2547

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2547 เศรษฐกิจโลกขยายตัวแข็งแกร่ง สาเหตุจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น ยุโรปและญี่ปุ่นฟื้นตัว
    รายละเอียด :
    เศรษฐกิจโลกขยายตัวแข็งแกร่ง สาเหตุจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น ยุโรปและญี่ปุ่นฟื้นตัว

    เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ระบุว่าอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.0 เป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งหลังของปี 2547 มีการชะลอตัวลงในบางภูมิภาค อาทิ ยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวัฏจักรการสะสมสินค้าคงคลังที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญประกอบกับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น

    โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัวต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แม้ช่วง 2 ไตรมาสแรกมีปัจจัยที่ทำให้การบริโภคชะลอลง เช่น ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีที่หมดไป ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น และการขยายตัวของการจ้างงานที่ต่ำกว่าที่คาด แต่ช่วงครึ่งปีหลังได้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนภาคธุรกิจขยายตัวดี รวมถึงภาวะการจ้างงานฟื้นตัวดีขึ้น

    ด้านเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยังคงพึ่งพาอุปสงค์นอกประเทศเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคค่อนข้างทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และการที่ภาคครัวเรือนเพิ่มการออมจากการที่ผลประโยชน์ตามแผนการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของทางการลดลง

    เศรษฐกิจญี่ปุ่น ปรับตัวดีขึ้นมาก ปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลังไม่ได้แข็งแกร่งมากเหมือนช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวในการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการปรับตัวของสินค้าคงคลังในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

    แม้ว่าญี่ปุ่นได้พยายามแก้ไขปัญหาภาคธุรกิจและสถาบันการเงินแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

    สำหรับเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียขยายตัวสูงจากหลายปัจจัย อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่สนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน
     
    ป้ายคำค้น :
    เศรษฐกิจโลก , 2547
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2547 เกิดมหันตภัยสึนามิจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย
    รายละเอียด :
    เกิดมหันตภัยสึนามิจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย

    วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย ด้วยระดับความแรง 9.0 ริกเตอร์ จากการยุบตัวของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรอินเดียส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิสูงราว 30 เมตรเข้าท่วมทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย

    ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ใน 14 ประเทศมากกว่า 230,000 คน นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ อินโดนีเซีย รองลงมาคือ ศรีลังกา อินเดียและไทย ตามลำดับ
     
    ป้ายคำค้น :
    สึนามิ , 2547
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2547 เกิดมหันตภัยสึนามิที่ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน
    รายละเอียด :
    เกิดมหันตภัยสึนามิที่ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน

    แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณด้านตะวันตกของหัวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นแผ่นดินไหวใต้ทะเล แรงสั่นสะเทือนทำให้พื้นที่บริเวณเกาะสุมาตราได้รับความเสียหาย
    สำหรับประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2548 ในรายงานของกระทรวงมหาดไทยที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2548 มีจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 5,309 คน ผู้สูญหาย 3,370 คน ต่อมาได้มีการรับแจ้งจากญาติพี่น้องของผู้ประสบภัยภายหลังการเกิดเหตุ จำนวนดังกล่าวนี้ลดลงเพราะได้พบผู้ที่รับแจ้งว่าสูญหายบางคนแล้ว

    นอกจากนี้ ยังมีความเสียหายด้านทรัพย์สิน ได้แก่ บ้านเรือนของประชาชน โรงแรม บังกะโล เกสต์เฮาส์ ร้านค้า ร้านอาหาร ทรัพย์สินส่วนตัวของนักท่องเที่ยว ยานพาหนะ ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน เป็นมูลค่ากว่าพันล้านบาท

    ส่วนความเสียหายด้านเศรษฐกิจนั้น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภูเก็ต พังงาและกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด มีแหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหายมาก อาทิ เกาะสิมิลัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา หาดราไวย์ หาดกะรน หาดกมลาและหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต รวมถึงเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในจังหวัดระนอง
     
    ป้ายคำค้น :
    สึนามิ , 2547
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2547 ผลประกอบการดีที่สุดนับจากก่อตั้งบริษัท
    รายละเอียด :
    ผลประกอบการดีที่สุดนับจากก่อตั้งบริษัท

    การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในปี 2547 ทำให้การดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ เช่น การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน การก่อการร้ายและสถานการณ์ไม่สงบทางภาคใต้ของไทย การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออก ฯลฯ

    อย่างไรก็ตาม ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานทุกส่วน ปี 2547 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สามารถทำผลการดำเนินงานประจำปีดีที่สุดนับจากก่อตั้งบริษัท

    รายได้ปี 2547 แยกตามธุรกิจประกอบด้วย ธุรกิจปิโตรเคมี 75,671 ล้านบาท ธุรกิจจัดจำหน่าย 68,923 ล้านบาท ธุรกิจกระดาษ 38,430 ล้านบาท ธุรกิจซิเมนต์ 37,024 ล้านบาท ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 20,725 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจอื่นๆ 707 ล้านบาท รวม 241,480 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 36,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และทุกกลุ่มธุรกิจมีผลประกอบการดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจปิโตรเคมีที่มีความต้องการและราคาของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

    สินทรัพย์รวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 เท่ากับ 265,682 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2546 กลุ่มธุรกิจที่มีสินทรัพย์รวมมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจซิเมนต์ และธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ตามลำดับ  
    ป้ายคำค้น :
    2547 , ผลการดำเนินงานประจำปี
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2547 การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ
    รายละเอียด :
    การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ

    จากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้ เอสซีจีได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างจริงจัง ทั้งการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน และการช่วยเหลือในระยะยาว

    การช่วยเหลือแบบเร่งด่วนนั้น เอสซีจีบริจาคเงิน 10 ล้านบาท แท็งค์น้ำขนาด 2,000 ลิตรจำนวน 100 ถัง ถุงยังชีพ สร้างโลงศพ 600 โลง บริจาคโลหิต และพนักงานบริจาคเงินช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าในระยะแรก 17 ล้านบาท

    การช่วยเหลือในระยะยาว ทำโดยจัดตั้งกองทุนเครือซิเมนต์ไทยฟื้นฟูผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ เป็นการรับบริจาคเงินโดยบริษัทต่าง ๆ ของเอสซีจี มูลนิธิเอสซีจี บริษัทร่วมทุน คู่ค้า ผู้แทนจำหน่ายและพนักงานของเอสซีจี

    มีความร่วมมือกับคณะกรรมการเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน สนับสนุนจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ให้สามารถประกอบอาชีพได้ โดยสนับสนุนทุนทรัพย์และมอบความรู้ให้ชาวบ้านนำไปใช้ซ่อมแซมเรืออย่างเร่งด่วน ให้สามารถประกอบอาชีพได้เร็วที่สุด รวมทั้งเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาการสร้างเรือระยะยาว และร่วมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

    กองทุนฟื้นฟูอาชีพได้จัดตั้งโครงการ “อู่ซ่อมสร้างเรือประมงประจำชุมชน” โครงการแรกขึ้นที่จังหวัดสตูล ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีพื้นที่ดำเนินการใน 6 จังหวัดที่ประสบภัย ซึ่งอยู่ในพื้นที่การคมนาคมลำบาก ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง โดยเบื้องต้นเอสซีจีได้สร้างอู่ซ่อมสร้างเรือประมงชุมชนไปไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง เนื่องจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีเรือได้รับความเสียหายต้องซ่อมแซมประมาณ 700 ลำ นอกจากนั้นเครื่องมือการประมงอื่นๆ เช่น กระชัง แห อวน ได้รับความเสียหายทั้งหมด ครอบคลุมพื้นที่ประสบภัย 31 หมู่บ้าน ในเขตจังหวัดสตูล พังงา กระบี่และตรัง  
    ป้ายคำค้น :
    สึนามิ , 2547 , การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2547 ยกเครื่องสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ (Innovation)
    รายละเอียด :
    ยกเครื่องสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ (Innovation)

    ภาพคุณชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ถือปืนเลเซอร์เหนี่ยวไกยิงปืนเปิดงาน Innovation: Change for Better Tomorrow ที่สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 เป็นสัญลักษณ์การตอกย้ำนโยบายมุ่งเน้นความเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม แสดงถึงการเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เตรียมพร้อมสู่การก้าวเป็นองค์กรชั้นนำในระดับภูมิภาค โดยมีผู้บริหารระดับสูงและพนักงานเข้าร่วมงาน

    ทั้งนี้ การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมเป็นนโยบายสำคัญ ถือเป็นก้าวใหม่สู่การเติบโตสู่ระดับสากลของเอสซีจี โดยให้ความสำคัญที่การกระตุ้นให้พนักงานใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน เปลี่ยนแปลง คิดใหม่และใฝ่รู้ คุณชุมพลกล่าวว่า “วันนี้ทุกคนต้องคิด ต้องทำและกล้าตัดสินใจ เพื่อที่จะพัฒนาเป็นวัฒนธรรมองค์กรยุคใหม่ที่จะนำเราไปสู่อนาคตได้” 

    สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นการมุ่งเน้นนโยบายดังกล่าว อาทิ การจัดกิจกรรม “SCG Power of Innovation Award” เป็นการแข่งขันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ระหว่างกลุ่มธุรกิจต่างๆของเอสซีจี โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งแรก ได้แก่ ทีม Pimai จากบริษัทเซรามิกอุตสาหกรรมไทย ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งคิดค้นและพัฒนากระเบื้องพิมายจนกลายเป็นสินค้าสร้างชื่อเสียงให้กับเอสซีจีในระดับโลก และสามารถส่งออกไปยังประเทศชั้นนำด้านแฟชั่น เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษและอิตาลี

    สำหรับกิจกรรมภายนอกองค์กร มีการสื่อสารให้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง โดยการนำเสนอภาพยนตร์โฆษณาชุด Drawing the Future ตามด้วยโฆษณาแยกตามธุรกิจ เช่น ชุด Infinite Possibilities ของธุรกิจปิโตรเคมี ชุด Idea on Paper ของธุรกิจกระดาษ

    ทั้งนี้ เอสซีจีได้ให้คำจำกัดความของนวัตกรรมว่า เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ กระบวนการทำงาน รูปแบบธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์ สิ่งใหม่เหล่านี้ เป็นไปได้ทั้งสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือเป็นสิ่งใหม่ต่อยอดจากการที่เคยทำมาแล้ว โดยใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และการจัดการมาผนวกกับการส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สัมฤทธิ์ผลและเป็นประโยชน์  
    ป้ายคำค้น :
    ชุมพล , ณ ลำเลียง , Innovation , วัฒนธรรมองค์กร , 2547 , องค์กรแห่งนวัตกรรม
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2547 ได้รับรางวัล Deming Prize เพิ่มอีก 3 บริษัท
    รายละเอียด :
    ได้รับรางวัล Deming Prize เพิ่มอีก 3 บริษัท

    เอสซีจีแสดงให้เห็นถึงการมุ่งเน้นระบบบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management : TQM) อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 ได้รับรางวัล Deming Application Prize จากสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรแห่งประเทศญี่ปุ่น เพิ่มอีก 3 บริษัท ได้แก่ บริษัทซีซีซี โพลิโอเลฟินส์ จำกัด, บริษัทสยาม มิตซุย พีทีเอ จำกัด และบริษัทเซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด
     
    ป้ายคำค้น :
    TQM , Total-Quality-Management , Deming-Prize , 2547
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2547 โครงการเพื่อสังคม : "Do it clean" Waste Management Program, Thailand Rescue Robot Championship, Badminton
    รายละเอียด :
    โครงการเพื่อสังคม : "Do it clean" Waste Management Program, Thailand Rescue Robot Championship, Badminton

    เอสซีจีกำหนดให้บริษัทในเครืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวทาง 3R อย่างจริงจัง ได้แก่
    Reduce – ลดการใช้ทรัพยากร
    Reuse & Recycle – นำของใช้แล้วหรือของเสียกลับมาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่
    Replenish – ฟื้นฟูหรือหาทางเลือกใหม่ที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

    จากนั้น มีการต่อยอดเป็นโครงการ “Do it clean” เพื่อสร้างจิตสำนึกและพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวทาง 3R ในชีวิตประจำวันให้กับพนักงานและประชาชนทั่วไป รวมทั้งจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารเพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว

    โครงการรูปธรรมที่เกิดขึ้นคือ การฟื้นฟูบึงโจด ซึ่งเคยเป็นแหล่งน้ำเสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นแหล่งน้ำสมบูรณ์และสวนสาธารณะของจังหวัดขอนแก่น และสร้างฝายชะลอน้ำที่จังหวัดลำปางเพื่ออนุรักษ์น้ำและดิน เป็นต้น

    ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ภายใต้มูลนิธิเอสซีจี โครงการส่วนใหญ่เน้นเยาวชนเป็นหลัก มีเป้าหมายหลักคือ การพัฒนาเยาวชนให้เติบโตเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมในอนาคต โครงการที่ทำอยู่เป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ โดยเฉพาะด้านการศึกษาและกีฬา

    ด้านการศึกษา มีการจัด SCG Science Camp เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ ตลอดจนมุมมองและแนวคิดใหม่ๆ ด้านวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนระดับมัธยมศึกษา จัดประกวดหุ่นยนต์กู้ภัย Thailand Rescue Robot Championship เป็นเวทีให้เยาวชนฝึกทักษะแนวความคิดแบบนอกกรอบอย่างเป็นรูปธรรม ได้ใช้ความรู้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมทั้งค้นหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในรายการระดับโลก World Robocup Rescue

    ด้านกีฬา เอสซีจีสนับสนุนกีฬาแบดมินตันครบวงจร โดยจัดเวทีประลองฝีมือตั้งแต่ระดับเยาวชน ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เริ่มจากการแข่งขันชิงชนะเลิศเยาวชนแห่งประเทศไทยเพื่อเฟ้นหาดาวรุ่ง และเป็นสปอนเซอร์หลักในการแข่งขัน Siam Cement All Thailand Badminton Championships เพื่อชิงอันดับมือนักแบดมินตันค้นหานักกีฬาช้างเผือกให้เป็นนักกีฬาทีมชาติ และเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันแบดมินตันกรังด์ปรีซ์โลก เครือซิเมนต์ไทย ไทยแลนด์ โอเพ่น เพื่อเก็บสะสมคะแนนจัดอันดับมือวางของโลก

    รวมทั้งดำเนินโครงการ Go for Gold เพื่อคัดเลือกนักแบดมินตันที่มีศักยภาพเข้าโครงการ มีการตั้งทีมดำเนินการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ ควบคู่กับการฝึกซ้อมเทคนิคและทักษะ สร้างเสริมประสบการณ์ พัฒนาฝีมือไม่หยุดยั้งด้วยการส่งแข่งขันในระดับโลก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านแบดมินตันในระดับสากล
     
    ป้ายคำค้น :
    2547 , 3R , โครงการเพื่อสังคม , Do-it-Clean