2550

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
    รายละเอียด :
    ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

    เดือนมกราคม ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มต้นที่ระดับเพียง 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากนั้นไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 78.12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน

    ไม่ถึง 7 วันต่อมา ราคาน้ำมันดิบไลท์สวีท ตลาดสิงคโปร์ ปรับสูงถึง 99.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือเป็นการทำลายสถิติสูงสุด ส่วนเวสต์เท็กซัส ราคาอยู่ที่ 98.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เบรนท์ 94.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและที่ดูไบ ราคา 87.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งกดดันให้น้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ปรับเพิ่มตาม

    โดยเฉพาะในช่วงพฤศจิกายน ทั้งราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเบนซิน 95 อยู่ที่ 102.92 เหรียญต่อบาร์เรล ดีเซลอยู่ที่ 110.79 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและบางช่วงปรับขึ้น 4-5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในวันเดียว

    ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นดังกล่าว ประกอบด้วย

    1. กำลังผลิตของโลกตึงตัวทำให้เกิดการเก็งกำไรจากเฮดจ์ฟันด์

    2.สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงทั้งอากาศที่หนาวเย็นและพายุเฮอร์ริเคนที่กระทบแหล่งผลิตโดยเฉพาะเฮอร์ริเคนดีนที่พัดเข้าอ่าวเม็กซิโกทำให้กระทบต่อการผลิต

    3. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง

    4. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตโดยเฉพาะประเทศจีน ทำให้ปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมาก

    5. ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางทั้งไนจีเรีย อิรักและอิหร่าน โดยกรณีอิหร่านถือเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงไตรมาส 4 เนื่องจากมหาอำนาจตะวันตกได้หารือเพื่อคว่ำบาตรอิหร่านจากกรณีนิวเคลียร์
     
    ป้ายคำค้น :
    เศรษฐกิจโลก , 2550 , ราคาน้ำมัน
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 ผู้นำอาเซียนเร่งรัดเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (AEC) จากเดิมปี 2563 เป็นปี 2558
    รายละเอียด :
    ผู้นำอาเซียนเร่งรัดเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (AEC) จากเดิมปี 2563 เป็นปี 2558

    ต้นเดือนมกราคม 2550 ผู้นำอาเซียนได้เร่งรัดเป้าหมายของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน จากเดิมที่กำหนดไว้ใน ปี 2563 เป็นปี 2558 เพื่อให้ทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้ประกาศปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (Cebu Declaration on the Acceleration of the Establishment of an ASEAN Community by 2015) ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์

    ต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบและลงนามในเอกสารสำคัญอีก 2 ฉบับ ได้แก่ กฎบัตรและปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งเป็นแผนงานสำหรับการดำเนินการตามพันธกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อไปสู่การจัดตั้ง AEC
     
    ป้ายคำค้น :
    ASEAN , AEC , 2550
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 ผลกระทบจากราคาน้ำมัน
    รายละเอียด :
    ผลกระทบจากราคาน้ำมัน

    ราคาน้ำมันดิบที่ประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศ พุ่งทะยานจนทำสถิติสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในช่วงเดือนมกราคม ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มต้นที่ระดับเพียง 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากนั้นไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือนช่วงพฤศจิกายน ทั้งเบนซินและดีเซลทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะเดียวกัน สำหรับในประเทศไทยยังพบว่ารัฐบาลมีนโยบายเร่งเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อชดใช้หนี้เก่าจากนโยบายตรึงราคาน้ำมันก่อนหน้านั้นด้วย

    ผลพวงจากการที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นทำให้รถยนต์หันมาใช้ก๊าซหุงต้มมากขึ้น โดยเฉพาะรถแท็กซี่ และหากปล่อยไว้อาจทำให้การผลิตก๊าซหุงต้มของไทยไม่พอกับความต้องการจนต้องนำเข้าจากตลาดโลกในราคาสูง รัฐบาลจึงตัดสินใจขึ้นราคาก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือนและรถยนต์อีก 1.20 บาทต่อกิโลกรัม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2550

    เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางการเมือง ต้นทุนพลังงานและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง รายได้จากการส่งออกลดลงจากเงินบาทที่แข็งตัวต่อเนื่อง

    พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตการก่อสร้างในเขตเทศบาลทั้งประเทศ และที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จ จดทะเบียนเพิ่มในกทม. และปริมณฑลลดลงจากปีก่อน ส่งผลต่อเนื่องทำให้ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5 การก่อสร้างภาครัฐน้อยลง เพราะความล่าช้าในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทำให้การก่อสร้างโดยรวมชะลอตัวลง
     
    ป้ายคำค้น :
    2550 , ราคาน้ำมัน , เศรษฐกิจไทย , ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 มาตรการรองรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (AEC)
    รายละเอียด :
    มาตรการรองรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558

    กลุ่มประเทศอาเซียนได้จัดทำพิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) เป็นแผนบูรณาการงานด้านเศรษฐกิจให้เห็นภาพรวมในการมุ่งไปสู่ AEC ประกอบด้วยแผนงานเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ พร้อมกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินมาตรการจนบรรลุเป้าหมายในปี 2558 รวมทั้งให้ความยืดหยุ่นตามที่ประเทศสมาชิกได้ตกลงกันล่วงหน้า เพื่อสร้างพันธสัญญาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

    โดยประเทศอาเซียนได้กำหนดยุทธศาสตร์การก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่สำคัญ ประกอบด้วย การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน และการเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

    ตัวอย่างเช่น อาเซียนได้กำหนด 12 สาขาอุตสาหกรรมสำคัญลำดับแรกอยู่ภายใต้ตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียน ได้แก่ เกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การขนส่งทำงอากาศ สุขภาพ e-ASEAN ท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ รวมทั้งความร่วมมือในสาขาอาหาร เกษตรและป่าไม้

    ขณะที่การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกมี 2 มาตรการคือ
    1.การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) และความเป็นหุ้นส่วนทำงเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด กับประเทศนอกอาเซียน
    2.การมีส่วนร่วมในเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานโลก
     
    ป้ายคำค้น :
    AEC , 2550
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 ประกาศวิสัยทัศน์เอสซีจี (SCG Vision 2015)
    รายละเอียด :
    ประกาศวิสัยทัศน์เอสซีจี (SCG Vision 2015)

    เอสซีจี (SCG) ประกาศวิสัยทัศน์ คือ ภายในปี 2558 SCG จะเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในฐานะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่น่าร่วมงานด้วย และเป็นแบบอย่างด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

    ในปี 2558 เอสซีจีจะเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคที่มุ่งดำเนินธุรกิจควบคู่กับการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนให้แก่อาเซียน และชุมชนที่เข้าไปดำเนินงาน มุ่งสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า พนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ภายใต้คุณภาพการบริหารงานระดับโลก สอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาล และมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ด้วยสินค้าและบริการที่มีคุณภาพจากกระบวนการดำเนินงาน การพัฒนาเทคโนโลยี และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีความเป็นเลิศ

    เอสซีจีเชื่อมั่นในคุณค่าและศักยภาพของพนักงาน ซึ่งจะทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ในบรรยากาศการทำงานที่เปิดเผย โปร่งใส เปี่ยมด้วยพลังแห่งความกระตือรือร้น โดยพนักงานของเราทุกคนจะยึดมั่นและปฎิบัติตามอุดมการณ์ 4 และจรรยาบรรณของเอสซีจี

    ภายในปี 2558 เอสซีจีจะพัฒนาพนักงานซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และประสบการณ์ให้มีความมุ่งมั่นตอบสนองความต้องการของลูกค้า มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล 
     
    ป้ายคำค้น :
    2550 , SCG-Vision-2015
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 เพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรม
    รายละเอียด :
    เพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรม

    ปี 2550 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง รายได้จากการส่งออกลดลงเพราะเงินบาทแข็งค่า การก่อสร้างที่อยู่อาศัยและงานโครงการภาครัฐลดลงส่งผลให้การแข่งขันสูงขึ้น

    เอสซีจีจึงจัดสรรงบประมาณสำหรับงานวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่โดดเด่นมีมูลค่าสูงขึ้น (HVA - High Value Added Products and Services) ช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยวางแผนงานการพัฒนาเทคโนโลยี และสนับสนุนการประสานความร่วมมือข้ามกลุ่มธุรกิจก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

    ตัวอย่างการพัฒนาที่เกิดขึ้นกับหน่วยธุรกิจ เช่น

    SCG Cement
    มีการผลิตสินค้าสำหรับงานเฉพาะ ทั้งปูนซีเมนต์ ปูนสำเร็จรูปและคอนกรีตผสมเสร็จ พัฒนาระบบงานบริการสำหรับรถโม่เล็กซีแพค และเครื่องจักรผลิตคอนกรีตผสมเสร็จแบบเคลื่อนย้ายได้

    SCG Building Materials
    ทำการพัฒนาระบบหลังคาเย็นซีแพคโมเนียที่มีรูปแบบสวยงาม และสะดวกในการติดตั้งมากขึ้น มีกระเบื้องหลังคาเซรามิกแผ่นเรียบ Excella Lava ลวดลายธรรมชาติ และกระเบื้องเซรามิกยับยั้งแบคทีเรีย (COTTO Hygenic Tile)

    SCG Paper
    มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่หลายรายการ อาทิ กระดาษกันลื่นสีน้ำตาลและสีขาวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ผลิตเฝือกกระดาษเพื่อการปฐมพยาบาล มีราคาถูก ปลอดภัยและสะอาด ช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์ราคาแพงจากต่างประเทศ

    SCG Chemicals
    มีการพัฒนาเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตขวดที่มีน้ำหนักเบา และใช้ปริมาณเม็ดพลาสติกในการขึ้นรูปน้อยลง โดยคงความแข็งแรงและคุณสมบัติต่างๆ ไว้ รวมถึงการพัฒนาท่อที่มีผิวขรุขระด้านนอก ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของท่อ ทั้งสองผลิตภัณฑ์ทำให้สามารถลดภาระการขนส่งและประหยัดพลังงานได้ดีขึ้น 
     
               
               
                 
     
     
    ป้ายคำค้น :
    2550 , HVA , High-Value-Added-Products-and-Services
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 ขยายโครงการลงทุนสู่ความเป็นผู้นำในอาเซียน
    รายละเอียด :
    ขยายโครงการลงทุนสู่ความเป็นผู้นำในอาเซียน

    เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์สู่ความเป็นผู้นำตลาดภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2558 SCG จึงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ โรงงานปูนซีเมนต์ในกัมพูชาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเริ่มผลิตและจัดจำหน่ายตั้งแต่ต้นปี 2551 โรงงานผลิตกระดาษอุตสาหกรรมในเวียดนาม อยู่ระหว่างการก่อสร้าง นอกจากนั้น ยังศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่เวียดนาม และการลงทุนโรงงานปูนซีเมนต์เพิ่มเติมในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

    1. การลงทุนโครงการปลายน้ำผลิต HDPE และ PP
    SCG ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2549 ว่า ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัทดาว เคมิคอล ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ของ SCG ในประเทศไทย ซึ่งจะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.7 ล้านตันต่อปี (เอททีลีน 900,000 ตันต่อปี โพรไพลีน 800,000 ตันต่อปี) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก 700,000 ตันต่อปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 45,600 ล้านบาท โดย SCG ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 67

    โรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 นี้จะสามารถผลิตโพรไพลีนได้มากกว่าโรงงานแรกถึงร้อยละ 75 เพื่อรองรับภาวะอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจาก ส่วนใหญ่โรงงานผลิตโอเลฟินส์ที่สร้างใหม่มาจากตะวันออกกลางและใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้มีกำลังการผลิตโพรไพลีนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ น้อย นอกจากนี้ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ยังได้ลงทุนในโครงการปลายน้ำ (Downstream) โดยถือหุ้นทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 17,100 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ผลิตภัณฑ์จากโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 เป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีกำลังการผลิต HDPE รวม 400,000 ตันต่อปี และ PP รวม 400,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ จะเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น (High Value Non-Commoditized Product) เตรียมพร้อมสำหรับการขยายฐานตลาดธุรกิจเคมีภัณฑ์ในภูมิภาคซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    นอกจากนั้น บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ว่ามีโครงการขยายกำลังการผลิตพีวีซีเรซินสายการผลิตที่ 2 กำลังการผลิต 90,000 ตันต่อปี ที่ประเทศเวียดนามผ่านบริษัท TPC Vina Plastic and Chemicals Corporation Co., Ltd. เพื่อรองรับความต้องการพีวีซีในประเทศเวียดนามที่ขยายตัว โดยใช้เครื่องจักรบางส่วนจากสายการผลิตของโรงงานสมุทรปราการที่จะหยุดผลิต

    บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 ว่าได้ลงนามในสัญญา Technology License Agreement กับดาว เคมิคอล สหรัฐฯ เพื่อลงทุนในโครงการสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก LLDPE แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ มีกำลังการผลิต 350,000 ตันต่อปี มูลค่าการลงทุน 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 10,400 ล้านบาท) โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 60 ต่อ 40

    ทั้งนี้ SCG มีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 50 หรือคิดเป็นการลงทุนของ SCG มูลค่าประมาณ 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,100 ล้านบาท) โดยโรงงาน LLDPE แห่งที่ 2 นี้จะเน้นการผลิตเม็ดพลาสติก LLDPE เกรด C6 และ C8 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Product) เพื่อใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะนำวัตถุดิบเอททีลีนจากโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ระหว่าง SCG กับดาว เคมิคอล มาใช้สำหรับการผลิต LLDPE

    2. การตั้งโรงงานกระดาษที่เวียดนาม
    ธุรกิจกระดาษมีแผนขยายธุรกิจในภูมิภาคให้มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ SCG ที่ต้องการเป็นผู้นำในอาเซียน โครงการหลัก คือ การขยายกำลังการผลิตแผ่นกระดาษลูกฟูก 142,000 ตันต่อปี และกล่องกระดาษลูกฟูก 50,000 ตันต่อปี ที่โรงงานในปทุมธานี ขอนแก่น และระยอง และโครงการตั้งโรงงานผลิตกระดาษคราฟท์ที่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 220,000 ตันต่อปี การขยายกำลังการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนที่ขอนแก่น 200,000 ตันต่อปี
     
    ป้ายคำค้น :
    ASEAN , 2550 , ขยายการลงทุน
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 สรรหาพนักงานใหม่วุฒิ Ph.D.
    รายละเอียด :
    สรรหาพนักงานใหม่วุฒิ Ph.D.

    SCG เชื่อมั่นในคุณค่าและศักยภาพของพนักงานทุกคนในทุกประเทศที่ดำเนินงาน จึงมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานให้มีความรู้ความสามารถ จัดอบรมสัมมนา ให้ทุนการศึกษาสาขาต่างๆ ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้พนักงานเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญของบริษัทต่อไป

    SCG มีแผนรับพนักงานใหม่ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น รวมทั้งวางแผนรับพนักงานในภูมิภาคที่ดำเนินงานอยู่ โดยเน้นทำกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และสร้างแบรนด์ SCG ให้อยู่ในใจของนักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีนโยบายพัฒนาศักยภาพของเยาวชนโดยขยายผลกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จในไทยสู่ประเทศอื่นๆ ที่สำคัญได้แก่ การมอบทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา
     
    ป้ายคำค้น :
    2550 , สรรหาพนักงานใหม่ , Ph.D.
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2550 รณรงค์ประหยัดพลังงาน
    รายละเอียด :
    รณรงค์ประหยัดพลังงาน

    เพื่อรับมือกับปัญหาต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น SCG จึงได้วางแผนลงทุนเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาว ด้วยการติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานความร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตของโรงงานปูนซีเมนต์ทุกแห่ง ทั้งนี้ โรงงานแรกเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2551 และแล้วเสร็จทุกโรงงานภายในปี 2552 ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลแล้ว ยังเป็นการควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ที่ปล่อยสู่บรรยากาศ โดยโครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนประมาณ 5,850 ล้านบาท คาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี

    ธุรกิจซิเมนต์ มีการใช้เชื้อเพลิงและวัตถุดิบทดแทน โดยได้นำวัสดุเหลือใช้และของเสียจากภาคอุตสาหกรรมมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและวัตถุดิบทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งนอกจากช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการช่วยประเทศชาติกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรมอีกด้วย ปัจจุบันโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เทาทุกโรงงานของธุรกิจซิเมนต์ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (ลำดับที่ 101) จากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเป็นบริษัทแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว

    ในปี 2550 ธุรกิจซิเมนต์สามารถนำวัสดุเหลือใช้และของเสียจากอุตสาหกรรมมาใช้ในหม้อเผาปูนซีเมนต์ได้มากกว่า 210,000 ตัน (ปี 2549 ประมาณ 186,000 ตัน) ซึ่งยังไม่รวมเถ้าลอย (Pulverized Fuel Ash) ที่บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ได้นำมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนสำหรับคอนกรีตผสมเสร็จอีกจำนวนกว่า 700,000 ตัน (ปี 2549 ประมาณ 900,000 ตัน)

    นอกจากนี้ ธุรกิจซิเมนต์ได้นำเชื้อเพลิงสะอาดจำพวกเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) เช่น แกลบ ขี้เลื่อย เปลือกไม้ ซังข้าวโพด และกะลาปาล์ม มาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยปี 2550 นำเชื้อเพลิงชีวมวลดังกล่าวมาใช้ทดแทนได้ถึง 880,000 ตัน (ปี 2549 จำนวน 786,000 ตัน) นอกจากนี้ ยังได้ใช้เงินลงทุนประมาณ 35 ล้านบาทในการติดตั้งชุดเครื่องจักรที่เกี่ยวข้อง เช่น ชุดป้อนเชื้อเพลิงแกลบเข้า Pre-Calciner ของหม้อเผา และชุดย่อยเศษไม้สำหรับหม้อเผา
     
    ป้ายคำค้น :
    2550 , รณรงค์ประหยัดพลังงาน