิสัยทัศน์ของ SCG มีความท้าทายที่สำคัญอยู่ที่การแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่รวดเร็ว

    “นวัตกรรม” จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ SCG เน้นส่งเสริมการคิดนอกกรอบ และปลูกฝังวัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovative Culture) ให้กับพนักงานทุกคน ด้วยตระหนักว่า พนักงานเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กรสู่วิสัยทัศน์ดังกล่าว

    SCG ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาในช่วงเวลา 5 ปี (2551-2555) เพื่อส่งเสริมกลยุทธ์ด้านนวัตกรรม ทั้งภายในองค์กร เช่น งานวิจัยและพัฒนา และบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property – IP) รวมถึงภายนอกองค์กร เช่น การทำโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันต่างๆ   
    ป้ายคำค้น :
    Innovation , 2551