วัฒนธรรมองค์กร

  • ชื่อ
    พ.ศ. 2544 ปรับตัวเข้ากับโลกธุรกิจด้วยการสร้าง "วัฒนธรรมองค์กร" ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ
    รายละเอียด :
    เอสซีจีได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการปรับตัวเข้ากับธุรกิจ จากปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ ทุกธุรกิจมีการสร้าง “วัฒนธรรมองค์กร” ที่สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินธุรกิจซึ่งแตกต่างกัน ส่งผลทำให้เกิดความสำเร็จของธุรกิจ

    ธุรกิจซิเมนต์ นอกจากการเน้นสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุดเพื่อสนองความต้องการของตลาดดังที่เคยทำมาตลอด มีการสร้างวัฒนธรรมของการให้ความสำคัญเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน 

    ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์  ด้วยเป็นอุตสาหกรรมที่สังคมภายนอกตั้งคำถามเรื่องการสร้างมลภาวะและประเด็นเกี่ยวกับวัตถุดิบทรัพยากรธรรมชาติ เอสซีจีจึงเน้นการสร้างวัฒนธรรมทั้งเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม การเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดการทำงานอย่างโปร่งใส ตั้งอยู่บนเป้าหมายหลักที่ว่า อนาคตของอุตสาหกรรมต้องมีการพัฒนาวัตถุดิบที่ยั่งยืน และสามารถนำมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง  

    ธุรกิจปิโตรเคมี มีการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร ให้บุคลากรทุกระดับมีแนวคิดและแนวปฎิบัติเพื่อสนับสนุนองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคง และร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจัดโครงการ C-ChEPS (Constructionism Chemicals Engineering Practice School) ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมความรู้ด้านวิศวกรรมเคมี ที่เป็นหัวใจของธุรกิจให้กับพนักงานระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับผิดชอบงานที่ต้องการความรู้สูงขึ้นในอนาคต 

    ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ดำเนินโครงการ Culture Change เพื่อพัฒนาองค์กรให้คล่องตัวเหมาะสมกับสภาพการแข่งขัน นอกจากนั้นยังร่วมกับธุรกิจซิเมนต์และธุรกิจจัดจำหน่ายในเครือซิเมนต์ไทย ดำเนินโครงการ Integrated Supply and Demand Planning เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้บริการลูกค้า

    ธุรกิจเซรามิก มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ โดยกำหนดแนวทางพฤติกรรมสู่ความสำเร็จให้พนักงานปฎิบัติ อาทิ รู้จักปรับตัว พลังสดใส ใจเปิดกว้าง คล่องแคล่วว่องไวและใส่ใจบริการ เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจเซรามิกซึ่งเป็นสินค้าแฟชั่น ที่ต้องการความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

    ธุรกิจจัดจำหน่าย กำหนดวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างถูกต้องรวดเร็วและเสริมสร้างบรรยากาศให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทั้งรูปแบบของการสัมมนาและการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งพัฒนาเป็น Web Based Training ในเวลาต่อมา นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้พนักงานถ่ายทอดความรู้ในงาน โดยมีการบันทึกเรื่องที่มีแนวการปฎิบัติที่ดีไว้ เพื่อให้ความรู้เหล่านี้คงอยู่กับบริษัทตลอดไป 
     
    ป้ายคำค้น :
    2544 , ธุรกิจซิเมนต์ , ธุรกิจปิโตรเคมี , ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง , ธุรกิจเซรามิก , ธุรกิจจัดจำหน่าย , วัฒนธรรมองค์กร
  • ชื่อ
    พ.ศ. 2547 ยกเครื่องสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ (Innovation)
    รายละเอียด :
    ยกเครื่องสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ (Innovation)

    ภาพคุณชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ถือปืนเลเซอร์เหนี่ยวไกยิงปืนเปิดงาน Innovation: Change for Better Tomorrow ที่สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 เป็นสัญลักษณ์การตอกย้ำนโยบายมุ่งเน้นความเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม แสดงถึงการเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เตรียมพร้อมสู่การก้าวเป็นองค์กรชั้นนำในระดับภูมิภาค โดยมีผู้บริหารระดับสูงและพนักงานเข้าร่วมงาน

    ทั้งนี้ การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมเป็นนโยบายสำคัญ ถือเป็นก้าวใหม่สู่การเติบโตสู่ระดับสากลของเอสซีจี โดยให้ความสำคัญที่การกระตุ้นให้พนักงานใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน เปลี่ยนแปลง คิดใหม่และใฝ่รู้ คุณชุมพลกล่าวว่า “วันนี้ทุกคนต้องคิด ต้องทำและกล้าตัดสินใจ เพื่อที่จะพัฒนาเป็นวัฒนธรรมองค์กรยุคใหม่ที่จะนำเราไปสู่อนาคตได้” 

    สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นการมุ่งเน้นนโยบายดังกล่าว อาทิ การจัดกิจกรรม “SCG Power of Innovation Award” เป็นการแข่งขันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ระหว่างกลุ่มธุรกิจต่างๆของเอสซีจี โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งแรก ได้แก่ ทีม Pimai จากบริษัทเซรามิกอุตสาหกรรมไทย ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งคิดค้นและพัฒนากระเบื้องพิมายจนกลายเป็นสินค้าสร้างชื่อเสียงให้กับเอสซีจีในระดับโลก และสามารถส่งออกไปยังประเทศชั้นนำด้านแฟชั่น เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษและอิตาลี

    สำหรับกิจกรรมภายนอกองค์กร มีการสื่อสารให้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง โดยการนำเสนอภาพยนตร์โฆษณาชุด Drawing the Future ตามด้วยโฆษณาแยกตามธุรกิจ เช่น ชุด Infinite Possibilities ของธุรกิจปิโตรเคมี ชุด Idea on Paper ของธุรกิจกระดาษ

    ทั้งนี้ เอสซีจีได้ให้คำจำกัดความของนวัตกรรมว่า เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ กระบวนการทำงาน รูปแบบธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์ สิ่งใหม่เหล่านี้ เป็นไปได้ทั้งสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือเป็นสิ่งใหม่ต่อยอดจากการที่เคยทำมาแล้ว โดยใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และการจัดการมาผนวกกับการส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สัมฤทธิ์ผลและเป็นประโยชน์  
    ป้ายคำค้น :
    ชุมพล , ณ ลำเลียง , Innovation , วัฒนธรรมองค์กร , 2547 , องค์กรแห่งนวัตกรรม